เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งเปิดเดือนเมษาไป ตอนนี้กลางเดือนแล้ว เป็นกลางเดือนที่มีวันหยุดยาวที่สุดเทศกาลหนึ่งของไทย แถมยังเป็นวันหยุดหลังงานมหกรรมหนังสือด้วย บางคนอาจจะได้ใช้เวลานอนอ่านหนังสือที่ซื้อมา (ของปีก่อน) บ้างก็ไปท่องเที่ยว ใครที่ไม่ได้ไปไหนไม่ต้องเปล่าเปลี่ยว มาอ่านผลงานของเพื่อนๆ Makers ให้เพลินกัน
'หวยนักเขียนกับมาตรฐานที่ถูกแช่แข็งของนักเขียนหน้าใหม่' โดย 'Natchanon Mahaittidon'
มินิมอร์ชอบช่วงงานหนังสืออยู่ประการหนึ่ง ไม่ใช่เพราะว่าได้ช็อปหนังสือหรอกนะ! แต่เพราะว่าในช่วงระหว่าง-หลัง งานหนังสือ คนที่ทำงานในแวดวงนี้มักจะมีอะไรเบื้องหลังมาเล่าให้เราฟังเรื่อยๆ (แน่นอนว่าช่วงก่อนหนังสือแค่มีเวลานอนก็ดีแล้วจะให้เล่าอะไรหนักหนา!) คราวนี้เป็นเรื่องของหวย...และงานเขียน ไม่ใช่ first time เล่นหวยของลุงเนลสัน แต่หมายถึงสนพ. นักเขียน และการทำหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อขาย เราไม่รู้เลยว่ามันจะฮิตไหม มันจะดีไหม ทุกการลงทุนเป็นความเสี่ยง การเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์และบรรณาธิการทำให้เกิดข้อสงสัยอย่าง "นักเขียนที่เขียนงานสารคดีจริงจังหายไปไหน" ลองไปอ่านไอเดียของคุณ Natchanon Mahaittidon กัน (ชื่อคุ้นเนาะ) ใน 'หวยนักเขียนกับมาตรฐานที่ถูกแช่แข็งของนักเขียนหน้าใหม่'
‘ไปทำอะไรแถวๆ สนามหลวง’ โดย yuririi
นอกจากเป็นสถานที่จัดมีพระราชพิธีสำคัญ แหล่งต่อรถเมล์ใหญ่แห่งหนึ่งของกทม. ลานจอดรถนักท่องเทีย่วต่างชาติ(?)แล้ว แถวๆ สนามหลวงยังทำอะไรได้อีก คุณ yuririi พาเราไปทอดหุ่ยเดินชมบรรยากาศโดยรอบสนามหลวง ตั้งแต่วังหน้าเดิมหรือโรงละครแห่งชาติ เรื่อยมาจนถึงร้านอาหารอร่อยเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่เอาใจคอ ‘ชีส’ อย่างที่สุด มินิมอร์ขอชวนทุกคนลองไปเดินเล่นแถวสนามหลวงในช่วงวันหยุดยาวนี้กัน เพราะในปกติแล้วทุกปีจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาให้สรงน้ำกันกลางลานสนามหลวง ซึ่งกว่าจะเดินไปถึงองค์พระ เราก็สามารถเบิร์นทั้งไขมันและผิวหนังตัวเองไปได้หลายส่วนเลยทีเดียว นอกจากนี้ช่วงเย็นๆ ของฤดูร้อนยังมีคนมาเล่นว่าวกันที่นี่อีกนะ ใครที่ยังไม่เคยเห็นคนเล่นว่าวจริงๆ จังๆ สงกรานต์นี้เป็นโอกาสดีที่จะไปเที่ยวสนามหลวงกันแล้วล่ะ ไปอ่านเอาไอเดียการท่องเที่ยววันหยุดในกทม.แทนโล่งได้ใน ‘ไปทำอะไรแถวๆ สนามหลวง’ (3) โดย คุณ yuririi ได้เลย หมายเหตุ เป็นสนามหลวง original แต่เสนอเป็นตอนที่สาม ไม่งงนะ อยากอ่านตอนก่อนหน้ากดลูกศรซ้ายที่ท้ายบทได้เลย
‘บทเรียนจากลาว....ภาวะราคาชะงัก’ โดย Armmie Born TobeBrave
Makers นี้...มินิมอร์อ่านชื่อแล้วนึกว่าเป็นเอนทรี่ทางเศรษฐศาสตร์แบบจริงจัง ประเภทที่ว่ามีคำศัพท์ยากๆ เต็มไปหมด แต่เมื่ออ่านแล้ว เฮ้ย มันก็ยังเป็นเศรษฐศาสตร์อยู่ดี แต่เป็นระดับครัวเรือนนะ เราลองมาเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างเพียงแค่ข้ามแม่น้ำโขงกันหน่อยไหม คุณยิป เจ้าของ story นี้ ได้พาเราไปเที่ยวฝั่งประเทศลาว โดยที่ตัวคุณยิปเองฝึกภาษาลาวมาจากโทรทัศน์และหนังสือต่างๆ (เก่งมากเลย) แม้ภาษาลาว...จะหมายถึงภาษาที่ใช้ในฝั่งลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ทุกที่ล้วนมีสำเนียงของตัวเอง และมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พอพูดไปปั๊บระบุได้เลยว่าคนนี้มาจากไทย เช่นการพูดแล้วลงท้ายด้วยคำว่า ‘ครับ ค่ะ จ้า’ แล้วมันเกี่ยวกับภาวะราคาชะงักอย่างไร... จินตภาพถึงช่วงต่อปากต่อคำต่อราคาของ เทยเที่ยวไทยเอาไว้ แล้วตามคุณยิปไปอ่านใน ‘บทเรียนจากลาว....ภาวะราคาชะงัก’ โดย Armmie Born TobeBrave
‘นักเขียนทั้งห้า’ โดย 'Nungning Sisata'
มินิมอร์ชอบอ่านเรื่องราวของงานหนังสือจริงๆ นะ และนี่เป็นอีกเรื่องที่อยากเสนอ บันทึกของบรรณาธิการแห่ง bunbooks พูดถึงนักเขียนทั้งห้าที่ได้ร่วมงานกันในมหกรรมหนังสือปีนี้ คือ ‘วิกกี้ — Vickaay’, MAMO — มะโม, น้ำส้ม, พาย—ภาริอร วัชรศิริ และ ‘เจนมานะ—แม็กซ์’ ซึ่งมีทั้งเพื่อนใหม่และคนที่เคยทำงานด้วยกันมาแล้ว ใน Post นี้ (ซึ่งมีตอนที่ 2) ไม่ใช่แค่บอกว่าใครทำอะไร แต่คุณหนุงหนิงได้เล่าถึงกระบวนการและสไตล์การทำงาน ซึ่งนักเขียนแต่ละคนก็มีสไตล์งานต่างออกไป แต่จุดร่วมคือต้องทำให้เสร็จก่อนงานหนังสือ! (เป็น fact อันปฏิเสธไม่ได้) บางคนก็ทำงานราบรื่นเสียเหลือเกิน แต่บางรายก็มีเหตุขัดข้องให้ต้องแก้ปัญหา แต่ทั้งนักเขียนและกองบรรณาธิการ ก็พาให้หนังสือทั้งห้าเล่มออกมาสู่สายตาผู้อ่านได้ ไปอ่านเรื่องราวของ ‘นักเขียนทั้งห้า ’ โดย Nungning Sisata กัน
'oppa โพฮัง style!' โดย 'ffcc4d'
การพบเจอกันของคนสองคนนั้นล้วนแต่มีเหตุผล บางทีเห็นหน้าก็ถูกชะตา แทบจะลากคอกันไปดื่มเหล้าตั้งแต่แรก กับบางคนด้วยความแตกต่างหลายอย่างทำให้แรกพบไม่ชวนให้รู้สึกอยากสนิทสนมนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความน่าสนใจในตัวคนๆ หนึ่งก็ทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดมาได้ อย่างคุณ ffcc4d ที่ได้รู้จักกับ 'โอป้า' ที่แปลว่าพี่ชาย(ของน้องสาว)ในภาษาเกาหลี คำๆ นี้แม้จะถูกเรียกกันบ่อยครั้ง แต่ในความหมายลึกๆ นั้นอาจจะหมายถึงพี่ชายจริงๆ พี่ชายที่เป็นแฟนอายุมากกว่า หรือกระทั่งสามีก็เรียกคำนี้ได้นะ! แต่โอป้าที่พำนักอยู่โซลคนนี้นั้นมีอะไรที่น่าสนใจ เขาไม่ได้ชอบธุรกิจบันเทิงของประเทศตัวเอง แต่ข้ามฟากไปชอบ AKB48 จากญี่ปุ่นเสียนี่! ไปทำความรู้จักพี่ชายที่อายุแก่กว่า 7 ปี และบอกว่ากรุงเทพฯ นั้นเป็นพาราไดส์ใน 'oppa โพฮัง style!'
‘On Weather VS Productivity’ โดย ‘Teepagorn W.’
“อากาศร้อนๆ งานไม่เดินเลย” เป็นคำรำพึง ก่นด่า หรือสิ่งที่เราอนุมานว่ามันต้องเกี่ยวข้องกันโดยปราศจากความสงสัย เพราะต้องการหาคนผิดอยู่แล้ว แต่รู้ไหมว่าต่างประเทศเขาทำวิจัยเรื่องผลกระทบของอากาศที่มีต่อมนุษย์จริงๆ ซึ่งเราอาจจะคิดว่าอากาศร้อนในประเทศเขตอบอุ่น มีผลในเชิงบวก ทำให้คนสดชื่นอยากออกไปทำงาน ส่วนอากาศเย็นนั้นมีผลในเชิงลบ เพราะหนาวจนไม่เป็นทำอะไร ทว่าคุณแชมป์ได้หยิบยกเอางานวิจัยของ Harvard และงานศึกษาของ Atlantic มาเล่า และพบว่าอากาศหนาวมากๆ กลับทำให้มี productivity มากขึ้น! เพราะหนาวจนไม่สามารถไปทำกิจกรรมอื่นกลางแจ้งได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่นทางเศรษฐกิจอีกนะ ลองตามไปอ่านกันได้ที่ ‘On Weather VS Productivity’ โดย ‘Teepagorn W.’ ได้เลย
‘เป็นเพื่อนกับรัสเซียนั้นไม่ง่าย’ โดย ‘Damansky’
มินิมอร์และเพื่อนบางคนอาจจะยังมีภาพจำของ ‘รัสเซีย’ ในใจ ติดค้างจากสมัยยุคสงครามเย็น ประเทศที่ลึกลับ การดำเนินการที่น่ากลัว และอะไรอีกมากที่คนยากจะเข้าใจได้ เพื่อทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรรัสเซียถึงมีภาพจำเช่นนั้น ความเป็นเพื่อนในทัศนคติของคนรัสเซียเป็นอย่างไร แล้วคนรัสเซียเขาดื่มวอดก้าเท่านั้นรึเปล่า ไปอ่าน สารานุกรมฉบับย่อของรัสเซีย โดย ‘Damansky’ กัน ตอนนี้ชื่อว่า ‘เป็นเพื่อนกับรัสเซียนั้นไม่ง่าย’ (แต่มินิมอร์ว่า Maker นี้อ่านแล้วเข้าใจไม่ยากนะ!)
'Organic Rice Farmer' เมื่อผมหนีเมืองไปอยู่นา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น… โดย ‘Songpol Wuttikaisriarkom’
ในยุคก่อนคนไทยก็กินข้าว ชาวนาปลูกข้าว ในยุคนี้คนไทยก็กินข้าว แล้วชานาก็ยังปลูกข้าว แต่ว่าหลายอย่างเปลี่ยนไป.... จากแรกเริ่มเดิมทีเราปลูกข้าวกันตามฟ้าฝน ด้วยปริมาณคนและระบบอุตสาหกรรมเราต้องการข้าวมากขึ้นเพื่อส่งออก ทำให้ชาวนาต้องใช้สารเคมีกับสิ่งที่เราต้องกิน เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต แล้วสารเคมีก็ส่งผลกระทบ ก่อนที่จะมาถึงคนกินอย่างมินิมอร์และเพื่อนๆ คุณ ‘Songpol Wuttikaisriarkom’ เล่าว่าชาวนาที่เขาได้ไปใช้ชีวิตด้วยนั้น มีปัญหาร่างกาย สุขภาพ จากการใช้สารเคมี กระทั่งได้เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ย ยา และสิ่งต่างๆ ที่ผลิตจากธรรมชาติ ไม่เพียงจะได้ข้าวดีราคาสูงขึ้น คุณภาพชีวิตชาวนาก็ดีตามกันไป แล้วเพราะอะไร ทำไม หาเฉลยได้ที่ ‘ Organic Rice Farmer' เมื่อผมหนีเมืองไปอยู่นา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น…’
‘อาชีพเสริมของสายสุ(นั)ข’ โดย ‘Immie Borwornwiwat’
คนรักสัตว์นั้นมีอยู่ทั่วไป ในออฟฟิศมินิมอร์เองก็มีทั้งคนที่รักสุนัขและแมว รวมถึงสัตว์อื่นๆ การแสดงออกของคนรักสัตว์นั้นเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นความเอื้ออารีที่มีให้กับเพื่อนร่วมโลก หรือการดูแลเขาทางกายภาพ พาไปวัคซีน หาหมอ แต่เราอย่าลืมว่าพฤติกรรมของคนรักสัตว์นั้นไม่เหมือนกันในทุกคน บางครั้งความห่วงใย ให้อาหารอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องรวมถึงการดูแลจัดการประชากรแบบยั่งยืนด้วย คุณ ‘Immie Borwornwiwat’ มาเล่าให้เราฟัง เกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นอาสาช่วเยหลือสุนัข ทั้งที่ยังเรียนไม่จบ ตามอ่านได้ใน ‘อาชีพเสริมของสายสุ(นั)ข’
01: จุดเริ่มต้นของซีรีส์ญี่ปุ่นกับการค้นหาละครในแบบตัวเอง โดย ChaMaNow
เรื่องนี้มินิมอร์ภูมิใจเสนออย่างยิ่ง เพราะเป็น Originals ใหม่ล่าสุดของทางเรา นำเสนอเรื่องราวที่ผูกพันกับคนเจนวายซึ่งโตมากับโทรทัศน์ช่องไอทีวีที่นำซีรีส์ญี่ปุ่น มาฉายต่อเนื่อง *ดอกจันไว้ว่ามินิมอร์ไม่เคยพลาดเรื่องที่คิมูระ ทาคุยะแสดง* ซีรีส์ญี่ปุ่นสามารถครองใจคนไทยได้จนทุกวันนี้ แม้จะมีกระแสละครชาติอื่นเข้ามา แต่ความโดดเด่นของซีรีส์ญี่ปุ่นก็ยังชัดเจน และยากที่จะมีใครทำเลียนแบบได้ กว่าเขาจะสร้างอัตลักษณ์ในละครได้นั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซีรีส์ที่พูดถึงความฝัน ความหวัง และอาชีพต่างๆ ของคน...เพราะอะไรถึงต้องพูดถึงเรื่องนี้ ลองฟังที่คุณ ChamaNow เล่าใน ’01: จุดเริ่มต้นของซีรีส์ญี่ปุ่นกับการค้นหาละครในแบบตัวเอง’ กัน และตอนต่อไปมีทุกวันอังคารล่ะ