เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ชีวิต | LIFESongpol Wuttikaisriarkom
'Organic Rice Farmer' เมื่อผมหนีเมืองไปอยู่นา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น…
  • ถ้าเลือกได้ระหว่าง ฟังเสียงรถ กับ ฟังเสียงนก เราๆ ท่านๆ อยากฟังเสียงไหนมากกว่ากันครับ?

    ผมก็เป็นมนุษย์เงินเดือนคนนึงครับสู้ชีวิต ทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ผมทำงานมาหลายปีแล้วครับได้เงินเดือนผมก็ส่งเงินกลับให้ที่บ้าน แรกๆ ก็สนุกงานท้าทาย แต่พอนานเข้างานที่รักกลายเป็นงานที่ทนทำไป ทุกๆ วันมีแต่รูทีนที่น่าเบื่อ จะทำอะไรก็เหมือนมันจะไม่ใช่ จริงๆ ผมคงเบื่อชีวิตวุ่นๆ แบบนี้แล้ว อยากออกไปใช้ชีวิตเงียบๆ แบบว่าอยู่กับตัวเอง ค่อยๆ โฟกัสกับชีวิต ผมเลยตัดสินใจลองไปปลูกข้าวดูครับ

    ใช่ครับ ‘ปลูกข้าว’ เป็นชาวนานั่นแหละ อย่าเพิ่งด่าผมว่าเป็นคนดัดจริต ฮิปสเตอร์ สโลว์ไลฟ์อะไรนะครับ ถ้าพูดกันตรงๆ นี่คือการก้าวออกมาจากเซฟโซนของผมเลย ผมต้องขอบคุณเพื่อนของผมครับที่แนะนำให้ไปช่วยมันปลูกข้าว และช่วงที่ผมไปมีกองถ่ายมาถ่ายทำเกี่ยวกับนาข้าวอินทรีย์ของเพื่อนผมพอดีครับ 

    ผมเลยได้มีโอกาสติดตามกองถ่ายไปเรียนรู้เรื่องทำนาข้าวอินทรีย์ เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่และได้เจอกับอะไรที่คาดไม่ถึงทำให้มุมมองต่อชีวิตของผมเปลี่ยนไปครับ

    เราไม่เคยรู้เลยว่า ข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวกล้องที่เราทานกัน มาจากไหน? แล้วดีกับสุขภาพยังไง? แล้วทำไมเราต้องสนใจคำว่า “อินทรีย์”? ส่วนตัวผมไม่เคยสนใจอะไรพวกนี้เลย แค่ขอเป็นข้าวหอมมะลิร้อนๆ ก็พอ จนกระทั่งผมมาที่นี่ ทำให้ผมรู้ว่าข้าวอินทรีย์เป็นข้าวที่ปลูกยากที่สุด เพราะมีวิธีการปลูกและดูแลอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมีดีต่อร่างกาย ต่างจากนาอื่นๆ ที่พอหว่านกล้าแล้วก็ใส่ปุ๋ยเคมี หรือใส่ยาฆ่าหญ้าหลังไถกลบก็ตาม จนกระทั่งข้าวเปลือกถึงโรงสีก็ยังใช้สารเคมีเพื่อรมมอดด้วย แต่ใครจะรู้ครับว่า นาอินทรีย์ในประเทศไทยมีแค่ 10% ของพื้นที่นาทั้งหมดเองครับ ผมโชคดีที่นาของเพื่อนผมเป็นนาอินทรีย์ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ทุกคนได้รู้ถึงนาอินทรีย์ในแบบที่ผมได้สัมผัสมา ให้ทุกคนได้รู้กันแบบหมดเปลือกเลยครับ

    นาอินทรีย์มีข้อดีอยู่ครับ นอกจากจะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหมดในทุกขั้นตอนการปลูกยังได้ระบบนิเวศน์สู่นา จะเห็นว่ามีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่เต็มไปหมด แต่ข้อเสียก็คือสามารถปลูกได้ปีละครั้ง และต้องรอฟ้ารอฝนเพื่อให้มีผลผลิต (ถ้าหน้าแล้งก็ลำบากครับ) แถมต้องใส่ใจประคบประหงมยิ่งกว่าลูกเสียอีก

    อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วนาของเพื่อนผมเป็นนาอินทรีย์ เป็นนาปลอดสารเคมี 100% เห็นได้จากระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มากๆ มี กุ้ง หอย ปู ปลา นก ตั๊กแตน และแมลงปอ ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากมากในปัจจุบัน

    ทุกขั้นตอนของการปลูกข้าวเป็นไปแบบออร์แกนิคสุดๆ ชาวนาจะตั้งใจพิถีพิถันใส่ใจกันเป็นพิเศษจากน้ำพักน้ำแรงของชาวนาเองทั้งหมด เหมือนเป็นงานแฮนด์เมดเริ่มตั้งแต่ปลูกเองจนถึงการเก็บผลผลิตเอง นอกจากปลูกข้าวพวกเค้ายังปลูกผัก ผลไม้ บางครอบครัวมีเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาเอาไว้ทานเองและขายสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย ถ้ายังมีเหลือก็แบ่งกับคนอื่นในหมู่บ้านได้สบายๆ เลย การใช้ชีวิตเกษตรอินทรีย์เป็นแบบช้าแต่ชัวร์ สามารถสร้างรายได้หลายทางแบบมีความสุข แบบไม่ต้องเสียเงินซื้อ ใครในบ้านอยากกินอะไรก็ปลูก กินเท่าที่มี มีเท่าที (อยาก) กิน เจ๋งสุดๆ

    ตั้งแต่ผมมาอยู่ที่นี่ทำให้ผมมองเห็นความสุขที่เรียบง่าย และความใส่ใจในรายละเอียดแต่ละขั้นตอนของกระบวนการปลูกหลายๆ อย่าง เริ่มจาก...

    Chapter 1: ไถกลบตบดินให้เนียน

    ถ้าไม่เตรียมการมันไม่ง่ายเลยที่จะเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างให้ดีได้ เพราะรากฐานที่แข็งแกร่งของทุกสิ่งล้วนมาจากก้าวแรกที่มั่นคงทั้งนั้น เหมือนกับการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ด้วยการไถกลบตอซังหรือฟางข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปรับระดับของพื้นดินให้เรียบเสมอกันที่สุด เพราะระดับน้ำจะได้ทั่วกัน หากไม่เสมอเมล็ดข้าวที่นำมาปลูกอาจจะงอกงามได้ไม่เต็มที่

    ในแปลงทั่วไปเราสามารถไถดะเพื่อกลบหญ้าเล็กๆ ที่ขึ้นมาใหม่ หรือไถแปรตามระยะเวลาที่เหมาะสมได้ ส่วนแปลงเพาะกล้าควรจะไถให้ดินร่วนๆ และใช้แปลงที่ติดกับห้วยหรือแหล่งน้ำจะดีกว่า สิ่งที่ห้ามลืมสำหรับใครที่อยากทำนาอินทรีย์ 100% ควรทำแนวกัน (Buffer Zone) ป้องกันสารเคมีปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียงโดยมีขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร ในปัจจุบันข้าวอินทรีย์มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดมาจากภาคอีสาน เพราะข้าวจะมีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะนาข้าวอินทรีย์ที่ จ. อำนาจเจริญ

    Chapter 2: ลงปุ๋ยลุยปลูกกล้า

    แม้ว่าบางอย่างอาจไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่ถ้าใช้ให้ถูกที่มันมักมีค่ามหาศาลเสมอ ไม่ต่างจาก ‘ดินจอมปลวก’ ‘ดินกอไผ่’ ‘ดินรากข้าว’ ‘รำอ่อน’ และ ‘น้ำนมเปรี้ยว’ 5 วัตถุดิบชื่อไม่คุ้นเหล่านี้นำมาเป็นส่วนผสมทำปุ๋ยก้อนเบญจคุณไร้สารเคมี 100% ได้ ปุ๋ยเบญจคุณมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในนาข้าว โดยชาวนาจะพิถีพิถันนำปุ๋ยเบญจคุณ 7 ก้อน ผสมกับน้ำ 100 ลิตรในอัตราที่พอเหมาะ เพื่อใช้ฉีดพ่นต้นกล้าในนาอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีแบบนี้เรียกว่า ชีวิตดี้ดีย์

    หรือเราจะทำน้ำหมัก เพื่อบำรุงต้นข้าว ชาวนาอินทรีย์ก็จะใช้หน่อกล้วย ยอดผักบุ้ง และหน่อไม้ โดยเลือกยอดที่ดีๆ สวยๆ มาทำสูตรเร่งต้นให้โตแข็งแรง หรือใครอยากได้ผลผลิตดีๆ ก็ใช้ฟักทอง กล้วยมะละกอ ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 ของผลไม้ 3 ชนิดนี้ ผสมกับน้ำตาล 1 ส่วน และน้ำเปล่า 10 ส่วน หมักให้เข้าที่ เพื่อเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในนา ต้นข้าวจะแข็งแรง ไม่มีโรค ซึ่งของเหล่านี้ไม่มีราคาสามารถหาได้ แต่เราจะรู้จักใช้มันแค่ไหนนั่นอีกเรื่อง และนี่ก็เป็นภูมิปัญญาบ้านๆ ของชาวนาอินทรีย์กับความพอเพียงที่รู้จักใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    Chapter 3: นอนนาดูกล้าเติบโต

    ช่วงนี้ต้องอาศัยความใส่ใจเท่านั้นในการดูแลต้นกล้าที่เราตั้งใจปลูก ค่อยๆ ปักดำต้นกล้าทีละต้นลงไปเองกับมือของเรา เว้นระยะให้เป็นแถวสวยงามตรงนี้คนในครอบครัวจะมาช่วยกันปักดำนาของบ้านตัวเอง เรียกว่า สามัคคีกันในครอบครัวผลัดวนกัน นาบ้านนั้นบ้านนี้บ้าง น่ารักดีครับ ลูกหลานบางคนที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็กลับมาช่วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากปักดำเสร็จก็จะทานอาหารที่ทำจากวัตถุดิบในท้องนา หอย มดแดง ปูปลาอะไรก็เอา ปรุงอาหารทานกันตอนกลางวัน เป็นภาพที่หาได้ยากมากที่กรุงเทพฯ ครับ

    หลังจากนั้นก็ถึงเวลานอนเฝ้าข้าว ชาวนาที่นี่จะออกมาเฝ้าข้าวกันทุกวัน เพื่อระวังไม่ให้ระดับน้ำท่วมกล้าจนเกินไป ซึ่งต่างจากนาประเภทอื่นที่ไม่ต้องใส่ใจมาก แค่ใส่ปุ๋ยแล้วก็รอข้าวโตจนเก็บเกี่ยวเป็นอันเสร็จ แต่นาอินทรีย์นี่เป็นงานคราฟท์มากครับ นอกจากนอนเฝ้าข้าวแล้วยังต้องคอยถอนวัชพืชด้วยมือ ย้ำ! ถอนด้วยมือทีละต้น ทีละต้น เพื่อให้ข้าวงอกงามได้เต็มที่ที่สุด ผมเห็นแล้วบอกตัวเองเลยครับจะไม่ทานข้าวเหลือเด็ดขาด

    Chapter 4: ออกรวงสีพลับพลึงถึงเวลาเกี่ยวข้าว

    กว่าข้าวจะออกรวงสีเหลืองพลับพลึงก็กินเวลานานหลายเดือน หลายคนอาจรู้สึกว่าช้าจัง เพราะผมเป็นคนชอบทำอะไรเร็วๆ ไม่ชอบการรอคอย แต่คนที่นี่ทำให้ผมเห็นว่าแค่เราลองใจเย็นๆ ปล่อยใจให้สบาย ลองสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอดสัก 2 - 3 เฮือก เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเร่งรีบ มันช่วยให้เราผ่อนคลายได้มากขึ้น

    และเมื่อนาข้าวสุกเป็นสีพลับพลึง เราก็จะชื่นชมความงามกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี รวงข้าวโน้มอ่อนสวยจะแตกต่างกันไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ และน้ำของแต่ละพื้นที่ แม้ว่าตอนแรกต้นกล้าจะชอบน้ำ ชอบความชุ่มชื่น แต่พอต้นข้าวออกรวง รวงข้าวกลับชอบความแห้งที่ไม่ชื้นมาก เพราะทำให้ข้าวยิ่งหอมมากขึ้น เพราะฉะนั้นข้าวหอมมะลิที่หอม อร่อย นุ่มที่สุด มักจะมาจากภาคอีสานของบ้านเราโดยเฉพาะที่ จ.อำนาจเจริญ ถือเป็นแหล่งข้าวอินทรีย์ที่ดีที่สุดเลย ชาวนาคอนเฟิร์ม ผมชอบภาพรวงข้าวที่สวยจะโน้มตัวของมันลง เพื่อโค้งขอบคุณพื้นดิน เมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดจะเอิบอิ่มเต็มเปลือก สีของข้าวจะเป็นสีเหลืองพลับพลึงหมดทั้งนา เพื่อบอกให้รู้ว่า ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สร้างกันมากับมือแล้ว เป็นภาพที่สวยงามมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา

    Chapter 5: ฟาดข้าวคัดที่สุดเมล็ดพันธุ์

    หลังจากเกี่ยวข้าวกันเสร็จแล้ว แต่ละครอบครัวจะเอาข้าวมารวมกันตรงกลาง และเริ่ม ‘ฟาดข้าว’ หรือ การนวดข้าว หรือ การตีข้าว จะอะไรก็แล้วแต่ แค่เรานำรวงข้าวที่เกี่ยวแล้วมากองรวมไว้ พร้อมใช้ไม้ติดปลายเชือกรวบตึงรวงข้าวทั้งหมด ยกสูงขึ้นเหนือหัวฟาดลงกระทบกับท่อนไม้ หรือม้ารองนวดข้าว เพื่อให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวง ซึ่งนาอินทรีย์จะยังใช้แรงงานคนช่วยกันนวดข้าวอยู่ต่างคนต่างสลับกันฟาดข้าว เอ้า 1 2 3 ลุย!

    ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเพียบพร้อม แค่รวบรวมสมาธิโฟกัสฟาดข้าวจากพลังกายที่มี เราฟาดข้าวเพียง 10 ครั้ง เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ที่สุดก็จะร่วงหล่นลงมา จากนั้นก็คัดแยกตามความสมบูรณ์ของข้าวเปลือกได้เลย ตอนนี้มันทำให้ผมเชื่อเลยว่า ชาวนาเขาแกร่งทั้งแรงกายและแรงใจจริงๆ มันก็ไม่ต่างกับเรา หากตั้งใจจะทำอะไรแล้ว...ก็ควรทำให้สุด

    Chapter 6: เปลี่ยนข้าวเปลือกเป็นข้าวสวย

    หลังเก็บเกี่ยวโรงสีข้าวส่วนใหญ่จะสีข้าวเก็บไว้ทันทีเป็นจำนวนมาก เพราะมีออเดอร์เยอะ มิฉะนั้นจะไม่ทันส่ง แต่ข้อเสียก็คือเมื่อสต็อกไว้นาน มอดก็จะขึ้นข้าว ก็จะใช้สารเคมีรมมอด แต่โรงสีข้าวอินทรีย์จะเก็บข้าวเปลือกเป็นสต๊อก และค่อยสีข้าวตามออเดอร์ 2 - 3 วันก่อนส่งเท่านั้น ไม่สีก่อน เพื่อป้องกันมอดตามธรรมชาติ ไม่ต่างจากคำไทยที่ว่า ‘ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม’ เพื่อให้ได้ข้าวที่สดใหม่ที่สุดเต็มไปด้วยประโยชน์

    โดยข้าวกล้องจะเป็นข้าวที่ถูกกะเทาะเปลือก ไม่มีการขัดสีเลย ส่วนข้าวซ้อมมือจะเป็นข้าวที่มีการขัดสีเพียงเล็กน้อย เพื่อให้สารอาหารยังอยู่ครบถ้วน ซึ่งข้าวแต่ละชนิดก็มีคุณค่าทางสารอาหารที่หลากหลาย เช่น 'ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 อินทรีย์'  ที่มีสรรพคุณมากมาย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ 'ข้าวกล้องหอมมะลิแดงอินทรีย์'  ที่ป้องกันโรคเบาหวาน 'ข้าวกล้องหอมนิลอินทรีย์'  ที่ช่วยบำรุงผิว มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ 'ข้าวซ้อมมือหอมมะลิแดงอินทรีย์'  ที่ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น

    การขายข้าวของนาอินทรีย์อาจจะไม่ได้เงินมากมายเท่ากับเงินเดือนบริษัท แต่ที่ผมเห็นชัดเจนเลยก็คือ สุขภาพที่แข็งแรงของชาวนา ไม่มีโรคเรื้อรังจากการใช้สารเคมี ไม่ต้องกินยาเพื่อทุเลาอาการเจ็บ สีหน้าของทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้ม กินอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์พร้อมหน้าทั้งครอบครัว ลูกหลานกลับบ้านมาช่วยงานกัน แถมไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวซื้อของหรือค่ากับข้าว มีเงินเก็บ จนผมรู้สึกได้ว่าตอนนี้ชาวนาอินทรีย์มีชีวิตที่ดีจนอดอิจฉาไม่ได้เลย

    ชาวนาภูมิใจมากนะครับ ที่พวกเขาปลูกข้าวอินทรีย์ให้พวกเราได้มีข้าวดีๆ ทานกัน ชาวนาอิ่มใจทุกครั้งที่เห็นเรากินข้าว เพราะเขาได้เสิร์ฟของดีที่สุดที่พวกเขาตั้งใจดูแล ทะนุถนอมให้แก่ผู้บริโภค ได้เห็นทุกคนแข็งแรง และมีรอยยิ้มทุกครั้งที่ทานข้าว ตั้งแต่ผมมาอยู่ที่นี่ ผมทานข้าวหมดทุกครั้ง และรู้สึกขอบคุณชาวนาทุกคนที่คิดถึงและห่วงใยพวกเรา เหมือนเราเป็นลูก เป็นหลาน เป็นคนในครอบครัวของพวกเขา

    การหนีออกจาก Comfort Zone ของผมในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นโลกกว้างขึ้นมากมาย มองเห็นชีวิตเรียบง่ายในแบบที่เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็น 'ความสุข' มากกว่า ชาวนาที่นี่ใช้ชีวิตเรียบง่ายมาก แต่เต็มไปด้วยความสุข มีของดีกินแบบไม่ต้องกลัวหมด มีน้ำใจแบ่งให้คนอื่น แถมมีสุขภาพดีมากต่างจากแต่ก่อนที่บางบ้านใช้สารเคมี จนมีแผลเรื้อรังไม่หาย ทั้งเล็บมือเล็บเท้ายังบอกความแตกต่างของการใช้ยาเคมีอย่างเห็นได้ชัด แต่พอเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทุกคนก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวโรค หรือต้องฝืนททำทั้งที่ร่างกายไม่ไหว บางทีเราอาจไม่ต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาอะไรที่มากมาย แค่มีพอดีๆ พอเพียงกับชีวิตที่เรียบง่าย ผมว่า "ความสุขบางครั้งไม่ได้อยู่ที่จำนวน​เงิน แต่เป็นความสุขที่เราพอใจกับที่เรามีอยู่ และดูแลสิ่งที่รักให้ดีที่สุด เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นๆ ต่างหาก”

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in