Makers
Store
Log in
You don't have any notification yet.
See All
My Wallet
null
Library
Settings
Logout
เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว
เพื่อใช้บริการเว็บไซต์
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ
see more—leste
–
Natchanon Mahaittidon
หวยนักเขียนกับมาตรฐานที่ถูกแช่แข็งของนักเขียนหน้าใหม่
ความสนุกหนึ่งในงานหนังสือของสำนักพิมพ์ก็คือเหมือนได้แทงหวย
เพราะหนังสือแต่ละล็อตนั้นประกอบไปด้วยนักเขียนที่ลักษณะแตกต่างกันไป ไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นยังไง แต่แซลมอนเป็นยังงี้ คือในสัดส่วนจะมีนักเขียนที่เป็น “หน้าเก่า” คือเคยมีผลงานออกมาแล้ว เป็นที่รู้จัก ออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดและย้ำชื่อให้คนอ่านได้จดจำได้ รวมถึงนักเขียนที่ออกมาแล้วมีคนซื้อแน่นอนเพราะมีฐานแฟนอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง กลุ่มแรกนี้จะมีสัก 60% ของล็อต ส่วนอีกสัก 20% หรือราว 1-2 คนที่เป็น “หน้าใหม่” คือยังไม่มีใครรู้จัก อาจมีชื่อเสียงอยู่บ้างแต่ก็คนละแวดวง ซึ่งนี่แหละคือเลขท้ายของเรา
เป็นเลขท้ายที่เรามีเพียงความมั่นใจไม่กี่อย่าง คือลางสังหรณ์และความฝัน
ระหว่างที่รอวันที่ 1 หรือ 16 ในที่นี้อาจเป็นวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เราใจตุ้มต่อม บิดหมุนปกดูไปมา อ่านเนื้อหาซ้ำหลายรอบ นั่งนอนคิดว่าโปรยปกแบบไหนถึงจะดี สไตล์ของปกแบบนี้จะตรงใจคนอ่านไหม เซอร์ไปหรือเปล่า ซ้ำกับใครบ้างมั้ย ถอนหายใจเฮือกใหญ่นับครั้งไม่ถ้วนเพราะเมื่อส่งโรงพิมพ์ไปแล้วก็ต้องรอเพียงวันเฉลย—วันหวยออก—เท่านั้น
การเป็นหน้าใหม่เหมือนหวยหลายอย่าง
อย่างหนึ่งก็แน่นอน—เมื่อถูกหวย หนังสือของเขาจะฮิต ขายได้หลักร้อยหลักพันเล่มภายในไม่กี่วัน อาจเหยียบหมื่นหลังจากนั้นไม่นาน เขาจะได้ออกสื่อน้อยใหญ่ ไปอยู่ในหัวจิตหัวใจของคน อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งที่ผู้อ่านจำนวนหนึ่งอาจได้เขาเป็นไอดอล เริ่มลงมือเขียนหนังสือหรือวางแผนจะออกไปตามสถานที่ที่เขาเคยไป ออกจากบ้านเพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจเพื่อเอามาต่อยอดชีวิตของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และสอง—เราจะได้ว่าที่ “หน้าเก่า” ที่วางใจได้ น้อยหน่อยเขาจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะผลิตผลงานที่ตัวเองรักและถนัดออกมาสู่สายตาคนอื่นอีกชิ้นต่อชิ้น มากหน่อยคนอื่นก็จะวางใจในตัวเขา เพื่อให้เขาไปส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มันน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างให้แก่ผู้อ่านคนอื่น—ซึ่งอาจจะเป็นว่าที่นักเขียนหน้าใหม่—หวยเบอร์ใหม่ของเราก็ได้ใครจะรู้
ในช่วง 2-3 ปี เราถูกหวยบ่อยพอสมควร รวมถึงครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าดีใจอยู่หรอก แต่ยอมรับกันตามตรงว่าเราก็ใจหวิวทุกครั้งที่พบว่าเมื่องานหนังสือครั้งต่อไปกำลังจะมาถึง เราเองก็ต้องเริ่มขูดต้นไม้หาเลขใหม่กันเป็นการด่วน การทำหนังสือไม่มีสูตรสำเร็จ ต่อให้เราจะปากดีกันอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าอยากจะทำหนังสือแล้วรวยก็ไปทำเรื่องผีเรื่องดวงเรื่องรวยเรื่องเซ็กซ์ แต่เราก็เห็นว่าหนังสือแนวนั้นออกมาแล้วเงียบและเจ๊งก็มีอยู่ไม่น้อย เราถึงพูดกันตรงนี้เลยว่ามันคือดวง ยิ่งอินเทอร์เน็ตทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยคลื่นแห่งความนู่นนี่เยอะแยะไปหมด มันพัดซ้าย พัดขวา โหมมาทุกทิศทุกทางจนกลายเป็นผิวน้ำที่ยากจะเดา และมันก็เป็นไปได้ที่บางจุดจะจม และบางจุดจะลอย ขอโทษ เราไม่เก่งคำนวณ ดวงทั้งนั้น!
การเป็นหน้าใหม่นั้นสำคัญน่าดู เพราะเมื่อเขียนมาแล้วประสบความสำเร็จ มีเซฟโซนที่มั่นใจว่ายืนอยู่ได้ ตามประสามนุษย์แล้วก็ไม่อยากจะออกจากโซฟาอุ่นๆ กันหรอก บางคนนั่งจนโซฟาผุพังสปริงหลุดแล้วก็ยังฝืนนั่งอยู่ยังงั้นไม่ไปไหน นี่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อแล้วส่งผลให้เขา/เธอไม่กล้าผลิตอะไรใหม่เพราะไม่มีความมั่นใจ—และคนอื่นก็ไม่ค่อยมั่นใจจะให้ออกมาด้วยซ้ำ
หลายวันก่อนคุยกับเพื่อนซึ่งเพื่อนก็ไปคุยกับรุ่นพี่กลุ่มหนึ่งว่า นักเขียนที่เขียนงานแนวสารคดีหรืองานที่จริงจังนั้นหายไปไหนหมด ทำไมถึงต่างจากนักเขียนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ทำงานด้วยความเข้มข้นชัดเจน ความคิดหนักแน่นมีจุดยืน สมัยนี้ทำไมจึงมีแต่นักเขียนที่งานเบาหวิวและมีแค่การย่อยคอนเทนต์แบบแม่นกคายหนอน จะบอกว่ามันไร้ศิลปะก็ไม่ผิด เราเองเห็นด้วยอยู่บ้าง ไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นเอาเข้าจริงคงจะต้องพิมพ์กันยาวและต้องตกตะกอนกว่านี้ จึงเอาเฉพาะที่เห็นด้วยก่อนดีกว่า ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับสเตตัสนี้ที่สุดนั่นคือหวยนักเขียน
ในฐานะสำนักพิมพ์ เมื่อตลาดรับแล้วว่านักเขียนของเรานั้นมี “แบรนด์” หนังสือเล่มแรกของเขานั้นพอไปไหวคือขายได้ มีคนซื้อเยอะจนคุ้มค่าแก่ค่าพิมพ์ เลี้ยงดูตัวเขาเองได้และเลี้ยงสำนักพิมพ์ได้
ไม่ใช่แค่นักเขียนหรอกที่จะอยากนั่งอยู่บนโซฟานุ่มๆ อุ่นๆ นั้นนานๆ เจ้าสำนักพิมพ์เองนี่แหละตัวดี!
โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่เอาแต่พิมพ์หนังสือวัยรุ่นที่ยืนอยู่บนคติพจน์ว่าจะคุยกับผู้อ่านเหมือน “เพื่อน” (ในที่นี้เป็นสำนักพิมพ์ตัวย่อซ.ม.แล้วกัน) นี่ยิ่งเป็นกรอบที่กล้าจะพานักเขียนซึ่งทำอย่างนั้นสำเร็จออกมาได้ยาก เพราะเอาเข้าจริงสัก 80% ได้ไหมที่กลุ่มเพื่อนจะมีแต่เรื่องเม้าท์ คุยกันสัพเพเหระแต่ว่าสนุก ทำให้กลับบ้านได้อย่างอมยิ้ม ตลกโปกฮากันไปอย่างไร้สาระแต่เพลิดเพลิน เหมือนช่วงวัยมัธยมหรือมหาวิทยาลัยที่แม้มันจะติ๊งต๊องแต่ก็คิดถึงอยู่เสมอ การที่จู่ๆ เพื่อนเราจะเครียดขึ้นมา จริงจังและเปี่ยมไปด้วยสาระทันทีมันก็ดูแบบแว่...เหยยย เมิง ผิดบุคลิกไปป่าาา ไม่สบายหรือเปล่า จนสุดท้ายก็อาจจะลงมติกันว่าปล่อยให้มันอยู่คนเดียวสงบจิตใจไปก่อนก็แล้วกัน—ในแง่คนอ่านเขาจะคิดยังงี้ครับ “กูไม่เชื่อที่มึงพูด คนที่เอาแต่ประชดหรือหลอกด่าคนอื่นอย่างมึงนี่นะจะมาพูดเรื่องนี้แล้วน่าเชื่อถือ ไปพูดเรื่องเดิมเลย กลับมาเป็นคนตลกอย่างที่พวกเราต้องการ” อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดหรอกที่คิดยังงี้ แต่เอาเข้าจริง มีแค่คนหรือสองคนก็ขนลุกแล้ว
ไม่ใช่ว่าไม่เคยเจอนะครับ เราจะพบว่ามีนักเขียนหลายคนที่พยายามจะก้าวข้ามผ่าน “แบรนด์ตลก” ของตัวเองให้มาเป็นงานเขียนที่นุ่มลึกและ “มีสาระ” ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้ ไม่ใช่แค่เรื่อง “ตลก—มีสาระ” นะครับ แต่แค่การข้าม “แนวเรื่อง” ที่พูดนี่ก็ยากนักหนาแล้ว สำหรับนักเขียนนี่แหละที่เป็นกำแพงที่ยากกว่าการออกหนังสือเล่มแรกให้ถูกรางวัลเลขท้ายเสียอีก! (ยกเว้นก็กับนักเขียนบางคนน่ะนะ) (หรือกับอีกบางคนที่ทำได้แต่ก็ต้องรื้อตัวเองใหม่จนแทบเรียกว่าทิ้งอดีตโยนลงถังขยะไปเลย)
นั่นคือที่มาของคำตอบ “นักเขียนเหล่านั้นหายไปไหนหมด” เพราะพวกเขา “ไม่มีพื้นที่” เนื่องจากสำนักพิมพ์เองก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยงออกหนังสือแนวใหม่ที่คนอ่านไม่คุ้นเคย ไม่อยากเปลี่ยนแนวไปเพราะกลัวจะเสียกลุ่มผู้อ่านที่เป็นลูกค้าเก่า (คิดให้ดราม่าเข้าไปอีกก็คือกลัวผู้เขียนจะเสียเวลาเพราะถ้ามันแป้กขึ้นมาเขาจะเสียเวลาชีวิต ขาดความมั่นใจ และอาจเป็นงานที่ทำร้ายจิตใจเขาไปอีกแสนนาน—โธ่ ใจแคบเสียจริงไอ้บ้า ถ้าเกิดมันสำเร็จขึ้นมาเล่า? อะไรก็เกิดขึ้นได้บนทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นอินเทอร์เน็ตยังงี้) ส่วนนักเขียนใหม่ สำนักพิมพ์ก็จะหาจุดขายที่ดู “ใกล้เคียง” กับสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จมา จะว่าไปมันก็ดูมีสูตรสำเร็จของการผลิตนักเขียนใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน เสียตรงที่มันกลายเป็นการผลิตซ้ำอยู่ยังงั้น
กลับมาเรื่องพื้นที่—ถ้าจะบอกว่า “ก็บนเฟซบุ๊กไง อิสระมากมายก็ทดลองตลาดไปสิ” ก็จริงอยู่ แต่สุดท้ายก็ต้องมาพิจารณาถึง “ความจริงจัง” ของมูลค่าผลงานและ “การยอมรับ” กันหน่อย
เราปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าการจับจ่ายด้วยเงินจริงๆ มันมีมิติมากมายเหลือเกิน ทั้งเรื่องความเชื่อใจ วางใจ และ “การซื้อ” ในตัวตนและความคิด ซึ่งนี่เองที่อาจเป็นจุดสำคัญของความแตกต่างระหว่างสิ่งพิมพ์กับออนไลน์ โดยเฉพาะในประเทศไทย เมืองที่หนังสือยังเป็นตัวแทนแห่งความรู้และปัญญา สำหรับคนอ่าน (โดยเฉพาะคนอ่านที่เป็นวัยรุ่นและวัยแสวงหา) การซื้อหนังสือของใครสักคนก็คล้ายกับการให้เวลาชีวิตที่หวงแหนของตัวเองไปอยู่กับนักเขียนคนนั้น การอ่านหนังสือจนจบจรดหน้าสุดท้ายนอกจากเป็นความภูมิใจระดับเดียวกับที่วิ่งได้ตรงตามเป้าหมายที่ตัวเองกำหนด เขาพอใจนับถือตัวเองที่ได้ใช้เวลากับมัน บางเล่มที่สนุกถูกใจก็เป็นสุข บางเล่มที่พบว่าห่วยก็คงเปรียบได้ว่าเขาอกหักจากความเชื่อใจนั้นก็คงไม่ผิด นี่เองที่หนังสือไม่เหมือนกับเฟซบุ๊ก (ในความคิดส่วนตัวนะครับ) และนี่เองที่ทำให้นักเขียนที่ “ออกหนังสือ” แล้วมันดันฮิตปุ๊บ หนังสือเล่มนั้นจะเป็นจุดที่ตัวตนเขาถูกจดจำมากกว่าบนอินเทอร์เน็ต เพราะสังคมมันให้ค่ากับหนังสือมากกว่านั่นเอง (ส่วนเรื่อง “ความสนใจ” นี่คงต้องยกให้อินเทอร์เน็ต)
การพยายามที่จะทำตามและการพยายามที่จะเพลย์เซฟของสำนักพิมพ์และนักเขียนจากตลาดที่ประสบความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานเขียนของนักเขียนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่นั้นไม่พัฒนา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขา “ฟอร์ม” ตัวเองไม่สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที ทั้งทีี่ความสนใจและ “ของ” ของพวกเขานั้นถูกอัดอยู่ข้างในจนแทบจะระเบิด
ยาวเกินไปแล้ว สรุปได้ว่าพวกสำนักพิมพ์เป็นพวกติดหวย ต่อให้ถูกครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อถึงคราวก็ต้องแทงอยู่ยังงั้นเหมือนต้องคำสาป
และคราวหน้า เราอาจจะต้องเล่นหวยเบอร์ใหญ่กว่าที่เคยเล่น
ขอเวลาขูดต้นไม้ก่อน
Natchanon Mahaittidon
Report
Views
see more—leste
–
Natchanon Mahaittidon
View Story
subscribe
Comments
()
Facebook
(
0
)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in
ยืนยันการซื้อ ?
เหรียญที่มีตอนนี้: null
มีเหรียญไม่พอซื้อแล้ว เติมเหรียญกันหน่อย
เหรียญที่มีตอนนี้ : null
Please Wait ...
ซื้อเหรียญเรียบร้อย
เลือกแพ็คเกจเติมเหรียญ
เลือกวิธีการชำระเงิน
Credit Card
Cash @Counter
Line Pay
ระบบจะนำคุณไปสู่หน้าจ่ายเงินของผู้ให้บริการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in