เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
LUNCH: อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป
  • รื่องสั้นโดย...ณิชา เวชพานิช ผลงานลำดับที่  13  ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ" 
    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่


    ฉันรู้สึกมวนท้อง อาการตื่นเต้นจนท้องไส้ปั่นป่วนเมื่อชั่วโมงก่อนยังไม่คลายตัวดี ความรู้สึกอย่างนี้มาเยือนทุกครั้งเวลาต้องพูดในที่สาธารณะต่อหน้าคนจำนวนมากเป็นเรื่อยมาตั้งแต่สมัยประถมตอนต้องเล่าหน้าห้องว่าปิดเทอมที่ผ่านมาทำอะไรจวบจนกระทั่งตอนนำเสนอต่อหน้าผู้ฟังสัมมนานับร้อยคนวันนี้

    แต่ฉันก็ทำสำเร็จไปแล้ว!

    เชียร์ตัวเองในใจเสร็จ ฉันเดินหาที่นั่งในห้องอาหารของโรงแรมเพื่อทานอาหารกลางวันเลือกนั่งที่โต๊ะกลมตัวหนึ่งที่มีเพื่อนร่วมโต๊ะเป็นผู้ร่วมสัมมนาชาวนอร์เวย์และคนปากีสถานงานสัมมนาเรื่องความยั่งยืนครั้งนี้มีองค์การสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นแขกเหรื่อที่มาจึงเป็นผู้มีบทบาทในด้านการพัฒนาความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆจากหลากหลายประเทศ แต่ละคนต่างเป็นตัวแทนประเทศมานำเสนอผลงาน ฉันเองก็เป็นตัวแทนประเทศไทย

    Hi! I love your presentation about local food”

    สาวปากีสถานเริ่มบทสนทนาอย่างเป็นมิตร เธอบอกว่าประเทศเธอเองก็มีอาหารท้องถิ่นหลายสไตล์เช่นกันหัวข้อที่ฉันนำเสนอคืออัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวยั่งยืนซึ่งเป็นหัวข้อธีสิสสมัยเรียนป.โทสังคมวิทยาฉันเพิ่งเรียนจบเมื่อเดือนก่อนและกำลังวางแผนจะยื่นขอทุนทำวิจัยต่อที่ยูฯ เดิม

    บริกรนำสลัดมาเสิร์ฟ โรงแรมจัดเตรียมเมนูสุดพิเศษสำหรับงานสัมมนานี้โดยเฉพาะเพราะขึ้นชื่อว่าองค์กร “นานาชาติ” โรงแรมเลยนึกสนุกจัดเซ็ตอาหารตั้งตามชื่อทูตยูเอ็นคนสำคัญแต่ละเซ็ตประกอบด้วยอาหารฟูลคอร์สนานาชาติที่เรียงรายมาแบบเซอไพรต์ฉันเลือกเซ็ตเอมม่า วัตสัน แอบรู้สึกแปลกใจเมื่อออเดิร์ฟที่มาถึงจานแรกไม่ใช่สลัดสไตล์บ้านอังกฤษแต่เป็นสลัดแขกราดซอสรสจัด

    ผักพื้นบ้านหน้าตาไม่คุ้น แม้แต่สาวปากีสถานเองก็ไม่รู้จักฉันบรรจงเคี้ยวผักแปลกหน้านี้พลางใจลอยกลับไปในอดีต ห้าปีก่อนก็ได้เจออะไรคล้ายแบบนี้ได้ลองกินผักหน้าตาคล้ายเฟิร์นในหมู่บ้านเล็กๆ

     

    “อันนี้เรียกว่าผักกูด”

    พ่อมอเซรับจานผักสดจากลูกสาวมาตั้งไว้กลางวงวงอาหารของเราตั้งอยู่บนพื้นไม้กระดาน นอกจากผักกูดที่มีก้านเรียวและปลายม้วนคล้ายเฟิร์นแล้วยังมีต้มเผือกไข่เจียว ยำปลากระป๋อง และที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำพริกกะเหรี่ยง

    นอกจากนี้ยังมี

    “กินเป็นยา จะได้ร้อนๆ ท้อง ช่วยย่อย ฮ่าฮ่าฮ่า”

    ขวดเหล้าดองในมือของพ่อชาวกะเหรี่ยงแห่งหมู่บ้านแห่งหนึ่งกลางผืนป่าตะวันตกในขวดขุ่นมีสมุนไพรคล้ายฝางสีแดง พ่อรินยาดองใส่ในแก้วใบจิ๋วแล้วส่งให้รุ่นพี่ผู้ชายของฉันพี่ยิ้มแหยรับมาอย่างเกรงใจ พ่อมอเซคะยั้นคะยอจนกระทั่งเขาตั้งสินใจยกขึ้นกระดกทำเสียงซู่ซ่าจนคนให้หัวเราะลั่นอย่างได้ใจ รินเพิ่มใหม่จนปริ่มแก้วแล้วส่งวนรอบวง

    แก้ววนมาถึงฉัน ฉันยกกระดกรวดเดียว รู้สึกถึงความร้อนที่วาบขึ้นกลางลำคอและถัดมาที่ท้อง

    กับข้าวของชาวบ้านอร่อยมาก มันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความจัดจ้าน ฉันกับเพื่อนนักศึกษาอีกห้าคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อยข้าวสวยที่เจ้าบ้านตักให้แขกจนพูนจานค่อยๆ พร่องลงนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ลิ้มรสน้ำพริกกะเหรี่ยงฝีมือชาวกะเหรี่ยงจริงๆและแม้แต่ไข่เจียวและยำปลากระป๋องที่เรานำวัตถุดิบมาฝาก “โฮสแฟมิลี่”ของเราเป็นคำขอบคุณที่ให้พวกเราค้างคืนที่บ้านสองคืนนี้ก็ยังอร่อยกว่าธรรมดา เรากินไปคุยแลกเปลี่ยนกับพ่อไป ส่วนใหญ่บทสนทนาจะเป็นการสอนคำกะเหรี่ยงรอบตัว เช่น คำว่า “มะโอซ่า” หมายถึงส้มโอและ “ซามียอ” แปลว่าแมว

    “แม่กับน้องไม่กินด้วยกันหรอ”

    ฉันถามหญิงชาวกะเหรี่ยงกับเด็กผู้หญิงผมสั้นทั้งสองแค่ส่งยิ้มกลับแล้วบอกว่าเดี๋ยวทานกันเองทีหลัง ฉันรู้สึกเกรงใจ แต่ไม่รู้จะทำยังไงมันอาจจะดูไม่เท่าเทียมในสายตาพวกเราที่ผู้ชายกะเหรี่ยงถือว่าใหญ่กว่าผู้หญิงแต่นี้ก็เป็นวัฒนธรรมของชุมชนเขา

    แม่ชวนเราไปเก็บผักกูดด้วยกันตอนเย็นส่วนผู้ชายอีกสองคน พ่อจะพาไปจับปลาที่ห้วยหลังบ้าน พวกเราตกปากรับคำทันที

    กินมื้อเที่ยงอิ่มแล้วก็ถึงเวลาเตรียมมื้อเย็น


    สลัดแขกหมดลงตอนที่เรากำลังคุยถึงเรื่องโปรเจคการเพาะพันธุ์ปลาของเพื่อนนอร์เวย์ มันน่าสนุกดีที่คำว่า “ความยั่งยืน” เป็นคำที่กว้างมาก อาจไม่ได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหากยังรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนด้วยเช่นกันอย่างงานของสาวปากีสถานก็เป็นโปรเจคสร้างการตระหนักรู้เรื่องโรคทางจิตเวชซึ่งกำลังเป็นกระแสใหม่มาแรงที่นั้นหรือแม้แต่งานของฉันซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างของงานของทั้งสอง คือ เป็นเรื่องของอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นที่ชาวบ้านหาวัตถุดิบจากธรรมชาติหากผลักดันวัฒนธรรมการกินอันมีสเน่ห์นี้ให้ทัดเทียมอาหารไทยที่ทั่วโลกรู้จักอย่างผัดไทหรือต้มยำกุ้งได้จะเจ๋งไปเลย

    เรื่องกินเรื่องใหญ่สมที่เขาว่ากัน ในส่วนบทนำของธีสิสฉันจึงเริ่มด้วยว่า เช่นเดียวกับการถามว่า How are you? ในภาษาอังกฤษชาวไทยมักถามว่า “กินข้าวหรือยัง” เป็นคำทักทายถามสารทุกข์สุขดิบ…” และหลังจากพาสำรวจอัตลักษณ์ของอาหารท้องถิ่นแล้วบทส่วนหลังจึงเล่าเกี่ยวกับพื้นที่ในวงอาหารที่ยังเป็นโอกาสพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิด

    และแล้วเมนคอร์สก็มาเสิร์ฟเพื่อนจากยุโรปเหนือหัวเราะ มันคือเมนูบ้านเขาเอง ปลาแซลมอนนึ่งราดซอสครีมเสิร์ฟคู่พร้อมกับเลมอนหันเป็นแว่นไว้บีบราดบนปลาดับรสคาวฉันถือโอกาสนี้เล่าให้เพื่อนต่างชาติฟันถึงวิถีไทยๆ ในการดับคาวปลา


    “หั่นขมิ้นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน แล้วเอาไปคลุกกับพริกแกงแล้วก็ปลาช่วยดับกลิ่นคาวได้”

    คุณน้าในชุดผ้าคลุมฮิญาบสั่งเรา ก่อนจะหั่นไปวุ่นวายกับการควักไส้ปลามือข้างขวาจับมีดกรีดท้องปลาและจัดการแงะเครื่องในออกมาอย่างรวดเร็ว ส่วนจ๊ะอีกคนก็จัดการคว้าปลาจากกะละมังขึ้นขอดเกร็ดอย่างคล่องแคล่ว

    ครัวประจำชุมชนอิสลามนี้มีเครื่องครัวครบครันแถวยังขนาดใหญ่ไว้รองรับคนจำนวนมาก เพราะคนในชุมชนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์รับพาทัวร์ชมป่าชายเลน เพราะเหตุนี้ฉันจึงตัดสินใจเลือกทำค่ายที่หมู่บ้านนี้เพื่อให้เพื่อนนักศึกษามาเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติทั้งที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง พี่ๆ บังและจ๊ะ (พี่ชายกับพี่สาวในภาษามลายู)ก็ถามว่ากินข้าวเที่ยงมาหรือยังแล้วพาเราเข้าครัว จ๊ะทำกับข้าวสองสามอย่างหนึ่งในนั้นคือปลาทอดขมิ้น

    ปลาทอดสีเหลืองอร่าม ขมิ้นไล่กลิ่นคาวปลาแถมยังช่วยป้ายสีเหลืองสดใสให้เมนูยิ่งน่ากิน หลังจากทำเสร็จ เราตั้งสำรับกับข้าว ข้าวสวยปลาทอดขมิ้น และต้มยำปลา แต่จ๊ะกับบังกลับไม่มาร่วมทานด้วย สำรับกับข้าวนี้มีไว้สำหรับแขกอย่างพวกเราเท่านั้น

    “ช่วงนี้บวชอยู่” บังโหรนให้เหตุผล เขาหมายถึงการถือศีลอดช่วงรอมฏอน

    แม้จะเป็นคนนอกวงอาหาร แต่ไม่ได้อยู่นอกวงสนทนาบังโหรนนั่งคุยกับพวกเราอยู่ข้างๆ พอตกบ่ายก็พาพายเรือออกไปดูป่าชายเลนชายวัยสี่สิบรอบรู้และเล่าได้มากมายไม่มีท่าหมดแรง ทั้งที่ไม่มีข้าวและน้ำตกลงกระเพาะตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจากนั้นบังดีนและบังม่อม พี่ชาวบ้านอีกสองคนจึงพาเราไปเหวี่ยงแห เดาได้ไม่ยากว่าปลาที่ได้วันนี้จะมาปรากฎในวงอาหารเย็นแน่นอน

    พระอาทิตย์สาดแสงสีแส้มแสด เคลื่อนตัวลับขอบฟ้าบอกว่าใกล้ถึงเวลามื้อสำคัญที่จะได้ทานด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา


    “คุณคิดว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คนสักคนหนึ่งอยากทำงานเพื่อสังคม”

               เพื่อนชาวนอร์เวย์ถามพวกเราทั้งสองตอนทานของหวานไม่ได้ระบุเจาะจงใครเป็นพิเศษ และเชื่อว่าเขาเองก็คงจะถามคำถามนี้กับตัวเองด้วยเหมือนกัน

               ฉันควานหาคำตอบระหว่างคนถ้วยของหวาน สิ่งที่ตลกก็คือของหวานประจำเมนูเซ็ตเอ็มม่าวัตสันคือทับทิมกรอบ แป้งห่อมันแกวสีสดใสเสมือนเม็ดทับทิบลอยบนผิวน้ำกะทิ ทานกับน้ำแข็งให้ความรู้สึกสดชื่นโรงแรมในสหรัฐฯ นี้ทำอาหารนานาชาติได้ไม่เลวเลยทีเดียว สาวปากีสถานและหนุ่มนอร์เวย์ดูสนใจกับของหวานนี้มากจนฉันเผลอหลุดปากไปโดยสัญชาติญาณว่าวันใดถ้าใครมาเมืองไทยฉันจะพาไปกินเจ้าเด็ดใกล้บ้าน ฉันตอบไปโดยลืมไปว่าตนไม่มีแผนจะกลับไทยเร็วๆ นี้

               “ฉันคิดว่าเราต่างมีจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่บันดาลใจนะ อย่างการไปสัมผัสกับประสบการณ์นั้นโดยตรง” สาวปากีสถานว่า

               ฉันหยักหน้าเห็นด้วยแล้วถือโอกาสแทรกความคิดเห็นของตน “แล้วพอคนเราตัดสินใจจะทำแล้วอีกสิ่งที่สำคัญมากคือการสนับสนุนจากคนใกล้ตัว งานแนวนี้มันกระทบกับชีวิตส่วนตัวเยอะทั้งเรื่องเวลา รายได้ ความปลอดภัย อย่างเคสฉันที่ต้องเดินทางเก็บข้อมูลทั่วประเทศฉันต้องขอบคุณแม่ของฉันเลย”

    เสียงประกาศจากสตาฟจัดงานว่าถึงเวลากิจกรรมภาคบ่ายพวกเรารีบจบมื้อเที่ยงของพวกเราให้เสร็จและเข้าห้องสัมมนา ตอนท้ายงานมีการประกาศรางวัลผลงานที่นำเสนอฉันอดแปลกใจไม่ได้เมื่อได้ยินประกาศว่างานวิจัยเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นของฉันได้รับรางวัล

    ก้าวขาสั่นเทาขึ้นเวทีอีกครั้ง พิธีกรขอให้ฉันกล่าวอะไรก็ได้สั้นๆฉันจึงกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยให้ฉันมาถึงจุดนี้ ทั้งงานวิจัยชิ้นนี้และผู้จัดทำอย่างฉันยังต้องเรียนรู้อีกมากแล้วพลันตระหนักได้ทันใดนั้นว่างานของตนนั้นยังขาดอีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญ

    งานของฉันพูดเรื่องอาหารและคนทาน ไม่ว่าจะเป็นแขกหรือเจ้าบ้าน

    แต่แล้วเจ้าบ้านที่เป็น "คนนอกวง" ที่มีตัวตนเล่า

    บางที...อาจจะถึงเวลากลับไทยไปเก็บข้อมูลและรีไรท์แล้ว

    - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - 



    กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นนี้

    ขอบคุณแรงบันดาลใจจากครอบครัวคุณพ่อมอเซ ณ หมู่บ้านกุยต๊ะ อ.อุ้มผาง จ.ตาก
    แรงบันดาลใจจากบังและจ๊ะทุกคน ณ หมู่บ้านท่าดินแดง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

    ขอบคุณภาพจากตากล้องประจำค่ายและอินเตอร์เน็ต

    ความท้าทายสำหรับงานนี้คือหาทางนำเสนออาหารสไตล์ชาวบ้านยังไงผ่านสายตาของนักศึกษาที่ไปค่าย นำเสนออย่างไรนอกจากการบรรยายเสมือนจริงและไม่ได้ให้แต่อารมณ์โรแมนติค

    ขอบคุณอาหาร คนในวงอาหาร และคนบางคนที่อยู่นอกวงอาหาร แต่คอยให้ความสนับสนุนอยู่เสมอ

    แก้ว ณิชา
    ----------------------------------------

    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย 

    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช

    วัตถุดิบ
    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “อาหารมื้อกลางวัน” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “เราต่างพูดว่าไม่เป็นไร” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “ดอกไม้ของใบหญ้า” ของ รักษิตา
    - คำว่า “บางที” ในคลังคำ ของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา

    -----------------------------------------

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 

    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุณฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น  “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย

    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 


    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร 
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์ 


    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย

    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in