เรื่องสั้นโดย... กัลยรัตน์ ธันยดุล ผลงานลำดับที่ 11 ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"
คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่
*ผู้หญิงที่ทำอาชีพโสเภณีนี่เขาคิดอะไรอยู่หรือ
สาเหตุที่ตั้งกระทู้นี้มาจาก ดิฉันเดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย และได้รู้ว่าต่างชาติเขามองว่าประเทศเราเป็นแหล่งค้าประเวณีอย่างกว้างขวางแค่ไหน
ฟังดังนั้นแล้ว คนส่วนใหญ่เกิดอาการรับไม่ได้ โกรธแค้นที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งค้าโสเพณี ทว่าหากไม่มีมูล หมามันคงไม่ขี้ ต้องยอมรับกับหลักฐานที่ประจักษ์ให้เห็นตามท้องสนามหลวงแลสถานที่อโคจรต่างๆ ว่าอาชีพโสเพณีมีเกลื่อนประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศแปดเปื้อนเท่านั้น หากยังทำให้ชาวต่างชาติมองแบบเหมารวมว่า ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่เป็นกระหรี่ไปเสียหมด
ดิฉันมั่นใจว่าไม่มีใครอยากถูก Stereotype แบบนั้น แต่เพราะผู้หญิงกลุ่มนี้ คนที่เหลือจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ดิฉันจึงใคร่อยากรู้ ว่าสาเหตุอันใด ทำไมผู้หญิงพวกนี้จึงได้ไร้ยางอายอย่างสิ้นเชิง พวกหล่อนคิดอะไร ถึงได้เลือกทำอาชีพแสนน่ารังเกียจพันธุ์นี้
ศักดิ์ศรีหายไปที่ใดเสีย?
มือเท้ามีเท่ากัน ทำไมจึงไม่หาอาชีพสุจริตทำ ?
คนที่ทำอาชีพนี้ พื้นเพเขามาจากไหนกัน แลญาติพี่น้องของเขาไม่อายแทนกันหรือ?
ทั้งที่เป็นอาชีพผิดกฎหมายแท้ๆ ยังมีเยอะมากจนเป็นที่เลี่ยงลือ
แล้วอย่างไร ประเทศไทยจะแก้ปัญหา Prostitution Image นี้ได้?
เด็กหญิง ดอกแก้ว วัยแปดขวบหารู้ไม่ว่าตนนั้นเป็นเด็กหญิงที่โชคดีเพียงใดขณะที่กำลังนั่งมองผู้เป็นยายบรรจงปั้นแป้งให้เป็นลูกกลมสำหรับของหวานแสนเลิศรสในวันนี้
“แม่แก้ว ลองทำตามยายซี” ผู้เป็นยายบอกอย่างใจดีขณะที่ดอกแก้วนั่งนิ่ง มองมือทั้งสองข้างของยายตาไม่กระพริบ
“ของหนูรูปทรงพิลึกเหลือเกินค่ะ ขนาดก็ไม่พอดี ดูไม่น่ากิน หนูดูคุณยายทำดีอยู่แล้วค่ะ” เด็กหญิงตอบเจี๊ยวจ๊าว ทำเอาผู้ใหญ่หลุดยิ้มอย่างเอ็นดู
“ตอนยายอายุเท่าแม่แก้ว บัวลอยของยายก็ขี้ริ้วขี้เหร่ หากอาศัยการฝึกฝน ไม่กลัวผิด ถึงจะดูไม่น่ากินในช่วงแรก รสชาติมันก็อร่อยไม่ต่าง แต่ในครั้งต่อๆ ไป แม่แก้วจะทำได้สวยขึ้นด้วย”
“ค่ะ คุณยาย” ดอกแก้วยิ้มรับคำสอนของคุณยาย มือเล็กทั้งสองข้างเริ่มจิกเนื้อแป้งดิบขึ้นมาบรรจงปั้น
บัวลอยน้ำกะทิเนื้อมะพร้าวอ่อนหน้าตาสวยงามด้วยแป้งเนื้อกลมหลากสีลอยอยู่ในน้ำกะทิขาวข้น โรยด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อนฝานบาง แสดงถึงทุกขั้นตอนที่วิจิตบรรจง ใส่ใจ และเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้ผลตอบรับที่น่าพึงพอใจจากคนในครอบครัว และแขกเหรื่อที่จะมีโอกาสได้ริ้มรสชาติ เพื่อเป็นเกียรติ เป็นชื่อเสียงส่งต่อกันและจะแสดงให้รู้กันต่อไปว่าบ้านนี้มีวิถีจริงจังและตั้งใจแม้จะเป็นแค่ส่วนของอาหาร
ไม่ต่างกันนัก กับดอกแก้วที่เกิดมาในครอบครัวที่มีการศึกษา มารดาของดอกแก้วทำงานเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศ ส่วนบิดาเป็นครูบาอาจารย์มีเกียรติ มีคนนับหน้าถือตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของดอกแก้วจึงได้รับการคัดสรรอย่างใส่ใจมาอย่างดี ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการแต่งกายยันเรื่องใหญ่โตอย่างการศึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ ฝึกฝนทักษะต่างๆ ดอกแก้วในวัยเด็ก จึงเปรียบได้ดั่งกระดาษขาวที่เติบโตขึ้นมาอย่างสดใส ยามค่อยๆ เติบโตขึ้น ก็เหมือนกับการถูกแต่งเติมสีที่ได้รับการคิดพิจารณาถึงความสง่างามของกระดาษขาวแผ่นนั้น ดอกแก้วได้ศึกษาในโรงเรียนอินเตอร์อันดับต้นๆ ของประเทศตั้งแต่ชั้นประถม ในขณะที่ด้านทักษะกิจกรรมก็ไม่ขาดตกบกพร่อง มารดาของเธอ พรโสภา วางแผนให้ลูกสาวได้เรียน บัลเลต์ เปียโน ไวโอลิน เพื่อให้ไม่ขายหน้ายามที่ต้องแสดงความสามารถ
ความน่ารักสดใสของดอกแก้วทำให้ทุกคนรอบกายอดไม่ได้ที่จะเอ็นดู ในขณะเดียวกันก็อดนึกอิจฉาในโชคชะตาของเธอไม่ได้ เด็กคนนี้ไม่เพียงแค่ได้รับความสะดวกสบายทางกายภาพเท่านั้น หากยังได้รับการถนุถนอม อบรมสั่งสอนมาเป็นอย่างดี ยามโตขึ้นอีกหน่อย ดอกแก้วก็ได้ไปเรียนมัธยมปลายที่อังกฤษ ได้รับการบ่มเพาะทางปัญญาและทัศนคติของผู้ดีอย่างภาคภูมิ
พรโสภามีปณิธาที่แข็งแกร่ง
. ตั้งแต่คราที่ดอกแก้วยังเล็ก พรโสภาเดินทางไปมาต่างประเทศจนนับครั้งไม่ถ้วน หลายครั้งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนที่เหลือจากนั้น มันเป็นไปด้วยความอึดอัดและขายหน้า ตั้งแต่ครั้งนั้นที่บังเอิญได้ยินเพื่อนร่วมงานชั่วคราวพูดคุยกันเรื่องโสเภณีอย่างออกรส เพียงแค่ได้ยินคำว่าประเทศไทยจากปากของเธอ หลังจากตั้งกระทู้ตั้งคำถามถึงพื้นฐานและความเป็นมาของโสเภณีด้วยความโมโป พรโสภามีปณิธานที่แข็งแกร่งและก้าวร้าวเพื่อที่จะป้องกันเด็กหญิงดอกแก้วให้ห่างจากมลทินแลความไร้อย่างอายของผู้หญิง
แต่ความเดือดดาลที่มาพร้อมกันกับใจที่แหลกสลายก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพรโสภาจับได้ว่า สามี ของเธอ ผู้เป็นถึงครูบาอาจารย์มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้ลดทั้งเกียรติแลศักดิ์ศรีของตนเองไปหาความบันเทิงในแหล่งที่เขาเรียกกันว่า ‘นางงามตู้กระจก’ แม้ว่าเขาจะอธิบายว่ามันเป็นเพียงแค่โชว์เปลื้องผ้าเท่านั้นที่เขาเข้าร่วมชมเพราะเพื่อนร่วมงานชักชวน ไม่มีการล่วงละเมิดศีลธรรมอย่างอื่น เด็กหญิงดอกแก้วอายุครบสิบห้าปีและจบมัธยมต้นพอในตอนนั้น พรโสภาตัดสินใจส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่อังกฤษ ในสังคมที่ดีที่สุด กลุ่มคนที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ล่วงรู้สิ่งเลวร้ายที่บิดาของเธอได้กระทำ และเพื่อให้ตัวเธอเองได้ดูกันต่ออย่างไม่รบกวนจิตใจลูกสาวที่รักแลเทิดทูนบิดาเสียยิ่งกว่าอะไรว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับความสัมพันธ์นี้
ดอกแก้วกลับมาประเทศไทยหลังจากสามปีของไฮสคูลที่ไม่มีโอกาสได้กลับมาเพราะมารดาของเธออาสาที่จะเป็นฝ่ายไปหาเองทุกครั้ง แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงแห่งความสุขแลความตื่นเต้น เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงได้รู้ความจริงจากปากของมารดา ว่าได้หย่าขาดกับบิดาของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดอกแก้วใจสลายพลางนึกกับตัวเองว่านอกจากสภาพของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเวลาแล้ว บ้านของเธอยัง ‘แตกสาแหรกขาด’
ดอกแก้วเอาแต่เก็บตัวอยู่ในห้อง ร้องไห้ออกมาอย่างหนักหนาสาหัสจนกระทั่งลืมวันแลเวลา เธอคิดสะท้อนไปมาอยู่ในหัวถึงสาเหตุที่มารดาของเธอเกลียดบิดาของเธอพันธุ์ที่ไม่อยากแม้แต่จะเอ่ยชื่อ มันคือสาเหตุที่ดอกแก้วได้รู้จากน้ำเสียงอันดังแลแข็งกร้าวที่ไม่ค่อยจะได้ยินจากผู้เป็นแม่ หลังจากที่เธอเอ่ยถามพร้อมกับร้องไห้ฟูมฟายไม่หยุด
ดั่งกลีบดอกแก้วที่อ่อนแอแลล่วงหล่นแค่เพียงลมต้อง พลันความสวยงามแลความสดใสได้หายไป หากดอกแก้วได้เรียนรู้กับตัวเอง ว่าแต่ละกลีบที่ล่วงโรยเหมือนกับหยดน้ำตา ส่วนของก้านที่แข็งแรงจนเป็นที่เลื่องลือก็ยิ่งเผยให้เห็นชัดขึ้นสู่สายตา เปรียบดั่งการที่ต้องแลกความเข้มแข็งกับหยดน้ำตา ดอกแก้วนึกกับตัวเองว่าเธอต้องร้องไห้อีกสักเท่าไหร่จึงจะไม่ร้องไห้อีกเลย
เพราะข่าวที่ทำให้ใจที่ยังสลายได้ใหม่ทุกครั้งหลังจากที่คิดว่ามันแหลกที่สุดแล้วยังคงลอยเข้าหูอยู่ไม่จบสิ้น ที่ว่าบิดาของเธอยังถูกพบเห็นบ่อยครั้งในสถานที่นั้น ‘นางงามตู้กระจก’ วลีที่ทิ่มแทงดอกแก้วทุกครั้งที่ได้ยิน มันมีเกิดสิ่งใดขึ้นอีกนอกจากความสงสัยใคร่รู้ในอาชีพที่พ่วงการทำลายครอบครัวของผู้อื่น ดอกแก้วตัดสินใจ—โดยปราศจากการรับรู้ของมารดา—ไปยังสถานที่แห่งนั้น สถานที่แห่งความเลวร้ายแลเป็นต้นเหตุของซากปรักหักพังในจิตใจของเธอ
“อีดาว! ตื่นได้แล้ว! มึงจะไปไหมโรงเรียนน่ะ”
เด็กหญิงวัยเจ็ดขวบสะดุ้งตื่นขึ้นจากน้ำเสียงที่คุ้นเคยของผู้เป็นแม่ที่ตะโกนเข้ามาจากข้างนอก บนฟูกแฟบๆ ปรากฎคาบสีเหลืองแลมีฝุ่นตลบ ดาวเหนือ ค่อยๆ ลุกขึ้นอย่างสลึมสลือจนเต็มความสูง มือเล็กยกขึ้นมาขยี้ตาทั้งสองข้างพลางพาตัวเองเดินบนพื้นไม้ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด ออกไปจากห้อง
“แม่ แม่ ดาวไม่มีเสื้อนักเรียน”
เด็กน้อยกับกางเกงในตัวหนึ่งค่อยๆ เดินมาหาผู้เป็นแม่ที่นอนหมดสภาพอยู่บนแคร่ไม้ไผ่อันหนึ่งในบ้านย่านสลัมหลังแคบ กลิ่นเหล้าหึ่งออกมาจากบุพการีที่นอนไม่สนใจเสียงเรียกของเธอ เดือนเพ็ญมักจะกลับบ้านเวลาเช้าตรู่ เมาปลิ้นทุกครั้งที่บอกกับดาวเหนือว่าจะไปเล่นไพ่ ‘ฉันต้องทำมาหากินนะโว้ย ไม่งั้นจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก’ ดาวเหนือมักจะได้ยินแม่พูดอะไรทำนองนี้ยามที่ใครครหาว่าหล่อนทิ้งลูกทิ้งเต้า
“แม่ แม่..” ดาวเหนือเรียกแม่อีกครั้ง แขนข้างหนึ่งพลางยกขึ้นเขย่าตัว
“อะไรวะ คนจะหลับจะนอน!” เดือนเพ็ญตวาดอย่างหงุดหงิด
“ดาวไม่มีเสื้อนักเรียน..”
“เอ็งก็ใส่ตัวเก่าไปก่อนซีวะ! ไม่มีใครในโรงเรียนวัดเขาสนใจหรอก”
ดาวเหนือทำตามที่แม่บอกอย่างไม่มีทางเลือก แต่งตัวจนเสร็จ กินข้าวใต้ฝาชีกับไข่เจียวของเมื่อคืน ก่อนจะออกจากบ้าน เธอหันไปมองแม่อีกครั้ง
เด็กวัยเจ็ดขวบยังไม่เข้าใจว่าจะอธิบายความรู้สึกนั้นว่าอะไร หากระหว่างที่เท้าเล็กในรองเท้านักเรียนกับถุงเท้าเก่าๆ กำลังก้าวเดินลัดเลาะตามตรอกอย่างคุ้นเคย ผ่านบ้านที่คลุมหลังคาด้วยสังกะสีเก่าๆ คล้ายกันกับบ้านของเธอเป็นแถวยาว ไปสู่วัดประจำชุมชน น้ำใสๆ ก็ไหลอาบแก้มเล็ก
เขาว่ากันว่า เด็กเด็กนั้นบริสุทธิ์ดั่งกระดาษขาว หากตั้งแต่จำความได้ กระดาษของดาวเหนือเริ่มจากสีควัน ฟุ้งฝุ่นเหมือนกับฟูกที่นอน มันไม่เคยแม้แต่จะมีคำว่ายากหรือง่ายสำหรับเธอและเด็กคนอื่นๆ ในสลัมแห่งนี้ ชีวิตไม่ได้ให้ตัวเลือกมากมายขนาดนั้น ทั้งหมดที่มีและจะสามารถนึกถึง ปิดป้ายใส่ชื่อให้กับความเป็นไปทั้งหมดนี้ได้ คือ ความเป็นไป ปล่อยไปตามโชคชะตาในแต่ละวัน แต่ละวันที่เริ่มจากการเตะฝุ่นบนที่นอน กินอาหารที่พอจะมีอยู่บนโต๊ะ ไปโรงเรียนแลดาวเหนือดูเหมือนจะทำได้ดีที่สุดในห้องที่มีนักเรียนเกือบยี่สิบคน จากนั้นก็กลับบ้าน วันไหนที่ฟ้าสดใสหน่อย ดาวเหนือจะเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ในสลัม หรือบางที มันอาจจะเป็นเพราะการเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ในสลัมที่ทำให้ฟ้าของดาวเหนือสดใส หากวันใดที่ฟ้ามืดหม่น สายฟ้าฟาดลงกลางใจเล็กๆ ของเด็กหญิงคนนี้ คือ วันที่เห็นแม่พาผู้ชายไม่คุ้นหน้าเข้าบ้าน
ตอนยังเป็นเด็ก ไม่รู้จะอธิบายมันว่าอะไร แต่ชีวิตก็ดำเนินไปอย่างนั้น จนกระทั่งดาวเหนืออายุครบสิบห้า ช่วงกำลังจะเรียนจบมัธยมต้น เป็นช่วงที่ดาวเหนือทะเลาะกับผู้เป็นมารดารุนแรงหลายครั้ง เพราะอาการติดเหล้าที่รังแต่จะทำให้สุขภาพที่ระหองระแหงของหล่อนแย่ลงเรื่อยๆ
“ถ้าจะไม่รัก โยนมันทิ้งโยนมันขว้าว รังแต่จะคิดว่าจะตายตอนไหน ก็ไม่ต้องสนใจ แล้วแม่ทำแบบนี้กับหนูทำไม ให้หนูเกิดมาทำไม!” ดาวเหนือตะโกนใส่ผู้เป็นมารดา เสียงสั่นเครือแม้จะพยายามสะกดมันไว้เพียงใด
“แกคิดว่าฉันตั้งใจทำให้เอ็งเกิดมาเรอะ เฮอะ!” ฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้อารมณ์เดือนเพ็ญพุ่งขึ้นสูง แม้แต่จะยืนให้ตรงยังยากลำบาก หากเมื่อได้ยินลูกสาวต่อว่า จากเหตุผลที่จะไม่ยอมให้เธอดื่ม เดือนเพ็ญก็โกรธจนเลือกขึ้นหน้า “—ถ้าเอ็งไม่พอใจ เกลียดข้านัก ก็ปล่อยให้ข้าตายๆ ไปซะ! ส่วนเอ็งจะไปตายที่ไหนก็ไป”
‘ทำไมแม่ไม่ฆ่าหนูเสีย ตอนที่แม่ทำได้ ทำไมไม่เอาขี้เถ้ายัดปากมันเสีย’ ดาวเหนือได้แต่คิด หมดแล้วแรงที่จะพูดมันออกไปจากประโยคเมื่อครู่ที่แม่เอ่ยกับเธอ แม้แต่แรงจะร้องไห้ ก็ไม่เหลือ มันคือความสุดจะทนที่มีต่อโชคชะตาของตัวเอง ทางแยกที่มากขึ้น ทำให้เธอไม่สามารถจะปล่อยให้ตัวเองเป็นไปตามสถานการณ์อย่างเดิมได้ และมันยังคงไม่ได้ทำให้เกิดคำว่ายากหรือง่าย สำหรับดาวเหนือ ชีวิตเส็งเคร็งที่เป็นอยู่มีแค่ยากและยากกว่า
ในวันที่ดาวเหนือค้นพบว่าเธอสอบติดโรงเรียนรัฐบาลในระดับชั้นมัธยมปลาย คือวันเดียวกับที่เธอพบว่าเดือนเพ็ญป่วยเป็นโรคตับขั้นรุนแรง ทั้งๆ ที่รู้ว่าอย่างไรก็ตามวันนี้ก็ต้องมาถึง ดาวเหนือเข่าทรุดอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน หลังจากที่หมอเดินกลับเข้าไปในนั้น น้ำตาไหลลงมาอาบแก้มอย่างไม่ขาดสาย เธอกัดฟัน กำมือแน่น บังคับไม่ให้ตนสะอื้นจนตัวโยน
เด็กในวัยสิบห้ารู้แล้ว ว่ามันคืออะไร ใจสลาย โกรธและเกลียดโชคชะตาของตัวเองไปพร้อมๆ กัน มันไม่ง่ายอยู่แล้วที่จะเข้าเรียนแม้ว่าจะมีทุนการศึกษาจากการเป็นนักเรียนดีเด่น แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ยังคงต้องอาศัยเงินจากผู้เป็นมารดา และในยามนี้ จะทำอย่างไรเล่า แค่ค่ารักษาแม่ ยังไม่รู้จะหามาจากไหน
“อีดาวเอ้ย ข้าล่ะ สงสารเองจับใจจริงๆ” ป้าน้อย หญิงชราข้างบ้านเอ่ยกับดาวเหนือด้วยใบหน้าสลดหลังจากที่พาแม่กลับมาพักฟื้นที่บ้าน
“แต่ยังไง ฉันก็แนะนำให้เอ็งเรียนหนังสือว่ะ” คม ลูกชายของป้าน้อยอายุมากกว่าดาวเหนือหลายปีเสนอขึ้น “—ข้าขอโทษนะ แต่น้าเดือนเพ็ญแกคงไม่อยู่นาน ไม่คุ้มหรอก ที่แกจะทิ้งอนาคตที่ดีกว่าน่ะ การศึกษา ไม่มีก็กู้ยืมได้ ยิ่งสมองดีๆ อย่างเอ็งแล้ว ไปได้อีกไกล”
“แล้วพี่จะให้ข้าทิ้งแม่ให้นอนรอวันตายที่บ้านรึ” ดาวเหนือบอกเสียงเรียบ “—‘อนาคตที่ดีกว่า’ มันยาวนานเกินไปสำหรับชีวิตของฉัน”
“แต่เอ็งอย่าบอกนะเว้ย ว่าจะเข้าไปเป็นเด็กในสังกัดอิแม่เล้าเจ๊แดงนั่นน่ะ” เจ๊แดงที่คมพูดถึง คือ แม่เล้าเจ้าของ ‘นางงามตู้กระจก’ ที่บ่อยครั้ง มักจะแต่งตัวสีฉูดฉาด ย่างกรายเข้ามาในสลัมเพื่อหาเด็กหญิงที่บ้างก็เต็มใจ บ้างก็จำต้องถูกขายออกไปเพราะพ่อแม่หมดปัญญาเลี้ยง
“อืม ฉันมาคิดดูแล้ว จะให้ฉันไปขายตัว ฉันคงทำไม่ไหว” ดาวเหนือหยุดคิด “—เจ๊แกบอกว่า งานเต้นเปลื้องผ้าก็เงินดีไม่เลว ฉันคงพอทำได้”
“อิเจ๊ระยำ! นี่มันชั่วจริงๆ! แนะนำแต่ละอย่างรังแต่จะทำให้ชีวิตเอ็งตกต่ำนะ อีดาว!” คมสบถโกรธหลังจากฟังการตัดสินใจของน้องสาวที่วิ่งไล่กันมาตั้งแต่เด็ก
“ก็ไม่ใช่ว่าชีวิตฉันไถไปกับพื้นตลอดเวลาอยู่แล้วรึ” ดาวเหนือถอนหายใจ “พี่คมไม่ต้องเป็นห่วงฉัน ฉันมีหน้าที่หาข้าวหาปลาเลี้ยงตัวแลแม่ไปเรื่อยจนกว่าจะหมดหน้าที่ก็เท่านั้น”
หลังจากนั้นหกเดือน ดาวเหนือเสียแม่ไป และมันคงจะเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้ายตราบใดที่เธอยังไม่สูญเสียตัวเอง
ดาวเหนือยังคงทำงานกับเจ๊แดงต่อไป อาจเพราะทุกอย่างมันลงตัวแบบนี้ การกลับไปเรียนเพื่อออกมาหาตัวเองอีกครั้งไม่น่าฟัง หลังจากนั้นราวๆ สามปี เจ๊แดงได้ทำการปิดปรับปรุง ‘นางงามตู้กระจกเสียใหม่’ และกลับมาในชื่อของ ‘Goddess in Glass’ หรือ ‘เทพธิดากระจกแก้ว’
ดาวเหนือในวันสิบแปดย่างสิบเก้า—กระดาษสีฝุ่นขณะนี้เปรอะเปื้อนไปด้วยสีฉูดฉาดหลากหลาย—สวยสะพรั่ง จนกระทั่งเจ๊แดงแลเพื่อนร่วมงานหลายคนเอ่ยปากทั้งต่อหน้าอย่างชื่นชมแลลับหลังอย่างอิจฉาริษยาว่า ดาวเหนือส่องสว่างที่สุดในที่แห่งนี้ โดยปราศจากการร่วมประเวณีใด ดาวเหนืออยู่ในกระจก เสื้อผ้าน้อยชิ้น ให้ความเพลิดเพลินยามเคลื่อนไหวร่างกายแก่ผู้ชมเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีนักลงทุนมากหน้าหลายตาเสนอเงินซื้อดาวเหนือกลับไปส่องแสงที่ห้องนอนของพวกเขา แต่คนพวกนั้นมีพวกนั้นมีไม่มากพอ แค่เงินกับตัณหาราคะไม่เคยพอสำหรับเธอ
ต่อมา เพราะสถานะทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดาวเหนือย้ายออกจากสลัมทันที เหตุผลหนึ่งคือมันยากลำบากที่จะอยู่ที่นั่นโดยไม่คิดถึงแม่ อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ตัวคนเดียวและมีเงินมากพอสำหรับใครอีกคน ดาวเหนือได้ส่งเสีย แสง เด็กชายข้างบ้านที่สนิทชิดเชื้อ ให้ได้เรียนต่อมัธยมปลาย มันคือการสานต่อโอกาสที่เธอไม่เคยได้รับ และไม่ใช่เพียงแค่เติมเต็มชีวิตที่ขาดของแสง แต่เป็นการเติมเต็มช่องโหว่ขนาดใหญ่ในตัวของเธอด้วย
ฉัน—หรือใครหน้าไหนก็ตาม—คงไม่มีวันหยั่งรู้ได้ ว่าในจุดๆ นั้นที่เคยอยู่ มันต่ำและอับความเจริญมากขนาดไหนในสังคม จนกระทั่งวันนั้นมาถึง วันที่สามารถกระเสือกกระสนพาตัวเองออกมาในที่ที่ลืมตาอ้าปากได้ ฉันจึงได้เห็นความแตกต่าง จึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่เคยมี ที่เคยมองว่ามันปกติแลเป็นครรลองทั่วไปของมนุษย์ มันชั่งไม่ต่างจากขุมนรกของคนเป็น
‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หากเลือกที่จะเป็นได้’
ประโยคปลุกใจ พาให้ชนชั้นกลางในสังคมเมืองรู้สึกฮึกเหิม แลได้ใช้เป็นมาตรฐานเหมารวมกลุ่มคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ชนชั้นที่จะถูกตัดสินหากเลือกทำอาชีพที่เขาถือว่าไร้ศักดิ์ศรีแลไร้ยางอาย ความกตัญญูกตเวทีมิใช่ข้ออ้างในการทำอาชีพให้บริการทางเพศแลอารมณ์ หากทำไม ผู้ทำอาชีพเหล่านั้นจึ่งต้องหาข้ออ้างด้วย?
‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หากเลือกที่จะเป็นได้’
บางครั้งเป็นประโยคที่ถูกกล่าวโดยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนตึกสูง ในคอนโดมิเนียมราคาแพง หรือในรั้วสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ สูญรวมของผู้ที่ได้รับโอกาสต่างๆ ที่มากกว่า แม้สักนิดก็นำไปสู่การต่อยอดขึ้นมา หากพวกเขากล่าวประโยคนั้น ยามที่ชายตามองลงมาในชุมชมแออัด ในชุมชนที่หลังคาสังกะสีเก่าๆ เหมือนซากปรักหักพังบดบังแลปิดกั้นทุกวิสัยทัศน์แม้กระทั่งสิทธิ์พื้นฐานที่มนุษย์พึงได้รับ
คุณจะมองหาอนาคตที่สดใส วางแผนชีวิตที่ดีกว่านี้ในอีกสามปี ห้าปีข้างหน้าไหม ถ้าหากแม้นใต้ฝาชีไม่มีอาหาร ในตู้กับข้าวกลายเป็นโพลงของแมลงสาบ และเงินที่มีไม่พอสำหรับข้าวสักมื้อ จุดหมายไกลที่สุดของคุณคงจะอยู่แค่เช้าวันพรุ่งนี้ หรือเย็นอีกวัน จากนั้นก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด
คุณจะมองหาอินเตอร์เน็ต หนังสือวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ บทเพลงสร้างความบันเทิงไหม หากแม้นแต่การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานยังเข้าไม่ถึง
คุณจะวิ่งหนีหายออกไปจากบ้านเพื่ออะไรที่ดีกว่าไหม ในเมื่อคุณไม่แม้แต่จะรู้จักมันแลไม่รู้ว่ามันมีอยู่จริงหรือเปล่าด้วยซ้ำ
ตอบมันในใจของคุณ
ฉันในตอนนี้ ยืนอยู่บนคอนโดมองลงไปยังชุมชนเล็กใหญ่ข้างล่างอย่างไม่เกิดข้อคิดหรือข้อแนะนำใดๆ นอกจากอยากจะให้—พื้นที่นั้น—เป็นการแก้ไขอย่างหนึ่งของสังคม
ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย
- ความเรียง “ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา
- เรื่องสั้น “คุยกับเด็กในความทรงจำ” โดย ปิยภัทร จำปาทอง
- เรื่องสั้น “ดอกแก้วแลดาวเหนือ” โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล
วัตถุดิบ
- บทกวีคำซ้ำเรื่อง “เด็ก” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
- บทกวีเรื่อง “ผีเสื้อไม่ใช่ปูเสฉวน” ของ โรสนี นูรฟารีดา
- ความเรียงเรื่อง “เอ๋ย...เจ้าช่อดอกแก้ว” ของ รักษิตา
- คำว่า “คล่องแคล่ว” ในคลังคำของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา
ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"
ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย
- เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์
- เรื่องสั้น “อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค
- เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช
ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
- ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร
- เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข
- เรื่องสั้น “This white dog and that white wolf” โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา
ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง
- เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุณฑริกา จิตพินิจกุล
- เรื่องสั้น “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
- เรื่องสั้น “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ
ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย
- เรื่องสั้น “ดอกบัว” โดย นันทวัน มงคลสถิต - เรื่องสั้น “กะฮอม” โดย เมธินี โสภา - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง” โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์
ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง
- เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร
- เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in