เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
เด็กเด็กเด็ก: คุยกับเด็กในความทรงจำ
  • รื่องสั้นโดย... ปิยภัทร จำปาทอง  ผลงานลำดับที่  10  ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ" 
    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่



    ความสุข ใครก็คงจะอยากมีกันใช่ไหม

    กรณีผู้เขียนคือใช่ แต่ยิ่งแก่ตัวลงก็ยิ่งพบว่าความสุขมันไม่ใช่ของได้มาง่าย ๆ


    ตอนยังเล็กอาจจะแค่อยากได้ขนม อยากได้ของเล่น อยากดูการ์ตูน

    ตอนนั้นเรามีคนคอยประเคนให้เพราะเรายังเป็นเด็ก ตามใจผู้ใหญ่ให้พอใจแล้วค่อยโต

    จนเริ่มเป็นวัยรุ่นเท่านั้นแหละ ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งมีเรื่องให้คิดเยอะกว่าจะไปถึงความสุขได้


    เพราะงั้นวันนี้ลองหันกลับไปดูดีไหม

    ว่าความสุขของเรามาจากอะไร


    ระหว่างนั้นผู้เขียนขอคุยกับเด็ก ๆ ที่ได้เจอซักสองสามคนในความทรงจำให้พอให้คิดตามหน่อย





    “ผมชื่อบิ๊ก ผมตัวโตกว่าเพื่อน ๆ ในห้อง เรื่องใช้แรงทั้งโรงเรียนไว้ใจผม”


    ร่างกายกำยำแต่คล่องแคล่วว่องไว พบเขาได้ไม่หลังห้องเรียนก็หลังห้องน้ำ

    บางวันเห็นเขาคุยเล่นหัวกันกับพี่รปภ. หรือตำรวจแถวนั้นด้วยซ้ำ

    กลิ่นบุหรี่เคล้าเหล้าคละคลุ้งประจำ แต่ถ้าอาจารย์ไม่เรียกไปต่อว่า รอยยิ้มก็เต็มหน้าเขาทุกเวลา ยกเว้นว่าบางทีคนรู้จักต่างสถาบันมีเรื่อง ก็มีเครียดให้เห็นเหมือนกัน


    “นี่พี้ยาเปล่าวะ เยิ้มตลอดเชียว”

    “คิดไงล่ะเพื่อน”

    “เราไม่รู้ เราไม่เอาด้วยก็แล้วกัน”


    บทสนทนาเล็ก ๆ ระหว่างร่วมกันลอกการบ้านที่ส่งไม่ทัน

    ปกติบิ๊กจะยิ้ม ๆ แบบนี้ เสมือนไม่เกรงกลัวอะไร ตอบหน้ารื่น ๆ กลางห้อง

    ชวนให้คิดว่าก่อนร่วมชั้นเดียวกันเขาผ่านอะไรมาบ้าง


    แต่เทียบกับตัวเราแล้วเขาช่างร่าเริงสดใส

    ไม่ว่าจะด้วยฤทธิ์นิโคตินหรือแอลกอฮอล์ รอบตัวเขาก็เต็มไปด้วยมิตรสหาย

    จนแทบน่าอิจฉา


    บิ๊กแสวงหาความสุขจากเพื่อนรอบตัวและอิสระที่เขามี

    ต่อให้หลุดจากกรอบที่สังคมตีไว้ไม่น้อยก็ตาม

    ป่านนี้แล้วเขาจะเป็นยังไงกันนะ





    “ดิฉันชื่อชุติมา ดิฉันคะแนนดีเป็นอันดับต้น ๆ ของห้อง และเป็นหัวหน้าห้องค่ะ”


    ต่อมา ตัวละครประเภทนักเรียนดีเด่นคนหนึ่งในชีวิตเรา

    ทางของครรลองคือทางของเธอ

    เธอเชื่อฟังคำสอนครูบาอาจารย์ และจริงจังจนตกเป็นเป้าให้ผู้ชายในห้องแกล้งแหย่เล่นเสมอ

    บางทีก็มีน้ำโหเพราะเพื่อนบางคนแกล้งเธอแรงไป แต่ไม่นานก็ให้อภัยกันได้

    นี่เธอเป็นแม่พระเหรอ


    เพอเฟคเกิร์ลควรจะเป็นสมญานามของเธอ

    จนกระทั่งวันที่อาจารย์วิชาสังคมแกล้งให้คะแนนเธอต่ำ

    น้ำตาเปรอะกระดาษขาว

    เธอร้องไห้ยาวนานกว่าที่ใคร ๆ ในห้องเคยได้เห็น

    เป็นวันที่เหมือนโลกจะแตก

    เธอร้องไห้ดั่งเธอทำผิดร้ายแรง จนอาจารย์ที่ขี้แกล้งแบบนี้เป็นประจำยังเคร่งเครียดตาม


    เธอสารภาพกับอาจารย์ว่ากลัวที่บ้านต่อว่า

    เธอทำคะแนนดี 4.0 มาตลอด และการให้คะแนนต่ำครั้งนี้จะทำให้เกรดเธอตกเป็น 3.5

    เพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนนอกก็ได้แต่กระอักกระอ่วน พลางคิดว่าครอบครัวแบบนี้มีจริงเหรอ

    มีจริงครับ เด็กสาวคนนี้นี่แหละ


    ปกติเธอมีความสุขที่ประสบความสำเร็จในการเรียน

    แต่เห็นสภาพแบบนี้ก็ได้แต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกไปตาม ๆ กัน

    ป่านนี้แล้วเธอจะเป็นยังไงกันนะ





    “เราชื่อแคน เราชอบอ่านหนังสือเลยชอบแต่งนิยายด้วย”


    ส่วนคนนี้เป็นรุ่นพี่ของเราเอง

    เด็กหออยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนก็ตัวคนเดียว แต่หลายคนในโรงเรียนจะรู้จักเขา

    พี่เขาเฟรนลี่กับทุกคน แต่แค่สุงสิงกับหนังสือมากกว่าคน เลยดูลึกลับกว่าใคร


    วันหนึ่งเราชวนพี่เขาคุยว่าทำยังไงถึงแต่งนิยายได้ยาว ๆ เหมือนพี่


    “มันเป็นเรื่องของกระบวนการคิดนะ”

    พี่แคนเริ่มร่ายอย่างบันเทิงอารมณ์


    “ในหัวพี่จะเก็บความคิดไว้เหมือนโฟลเดอร์ในคอมน่ะ เวลาคิดอะไรก็เรียกออกมา”

    “แล้วทำยังไงถึงรู้เยอะแบบพี่ล่ะ”

    “กำปั้นทุบดินคือเสพให้เยอะ แต่ใครเขาก็พูดกัน ถ้าให้พูดมากกว่านั้นคือระหว่างเสพก็ต้องคิดตาม เรื่องที่เสพ ๆ อยู่มันจะได้ถูกบันทึกด้วย ลงสมองเนี่ย”


    “พี่พูดเหมือนหัวทุกคนเป็นคอมพิวเตอร์”

    “ก็ใกล้เคียงนะ นี่ที่คิดเร็วก็เพราะจัดระเบียบความคิดด้วยแหละ เหมือนตั้งชื่อความทรงจำในหัวเรียงตามลำดับแล้วจัดเข้าโฟลเดอร์แยกกันเงี้ย ลองฝึกได้นะ”


    พี่แคนครับ จนถึงวันนี้ผมยังทำไม่ได้เลย


    นิยายพี่เขาเขียนไว้ ตอนเจอกันครั้งสุดท้ายก็ไม่แน่ใจว่าเขียนจบหรือยัง

    แต่ก็ไม่ได้เจอมาสี่ห้าปีแล้ว

    ป่านนี้แล้วพี่เขาจะเป็นยังไงกันนะ





    พวกนี้คือเด็กสามคนในชีวิตผู้เขียน ที่ตอนนี้พวกเขาน่าจะเป็นผู้ใหญ่กันไปแล้ว


    บิ๊ก เด็กชายที่อยู่ในเขตสีทึม ๆ จากสายตาภายนอกแต่มีรอยยิ้มตลอดเวลา

    ความสุขของเขามาจากมิตรสหาย


    ชุติมา เด็กสาวผู้ดูดีในสังคม แต่ตรอมตรมกับความกลัวเรื่องผิดพลาด

    ความสุขของเธอมาจากความสำเร็จและความสมบูรณ์แบบ


    กับ แคน เด็กหนุ่มผู้ปลีกตัวออกจากโลก จมอยู่กับทะเลความคิดของตน

    ความสุขของพี่เขามาจากสมองเขาเอง


    มาถึงจุดนี้ จะไล่ให้คุณผู้อ่านกลับไปหาความสุขของตัวเองหลังจากอ่านความสุข(และไม่สุข)ของคนอื่นก็แลดูจะเชยเกินไป


    เพราะงั้นขอปิดท้ายด้วยความสุขของผู้เขียนก็แล้วกัน


    เราไม่รู้


    เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรทำให้เรามีความสุขนี่แหละ เราเลยอยู่ไปวัน ๆ เหมือนไม่มีจุดหมาย

    แต่ก็ไม่ได้เบื่อ ข้าวก็อร่อยดี ตั้งแต่ตอนเด็กเรามีแทบทุกอย่างที่อยากได้

    แม้บ้านจะไม่ได้รวยอะไรก็ได้มาเรียนสถาบันหน้าใหญ่ ๆ แต่ก็รู้สึกเหมือนได้มาอยู่แค่นั้น


    เห็นงั้นชีวิตก็สนุกดีนะ

    ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความฝันยิ่งใหญ่แล้วจะตายซะหน่อย


    เพราะงั้นวันนี้ เราก็จะหาความสุขของเราต่อไป


    (ที่มารูป https://www.irasutoya.com/2017/10/blog-post_992.html)


    ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~



    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย
    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

    วัตถุดิบ

    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “เด็ก” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “ผีเสื้อไม่ใช่ปูเสฉวน” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “เอ๋ย...เจ้าช่อดอกแก้ว” ของ รักษิตา
    - คำว่า “คล่องแคล่ว” ในคลังคำของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา

    ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย 

    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช


    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 

    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุณฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น  “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย

    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 


    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร 
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in