เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
LUNCH: อาหาร "ฝัน" กลางวัน

  • รื่องสั้นโดย...ชัญญานุช ปั้นลายนาค ลงานลำดับที่  13  ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ" 
    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่


    ดวงอาทิตย์ตั้งตระหง่านกลางศีรษะ ไอแดดร้อนระอุลูบไล้บานหน้าต่าง

    เสียงปากกาเสียดสีกับกระดานดังต่อเนื่อง

    เข็มนาฬิกาตบเท้าวนบนหน้าปัดเป็นจังหวะ

    นักเรียนหลังห้องขยับปลายเท้าขึ้นลง


    ณ เวลานั้น เด็กหญิงคนหนึ่งวาดฝันภาพในจินตนาการ


    ถนนปูนซีเมนต์สร้างใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ใหม่

    กลางถนน ตั้งสำรับ ข้าวสุก น้ำพริกแมงดา แตงล้าน ปลาเค็ม เหล้าหนึ่งขวด

    คนทั้งสี่ สี่ สี่ สี่ สี่ สี่ นั่งรับประทาน

    กลางแสงแดด จ้า จ้า จ้า จ้า จ้า จ้า จ้า *





    เด็กหญิงวัย 12 ปีนั่งลงหน้าโต๊ะอาหาร แสงแดดเจิดจ้ายามเที่ยงส่องลงมาแยงตา แต่เธอไม่ได้ใส่ใจนัก เวลาพักเที่ยงมีเพียงชั่วโมงเดียว เธอไม่อยากเสียเวลาไปกับการหาที่นั่งเย็นสบาย เด็กหญิงหยิบกล่องอาหารสีชมพูขึ้นวางบนโต๊ะ ฝากล่องปรากฏลายตัวการ์ตูนที่เริ่มลอก เธอเปิดฝาออก กลิ่นหอมฉุยโชยออกมาพร้อมกับไอร้อน ข้างในกล่องอาหารมีข้าวผัดหมูหน้าตาน่ารับประทาน ข้าวผัดสุกกำลังดี พร้อมด้วยเนื้อหมูชิ้นพอดีคำจำนวนน่าพึงพอใจ ตัดด้วยสีสันของผักนานาชนิด เธอหยิบช้อนตักอาหารเที่ยงทานอย่างไม่รอช้า


    พื้นที่ว่างตรงข้ามถูกแทนที่ด้วยถาดหลุม เด็กหญิงไม่เงยหน้ามองผู้มาใหม่ เธอยังคงรีบทานอาหารกลางวันเพื่อจะกลับขึ้นห้องเรียน


    “หูย น่ากินอะ” คนตรงข้ามพูดขณะชะโงกมามอง “อิจฉาเนอะ ที่บ้านทำข้าวให้กินทุกวันเลย”


    เธอหัวเราะเบา ๆ โดยยังคงก้มหน้า เลือกที่จะไม่ตอบอะไรกลับไป เพื่อนร่วมรุ่นตรงข้ามราดน้ำซุบลงบนข้าวสวยแข็งเป็นก้อน ช่องด้านข้างเป็นปลาแห้ง ส่วนช่องที่เล็กที่สุดมีถั่วเขียวต้มน้ำตาล นี่คือเมนูอาหารที่นักเรียนทุกคนต้องรับประทานร่วมกัน เสียงกระทบกันของภาชนะสเตนเลสดังก้องในโรงอาหาร แข่งกับเสียงพูดคุยเซ็งแซ่ของเด็ก ๆ


    เธอยอมรับว่าอาหารของโรงเรียนดูไม่น่ารับประทานเอาเสียเลย แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เธอไม่ได้ทานข้าวแบบเดียวกับเพื่อน ตั้งแต่จำความได้ เด็กหญิงตัวน้อยก็แพ้อาหารค่อนข้างเยอะ การนำอาหารมาทานเองจึงเป็นทางเลือกที่อุ่นใจที่สุด เป็นเหตุผลด้านสุขภาพล้วน ๆ แต่ถึงอย่างนั้น บางทีเธอก็รู้สึกขี้เกียจจะอธิบายให้คนมากมายฟัง โดยเฉพาะในโลกที่ข่าวลือเสียงดังกว่าความจริงเช่นนี้


            มื้ออาหารกลางวันของเด็กหญิงเสร็จสิ้นลงด้วยความรวดเร็ว เธอลุกออกจากโต๊ะอาหารที่ส่องประกายด้วยแสงแดด หยิบกล่องอาหารในมือแล้วตรงไปยังห้องน้ำเพื่อทำความสะอาด เด็กหญิงเขี่ยเศษอาหารทิ้งก่อนจะล้างน้ำลวก ๆ ใช้กระดาษเช็ดให้แห้ง สุดท้ายจึงเก็บลงถุงผ้าของตัวเอง เธอเงยหน้ามองตัวเองบนบานกระจกขนาดใหญ่ ผมเปียสองข้างถักตึงออกสีน้ำตาลธรรมชาติ แต่ก็ยังมิวายโดนครูฝ่ายปกครองเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ ชุดนักเรียนสีขาวบนตัวดูสะอาดสะอ้านเรียบร้อย กระโปรงสีกรมท่าจับจีบอย่างสวยงาม 


            เธอสบตาตัวเองในกระจก ดวงตานั้นเรียวเล็ก จมูกแหลม ริมฝีปากบาง ตอนเด็ก ๆ เธอเคยถูกเรียกว่าเป็นยัยนกกระจิบ พาลให้รู้สึกไม่มั่นใจในใบหน้าตัวเองเท่าไหร่นัก แต่ถึงอย่างนั้น เงาสะท้อนเบื้องหน้าก็เป็นแค่เด็กหญิงอายุ 12 ปีธรรมดา โอบอุ้มกล่องอาหารกลางวันที่ไม่เหมือนใคร


            เวลาพักกลางวันเหลืออีกเพียง 20 นาที เด็กหญิงพาร่างเล็กของตัวเองมานั่งรอคอยกริ่งบอกเวลาเริ่มเรียนในห้องเรียน เพื่อนในห้องแอบเอาขนมมากินพร้อมทั้งจับกลุ่มคุยตามโต๊ะต่าง ๆ เธอฟุบหน้าลงกับโต๊ะ นึกเสียดายผลไม้ที่แอบเททิ้งไป เพราะตอนนี้เริ่มจะหิวอีกแล้ว


            “...แกก็เอาไปแบ่งไอสิ”


            “บ้าเหรอ คุณหนูเขาไม่กินขนมแบบนี้หรอกนะ”


            เสียงหัวเราะดังขึ้นหลังบทสนทนา บุคคลที่ถูกพูดถึงแกล้งทำเป็นนอนหลับ ไม่เป็นไร เธอบอกตัวเอง อีกเดี๋ยวกริ่งก็จะดังแล้ว เธอคิดในแง่ดีแม้จะมีภาพตัวเองลุกขึ้นกรีดร้องแทรกเข้ามาในหัว


            กริ๊ง เป็นกริ่งโรงเรียนเองที่แผดเสียงดังลั่น บอกเป็นนัยว่าเวลาพักกลางวันสิ้นสุดลงแล้ว


    ---





            เด็กหญิงวัย 12 ปีกลับบ้านเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายตำแหน่ง แสงอาทิตย์ยังคงสว่างจ้าเหมือนเคย เธอก้าวเท้าขึ้นรถที่คอยมารับมาส่ง รถยนต์สีดำค่อย ๆ เคลื่อนตัวบนถนนปูนซีเมนต์ รายล้อมด้วยรถอีกมากมายที่มุ่งหน้าไปยังที่ต่างกัน


            บ้านหลังใหญ่กลางหมู่บ้านคือจุดหมายปลายทางของรถสีดำ เธอก้าวลงจากรถ เดินเข้าบ้านที่ดูเงียบเชียบ ป้าแม่บ้านเป็นคนแรกที่ออกมาต้อนรับ โต๊ะข้างห้องครัวมีอาหารเย็นเตรียมเอาไว้ รสมือเดียวกับมื้อกลางวันที่เธอฝากท้อง


    กริ๊ง เมื่อท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี เสียงโทรศัพท์บ้านก็ดังขึ้น ฟังดูคล้ายกริ่งโรงเรียนไม่มีผิด เด็กหญิงผละออกจากโซฟาเพื่อไปรับโทรศัพท์


            “สวัสดีค่ะ”


            “ไอหรอลูก วันนี้แม่กลับดึกนะ ไม่ต้องรอทานข้าวนะคะ” ได้ยินเสียงพูดคุยเคร่งเครียดแทรกเข้ามาในสาย


            “โอเคค่ะ”


            “วันนี้ก็กลับช้าอีกแล้ว ขอโทษนะลูก พรุ่งนี้แม่จะรีบกลับนะ”


            “ไม่เป็นไรค่ะแม่”


            เด็กหญิงกล่าวลาก่อนวางสาย ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเธอก็ได้ทานข้าวกับแม่บ้างเป็นครั้งคราว เธอคิดถึงพ่อที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด พ่อไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเท่าไหร่นัก เธอยังจำได้ดีว่าเมื่อห้าปีก่อนเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก แถมยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวเธอโดยตรง พ่อเริ่มติดเหล้าและใช้ความรุนแรง สุดท้ายจึงออกจากบ้านพร้อมกับพี่ชายไปอาศัยอยู่กับครอบครัวทางฝั่งพ่อ นับตั้งแต่วันนั้นเธอก็เจอพ่อนับครั้งได้ แม่เองก็ต้องทำงานหนักเพิ่มเป็นสองเท่า 


            ข้างโทรศัพท์บ้านมีกรอบรูปวางอยู่ รูปที่อัดเมื่อหลายปีก่อนเริ่มเก่าไปตามกาลเวลา นี่เป็นรูปครอบครัวเพียงไม่กี่รูปที่มีในบ้าน ในภาพทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคนนั่งอยู่ด้วยกันสี่คน พ่อ แม่ พี่ชาย น้องสาว ใบหน้าต่างวัยทั้งสี่ต่างพากันอวดรอยยิ้มสดใส



            เด็กหญิงวัย 12 ปีนั่งลงหน้าโต๊ะอาหาร แสงนีออนจากหลอดไฟส่องลงมาบนโต๊ะ เธอจัดการเปิดฝาชีออก ทั้งกับข้าวและข้าวสวยยังคงอุ่นอยู่ หน้าตาก็ดูน่ารับประทานเหมือนเคย เธอลงมือจัดการอาหารเย็นตรงหน้าเงียบ ๆ กล่องอาหารสีชมพูยังคงถูกวางทิ้งไว้ในถุงผ้า


    ดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ห้องโถงใหญ่เงียบเหงา เสียงช้อนกระทบชามกระเบื้องดังก้องกังวาน 


    ณ​ เวลานั้น เด็กหญิงคนหนึ่งวาดฝันภาพในจินตนาการ











    -----------------------------------------

    * บทกวีเรื่อง อาหารมื้อกลางวั  ใน จ่าง แซ่ตั้ง. คำซ้ำ (ฉบับสองภาษา: ไทย - อังกฤษ). PAMELA ARCHER and GIOVANNI CUTOLO , บรรณาธิการ. แปลโดย MAYARA VISEKUL และ PRAKIN ZUMSAI(อัดสำเนา), 1967-1968.

    ขอบคุณรูปจาก we heart it และ wallpaperup


    กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นนี้ 

    เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีเรื่อง "อาหารมื้อกลางวัน" จากรวมบทกวีชุด "คำซ้ำ" ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    "เราต่างพูดว่าไม่เป็นไร" จากรวมบทกวีชุด ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา โดย โรสนี นูรฟารีดา
    และเรื่อง "ดอกหญ้า" จากหนังสือความเรียง "เรื่องเล่าของดอกไม้ " โดย รักษิตา
    (คำบังคับคือ บางที)

    ความท้าทายคือการสร้างเรื่องโดยได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานที่มีอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนง่าย แต่พอมาดูงานที่ต้องเขียนก็คือต้องมีลมจับกันบ้าง (ขณะนี้ก็กำลังดมยาดมอยู่)  ตอนแรกคิดพล็อตไว้อีกแบบ mood อีกแบบเลย แต่สุดท้ายก็เปลี่ยน แข่งกับเวลาม้ากกกกก  อยากให้มัน melancholy หน่อย ๆ ก็พอ ก่อนหน้านี้คิดไว้ดาร์คมาก (แต่ชีวิตช่วงนี้ดาร์คพอแล้ว ขอแสงสว่างบ้างเถอะะะะ แหะ)

    ทำงานหนักแล้วนะเพื่อนร่วมทีมของฉันนนน

    จ๋า  ชัญญานุช ปั้นลายนาค  

    -----------------------------------------

    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย 

    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช

    วัตถุดิบ
    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “อาหารมื้อกลางวัน” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “เราต่างพูดว่าไม่เป็นไร” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “ดอกไม้ของใบหญ้า” ของ รักษิตา
    - คำว่า “บางที” ในคลังคำ ของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา

    -----------------------------------------

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 

    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุณฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น  “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย

    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 


    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร 
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์ 


    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย

    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in