เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ต้นไม้: พักพิง

  • เรื่องสั้นโดย...บุญฑริกา จิตพินิจกุล  ผลงานลำดับที่ 1 ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"  

    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่




    ชายหนุ่มทรุดตัวลงนั่งตรงโคนต้นไม้ใหญ่ เอนหลังพิงกับเปลือกไม้ตะปุ่มตะป่ำ เขาเงยหน้ามอง เห็นแสงอาทิตย์ส่องลอดมาตามช่องว่างระหว่างใบไม้กิ่งไม้มากมายที่แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกจากกลางลำต้น ยามลมพัดมาจนใบไม้สั่นและกิ่งไม้ไหว แสงแดดก็ดูระยิบระยับเพลินตาดี เขาชันขาขึ้นมาข้างหนึ่ง พาดแขนวางบนเข่า กางฝ่ามือออก จี้พระสีทองแดงขนาดเท่าหัวแม่มือก็หล่นลงตามน้ำหนัก เขาแกว่งสร้อยให้จี้ไปข้างหน้าทีข้างหลังที ทำอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ

    “เฮ้”

    มือชายหนุ่มชะงัก จี้ยังแกว่งอยู่เล็กน้อยก่อนห้อยค้างอยู่ในมือเขา เขาค่อยๆหันหน้าไปทางซ้ายและขวา รอบตัวเขาเป็นเพียงลานดินโล่งๆ ไร้สิ่งมีชีวิตใดๆ นอกจากเขาและต้นไม้

    “ฉันพูดกับนายนั่นแหละ”
    คราวนี้เขาหันหลังขวับ มือยันพื้นลุกขึ้นช้าๆ พอยืนเต็มสองเท้าได้เขาก็ยืนเผชิญหน้ากับที่มาของเสียงประหลาด 

    “ใช่แล้ว ฉัน ต้นไม้ กำลังพูดกับนาย”
    ชายหนุ่มสะดุ้งจนเสียหลักล้มลง เรี่ยวแรงของเขาราวกับถูกสูบออกจากร่าง เขาได้แต่ไถตัวเองถอยห่างจากต้นไม้ เท้าทั้งสองเตะพื้นจนฝุ่นทรายปลิวคลุ้งไปทั่วบริเวณ

    “เลิกเตะดินซะที เดี๋ยวก็หายใจไม่ออกตายหรอก และไม่ต้องตื่นตูมขนาดนั้นก็ได้ ฉันไม่กัดหรอก ฉันกัดนายได้ซะที่ไหนล่ะ”
    หางเสียงนั้นฟังดูเอือมระอา ชายหนุ่มหยุดเคลื่อนไหว เขาไม่ได้เชื่อต้นไม้หรอก แต่เขาไม่เหลือแรงแล้ว แสงแดดนอกร่มไม้สาดใส่ตัวเขาเต็มที่ จนหยดน้ำผุดขึ้นเต็มหน้าผากเขา บางเม็ดค่อยๆ ไหลลงมาตามแก้ม ทั้งร่างเขาเริ่มร้อนขึ้นๆ แต่เขาก็ยังไม่กล้าขยับเขยื้อน ตายังคงจับจ้องที่ต้นไม้
    เสียงประหลาดเดิมดังขึ้น ยังฟังดูระอาเหมือนเดิม

    “จะนั่งให้แดดเผาอยู่ทำไม เข้ามาในร่มไม้ฉันสิ อยู่ใต้ฉันเย็นสบายกว่านา”
    เขายังคงนิ่ง

    “ก็ตามใจ เป็นลมแดดขึ้นมาไม่รู้ด้วย แถวนี้ไม่ค่อยมีใครโผล่มาเวลานี้หรอก ดีไม่ดีขาดน้ำตายขึ้นมาฉันไม่รับผิดชอบนา”
    ชายหนุ่มเม้มริมฝีปาก เอาวะ เขาคิด ก่อนค่อยๆคลานกลับเข้ามาในเงาของต้นไม้ แต่เลือกนั่งห่างออกมาไม่ให้ชิดมากเกินไป เขารู้สึกเหมือนได้ยินเสียงถอนหายใจด้วย

    “ก-แกพูดได้...ต-ต้นไม้...พ-พูดได้...”
    “แม่นแล้ว แต่ขอล่ะ ไม่ต้องเอาผ้าสีๆ มาผูกฉันนะ แล้วก็ไม่ต้องเอาธูปเอาน้ำแดงมาถวายด้วย อ้อ! ไม่ต้องเอาชอล์กมาขูดหาเลขบนตัวฉันด้วย อยากได้ไปหาที่อื่นเอง”

    “ทำไมแกพูดได้ล่ะ” น้ำเสียงเขาหายตะกุกตะกักแล้ว

    “นายนี่ถามแปลกๆ ดีนะ ในเมื่อนายพูดได้แล้วทำไมฉันจะพูดไม่ได้ล่ะ เพราะนายเป็นคนแต่ฉันเป็นต้นไม้
    งั้นสิ เฮอะ! ฉันน่ะพูดได้อยู่แล้วแค่นายไม่ได้ยินเองต่างหาก”

    “หมายความว่าไง ฉันไม่เข้าใจ”

    “นายไม่ต้องเข้าใจหรอก เพราะยังไงก็ไม่มีวันเข้าใจ ว่าแต่นายเถอะ ฉันสงสัยว่าทำไมมานั่งแกว่งสร้อยพระอยู่คนเดียว”

    “นั่น...ไม่ใช่เรื่องของแก”

    เขาเอ่ยพร้อมหันหลังให้ ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้นมาชิดอก เหม่อมองไปข้างหน้า

    “นายพูดถูก มันไม่ใช่เรื่องของฉัน เพราะงั้นเรื่องที่หนักหัวนายอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องของนายเหมือนกัน”
    เขาหันขวับมาหาต้นไม้อีกครั้ง

    “แกรู้ได้ไงว่าฉันกำลังคิดอะไรอยู่”

    “ตอนนายนั่งพิงตัวฉัน ในหัวนายก็เอาแต่วนเวียนคิดอยู่เรื่องเดียว ความคิดของนายน่ะดังผ่านเปลือกไม้เข้ามาในตัวฉัน ฉันถึงรู้ไงว่านายคิดอะไรอยู่”

    “แกโกหก ไม่มีทางที่แกจะรู้ว่าฉันกำลังคิดอะไร”

    “งั้นเมื่อกี้นายคงไม่ได้กำลังคิดถึงลูกชายที่เพิ่งย้ายศาสนาไปหรอกใช่ไหม”

    ชายหนุ่มอ้าปากเหวอ เผลอถอยหลังห่างโดยไม่รู้ตัว

    “ไงล่ะ ทีนี้ยังหาว่าโกหกอยู่อีกไหม”

    “แก...แกคงไม่ได้กำลังอ่านความคิดฉันหรอกใช่ไหม”

    “ฉันบอกแล้วไงว่าความคิดนายมันไหลมาตอนนั่งพิง เพราะงั้นนายก็อย่าโดนลำต้นหรือรากฉันก็สิ้นเรื่อง และอีกอย่างฉันไม่ได้มีรสนิยมอยากรู้เรื่องในหัวชาวบ้านเหมือนคน เพราะงั้นถ้านายไม่ได้คิดจะโค่นฉันทิ้ง ฉันก็ไม่สนใจนายหรอก”

    ชายหนุ่มเก็บขาเข้ามานั่งขัดสมาธิ ระวังไม่ให้สัมผัสรากต้นไม้บนพื้น เขาจ้องมองต้นไม้สักครู่ก่อนตัดสินใจเอ่ย

    “แกหมายความว่าไงที่ว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน”

    “ก็ลูกชายนายจะอยากนับถือศาสนาอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องนาย”

    “แต่ฉันเป็นพ่อนะ” เขาท้วง

    “เป็นพ่อแล้วต้องบังคับไม่ให้เขาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นเหรอ”




    แดดเริ่มสาดเข้ามา ร่มเงาเริ่มถูกผลักเข้าหาต้นไม้ ชายหนุ่มเริ่มกระเถิบเข้ามา ไอความร้อนจากพื้นดินทำเขาร้อนจนหลังชุ่มไปด้วยเหงื่อชัดเจน เมื่อไม่มีลม ใบไม้ก็นิ่งไม่สั่น ทุกอย่างดูนิ่งไปหมด

    “แต่ฉันไม่เข้าใจว่าเขาจะเปลี่ยนศาสนาทำไม ในเมื่อศาสนาเดิมก็ดีอยู่แล้ว”

    จู่ๆ ใบไม้บนต้นก็สั่นไหว ส่งเสียงยามเสียดสีกันไปมาทั้งที่ลมสงบ เขาจ้องมองอย่างฉงน เหงื่อไหลหยดจนเสื้อกลายเป็นสีเข้ม ไม่นานทุกอย่างก็กลับมานิ่งตามเดิม เสียงของต้นไม้ดังขึ้นอีกครั้ง

    “ศาสนาเดิมดีแปลว่าเขาจะเปลี่ยนไม่ได้รึไง อ๋อ หรือนายคิดว่าศาสนาเดิมดีกว่า”

    “ก็จริงไม่ใช่หรือไง ศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยก และยังเปิดอิสระให้ใครก็ได้ ไม่กีดกันเหมือนศาสนาอื่น”

    ยังพูดไม่ทันจบ ใบไม้ก็สั่นอีกครั้ง คราวนี้ทั้งกิ่งก้านก็สั่นไปด้วย เขาได้ยินเสียงหัวเราะดังก้องไปทั่วจนไม่แน่ใจว่าดังมาจากต้นไม้หรือเปล่า

    “แกขำอะไร” เขาถามเสียงขุ่น

    “ก็นายพูดตลกดีนี่ นายบอกว่าศาสนาพุทธสอนให้เท่าเทียม แล้วศาสนาอื่นอย่างคริสต์ไม่เท่าเทียมกันตรงไหน ครั้งหนึ่งเคยมีบาทหลวงมานั่งแถวนี้ เขาพูดเรื่องพระเจ้ารักมนุษย์ทุกคนและสอนให้ทุกคนรักเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน นั่นไม่ใช่ความเท่าเทียมหรือไง”

    เขาเงียบ ไม่ตอบ

    “และฉันก็เคยเจอคนตาบอดมานั่งบ่นน้อยใจว่าไม่สามารถบวชได้ เพราะเกิดมาตาบอด และก็เคยเจอผู้หญิงที่จิตคิดอยากบวชเป็นภิกษุณีแต่ก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่แบ่งแยกอย่างที่นายว่ามาจริง ทำไมถึงบวชให้ชายตาบอดและผู้หญิงคนนั้นไม่ได้ และนายก็บอกว่าเปิดอิสระทั้งที่นายกำลังกีดกันไม่ให้ลูกนายไปนับถือศาสนาอื่นน่ะเหรอ”

    ชายหนุ่มกำหมัด คิ้วขมวดเข้าหากันเป็นปม ปากเม้มแน่นเป็นเส้นตรง ในหัวเต็มไปด้วยถ้อยคำมากมาย แต่ก่อนจะพูดออกไป ลมวูบหนึ่งก็พัดมา ปะทะเข้ากับร่างเขา ความเย็นที่แผ่ซ่านไปทั่วทำให้ใจเขาเหมือนได้รับน้ำดับไฟ

    “ใจเย็น” ต้นไม้เอ่ย “ฉันไม่ได้จะลบหลู่ศาสนานาย ฉันแค่เห็นว่าสิ่งที่นายอ้างมันไม่ถูก ฉันรู้ว่าศาสนาพุทธเต็มไปด้วยคำสอนดีๆ มากมาย แต่ฉันก็ไม่อยากให้นายบังคับลูกชายของนาย”

    เขาเงียบไปสักพักก่อนเอ่ย
    “ฉันไม่ได้บังคับ ฉันแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยน”

    “เรื่องนี้นายรู้อยู่แก่ใจดีแต่นายแค่ไม่ยอมรับ นายลองคิดดีๆ สิ”

    ตอนนี้ชายหนุ่มไม่ได้คิดว่าเขาคุยอยู่กับต้นไม้อีกแล้ว แต่กำลังคุยกับคนๆ หนึ่ง เขารู้สึกเหมือนกำลังถูกจ้องมองลึกเข้ามา แม้จะไม่ได้เข้าใกล้แต่เขาก็เริ่มกลัวว่าต้นไม้จะได้ยินความคิดของเขา

    “นั่นไง นายหนีอีกแล้ว นายรู้ดีแต่นายไม่ยอมรับว่านายเองนั่นแหละเป็นสาเหตุหนึ่งให้ลูกเปลี่ยน”

    “ฉันแค่...” เขาเอ่ยเสียงเบา “ฉันแค่อยากให้เขาบวช ฉันอยากให้ลูกได้บุญ ได้เข้าถึงรสพระธรรม”

    “นั่นไม่ผิด แต่นายไม่ควรไปจู้จี้เขาทุกวัน นายสร้างความอึดอัดให้เขาจนเขาอยากหลุดจากสภาพที่เขาเป็นอยู่ สุดท้ายเขาก็เลือกประชดนายด้วยการเปลี่ยนศาสนา

    นายไม่ควรเอาความคิดนายมายัดเยียดให้ลูก จริงอยู่ตอนเด็กลูกอาจเชื่อตามนายทุกอย่าง แต่เวลาผ่านไป เขาได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น มีความคิดเป็นของตัวเอง เมื่อเขากลายเป็นผู้ใหญ่ นายก็ควรรับฟังความคิดของเขา ไม่ใช่พยายามจูงลูกให้ตามนายมาเหมือนเด็ก

    นายอยากให้ลูกได้บุญ แต่นายไม่คิดบ้างเหรอว่าถ้าเขาไม่เต็มใจทำ มันจะมีประโยชน์อะไร อยากได้บุญก็ทำอย่างอื่นก็ได้ ดูอย่างฉันสิ แค่ยืนเฉยๆ ก็สร้างประโยชน์ให้มากมายเท่าไหร่ ไม่ต้องบวชเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ให้คนมาขูดเลขหวยเลย”

    ชายหนุ่มยิ้มน้อยๆ ให้กับคำพูดของต้นไม้

    “ไอ้บ้า นั่นไม่ได้เรียกว่าบวช”

    “อ้าว เหรอ”
    ชายหนุ่มส่ายหน้าก่อนตัดสินใจเขยิบเข้ามา เอาหลังพิงลำต้นเหมือนที่ทำตอนแรก

    “นายใจเย็นลงมากแล้ว”

    “ก็คงงั้น” เขารับคำ

    “ฉันเป็นต้นไม้ ฉันก็ไม่ได้ถูกหรอก แต่ฉันแค่ไม่อยากให้นายยึดติดมากเกินไป นายมองว่าศาสนาพุทธเลิศเลอจนเหยียดศาสนาอื่น นายมองเห็นข้อเสียในศาสนาอื่น กลับกันคนที่นับถือศาสนาอื่นก็อาจเห็นข้อเสียในศาสนาที่นายนับถือก็ได้”

    เสียงระฆังดังขึ้น ชายหนุ่มผงกหัวขึ้นมา เขากะพริบตามองไปรอบๆ ท้องฟ้าเปลี่ยนสีเข้ายามสนธยาแล้ว แว่วเสียงตีระฆังจากวัดใกล้ๆ เขาเงยหน้ามอง ไม่มีเสียงดังมาจากต้นไม้อีกต่อไป มีแต่เสียงใบไม้เสียดสีกันไปมา เขาค่อยๆ ลุกขึ้นยืน ยังรู้สึกงัวเงียอยู่เล็กน้อย สายลมพัดมาอีกวูบหนึ่ง เขาหันไปมองต้นไม้ใหญ่แล้วยิ้ม ทาบฝ่ามือไปบนเปลือกไม้ขรุขระ เก็บสร้อยพระเข้ากระเป๋ากางเกง มันเป็นสร้อยที่ลูกชายคืนให้เขาตอนที่มาบอกว่าเปลี่ยนศาสนา ตั้งใจว่าจะเอาไปคืนเขา บอกให้เขาเก็บไว้ เป็นของต่างหน้าแทนพ่อตัวเองพอ

    เขากลับหลังหันออกก้าวเดิน ปล่อยความคิดของเขาให้ลอยไป
    ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปตาม สบาย สบาย
    ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปเท่าน้ำใจของมนุษย์ยังมี
    ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปตามภาวะสัมพันธ์ ยังมี [1]


    --------------------------
    [1]บางส่วนจากบทกวีคำซ้ำเรื่อง "ลอย" ใน จ่าง แซ่ตั้ง. คำซ้ำ (ฉบับสองภาษา: ไทย - อังกฤษ)PAMELA ARCHER and GIOVANNI CUTOLO , บรรณาธิการ. แปลโดย MAYARA VISEKUL และ PRAKIN ZUMSAI(อัดสำเนา), 1967-1968.
    [2] กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นนี้
    "ตอนแรกรู้สึกกังวลมากเพราะไม่รู้ว่าจะนำวัตถุดิบมาใช้ยังไง ทั้งกลุ่มต้องขบต้องคิดกันนานมาก แต่ละคนช่วยกันเสนอความคิดและวิเคราะห์จนได้คอนเซ็ปท์ที่เสนอครูไป ตอนนี้ก็ยังคงกังวลอยู่นิดๆ แต่ก็รู้สึกโล่งที่งานเสร็จค่ะ" - บุญฑริกา จิตพินิจกุล

    ---------------------------

    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 

    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุญฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    วัตถุดิบ
    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “ลอย” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “ไม่ใช่ในนามพระเจ้าองค์ใด” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “แม่ดอกกระถินริมรั้ว” ของ รักษิตา
    - คำว่า “เพาะ” ในคลังคำ ของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา

    ---------------------------

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย
    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 

    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์

    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย
    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย 
    - เรื่องสั้น “อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช


    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in