เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ต้นไม้: ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย
  • เรื่องสั้นโดย...ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ ผลงานลำดับที่ 2 ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"  

    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่


    เมื่อสองสามวันก่อนผมกับคุณยายเข้าไปในสวนด้วยกัน ขณะมองไปตามแสงแดดอุ่นอุ่นที่สาดส่องลงมา
    จู่ๆผมก็สะดุดตากับต้นไม้ต้นจิ๋วเพาะอยู่บนกระถางใบขนาดหน้าตัก ภายในอัดแน่นไปด้วยดินมหาศาล
    สารอาหารของพวกมันคงมากจนต้นไม้ต้นนั้นไม่มีวันดูดซึมได้หมดไม่ว่าจะเกิดหรือตายอีกกี่ชาติ
    ด้วยความรู้สึกประหลาดต่อขนาดที่ไม่สมดุลผมจึงกล่าวกับย่าว่า “ต้นไม้ต้นนี้เล็กเกินไปที่จะอยู่ในกระถาง”


    แต่ย่ากลับสวนอย่างทันควันว่า “กระถางต่างหากที่ใหญ่เกินกว่าที่ต้นไม้ควรจะอยู่”
    เมื่อความคิดล่องลอยไปก็ทำให้ผมคิดขึ้นได้ว่าร่างกระจิริดของต้นไม้ในกระถางก็เหมือนผมในวันที่เป็นเด็กอ้อแอ้และรู้สึกว่าบ้านคืออาณาจักรไร้ขอบเขต แม้แต่เพียงห้องๆหนึ่งก็รู้สึกว่ากว้างเกินกว่าจะคลานต้วมเตี้ยมได้ทั่ว


    นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมต้องหัดนับเลข ออกเสียง หรือพูดตามคนที่สอนให้ผมเรียกพวกเขาว่า
    “ผู้ใหญ่” เพียงเพราะพวกเขาสามารถบอกผมได้ว่านี่คือ “บ้าน”ไม่ใช่ดินแดนในจินตนาการอันไร้พรมแดนอย่างที่ผมเคยเข้าใจ



    กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ประทับใจและทำให้เด็กอย่างเราๆฉีกยิ้มกว้างได้เสมอคือการร้องเพลง
    โดยเฉพาะเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีที่ได้ฟังทีไรก็อดไม่ได้ที่จะยกนิ้วขึ้นมานับว่ามีคุณสมบัติสักกี่ข้อ
    คงเป็นเพราะท่อนแรกที่ขึ้นต้นว่า “เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน” จึงทำให้ผมพยายามเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ พูดจาอ่อนหวาน มีความกตัญญู รวมทั้งทำสิ่งสารพัดตามแต่เนื้อเพลงจะรังสรรค์ไว้ เพื่อจะได้ยืนยันกับใครต่อใครว่าผมเป็นเด็กดี


    แต่กาลเวลาที่ผ่านไปก็ทำให้ต้นไม้เติบโตพอที่กิ่งก้านจะปกคลุมกระถางหรือบางครั้งก็กว้างกว่านั้น
    จนกระทั่งมันมองเห็นขอบกระถางที่โอบล้อมร่างของมันไว้ เป็นเวลาเดียวกันที่ผมสังเกตเห็นความย้อนแย้งที่แสนจะกลมกลืนอย่างน่าประหลาด


    ข่าวเยาวชนถูกจบเนื่องจากทำความผิดตามกฎหมายคงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
    เพราะพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นจะบอกนักข่าวว่าลูกของตนเป็นเด็กดีมาตลอด ในขณะที่สังคมประณามว่าชั่วช้าสิ้นดี ผมได้แต่สงสัยว่าทำไมเด็กที่ปฏิบัติตัวตามเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีกลับไม่ใช่เด็กดีของสังคมอย่างที่เคยเข้าใจ


    เมื่อลองหาความหมายของคำว่า “เด็กดี” ตามสังคมออนไลน์ก็พบนิยามที่เยอะแยะไปหมด
    มิหนำซ้ำแต่ละนิยามก็แตกต่างกันจนแทบจะขัดแย้งกันเสียเอง นั่นทำให้ผมเห็นว่าจริงๆแล้วความเป็นเด็กดีไม่ได้เที่ยงตรงเหมือนไม้บรรทัด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ตั้งนิยามและคนเหล่านั้นชอบพฤติกรรมแบบไหน เด็กดีก็จะมีลักษณะเช่นนั้น


    ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่คนร้องเพลง เด็กเอ๋ยเด็กดี หลงลืมไปก็คือยิ่งเราสร้างภาพของเด็กดีมากเท่าไหร่
    เราจะสร้างเด็กไม่ดีมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่าการสร้างอัตลักษณ์ของสิ่งใดก็ตาม คือ
    การนิยามว่าสิ่งนั้นเหมือนกับอะไรและต่างกับอะไร เช่น การนิยามว่าเด็กดีต้องมีคุณสมบัติที่เหมือนกัน 10 ข้อ และแตกต่างกับเด็กที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ จึงเป็นการแบ่งแยกเด็กที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวว่าเป็นเด็กไม่ดี เพลงที่ผมเคยมองว่ามีหน้าที่ในการสร้างเยาวชนชั้นเลิศกลับกลายเป็นเพลงขีดเส้นแบ่งความดีของเด็กได้อย่างแยบยลที่สุด




    ไม่เพียงแต่ความคิดที่มีต่อบรรทัดฐานภายในบ้านเท่านั้นที่เปลี่ยนไป เมื่อมองกว้างออกมาผมเห็นธงสามสีหยัดอยู่บนเสาคอยโบกพัดไปตามสายลมเย็นๆราวกับกำลังปัดเป่าศัตรูของชาติให้พ้นออกไป ธงชาติจึงเป็นตัวแทนของพวกเราในฐานะผู้ธำรงความเป็นชาติ


    ยังจำความได้ว่าภาพในวัยเด็กที่ยังคงติดตาผมเสมอคือช่วงเวลาหกโมงเย็นที่คนทุกคนไม่ว่าจะกำลังพูดคุยกัน เดินเล่น หรือแม้แต่เด็กที่กำลังวิ่งกันอย่างสนุกสนานก็ต้องหยุดนิ่งราวกับถูกแช่แข็ง
    เพราะเราทุกคนกำลังสดุดีคุณค่าสูงสุดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเราไว้
    หากใครทะเล่อทะล่าทำกริยาต่างๆในเวลานั้นสายตาทุกคู่จะจับจ้องทุกอากัปกริยาเพื่อประณามให้คนเหล่านั้นรู้ว่าพวกเขาไม่ให้เกียรติธงที่ปลิวไสวเหนือศีรษะแม้แต่น้อย


    นั่นทำให้เด็กรักชาติอย่างผมพยายามทำสิ่งเดียวกันเพื่อตักเตือนคนอื่นๆให้ตระหนักถึงการกระทำอันไร้จิตสำนึกของพวกเขา ทุกเช้าตอนเข้าแถวผมมักจะมองหาเพื่อนที่พูดคุยกันอย่างครึกครื้นในขณะที่ทุกคนกำลังเคารพธงชาติด้วยสำนึกอันสุดซึ้ง ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าในอนาคตคนเหล่านั้นสามารถทรยศใครต่อใครก็ได้ เพราะแม้แต่ความจงรักต่อชาติพวกเขาก็ยังไม่มี


    แต่แล้วผมก็ต้องรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าเมื่อความเชื่อที่ฝังรากลึกถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง มีชายคนหนึ่งตั้งคำถามกับผมหลังจากที่ผมเล่าความคับแค้นต่อคนที่ไม่เคารพธงชาติให้ฟังว่า “ระหว่างคนที่ไม่เคารพธงชาติกับคนที่ฆ่าคนตาย ใครทำลายชาติมากกว่ากัน” หลังจากได้ยินคำถามผมตอบอย่างทันควันว่า “คนไม่เคารพธงชาติ” และเสริมเหตุผลว่าคนที่ไม่เคารพธงชาติแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความประสงค์ด้วยพฤติกรรม ส่วนคนฆ่าคนตายก็เป็นแค่ผู้กระทำผิดคนหนึ่งซึ่งอาจมีสำนึกรักชาติก็ได้


    เมื่อฟังจบชายคนนั้นก็ถามคำถามผมอีกสารพัดเกี่ยวกับความหมายของ “ชาติ” ทันใดนั้นผมก็บอกเขาว่าผมขอเปลี่ยนคำตอบ ผมมองว่าการฆ่าคนเป็นการทำลายชาติที่ร้ายแรงกว่าการไม่เคารพธงชาติ
    เพราะการฆ่าคนไม่ใช่แค่การสังหารปัจเจกของบุคคล แต่เป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างชาติให้พัฒนา ในขณะที่การไม่เคารพธงชาติเป็นการกระทำที่มองไม่เห็นเหตุจูงใจที่แท้จริง เช่น คนๆนั้นอาจจะมีธุระสำคัญจึงไม่สามารถหยุดเคารพธงชาติได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงคนๆนั้นอาจมีความรู้สึกรักชาติอยู่เปี่ยมล้น การไม่เคารพธงชาติจึงไม่ใช่การทำลายความเป็นชาติที่แท้จริง
    แต่การกระทำผิดต่อประชาชนในชาติที่ผมเคยมองข้ามหลายๆอย่างต่างหากที่เป็นฆาตกรต่อชาติ




    กระแสน้ำเปลี่ยนใจปลาได้ฉันใด กระแสเวลาก็เปลี่ยนใจคนได้ฉันนั้น เมื่อความคิดของผมเติบโตขึ้น
    เหมือนกับต้นไม้ที่หยัดรากลงดินและแผ่กิ่งก้านสาขาอย่างกว้างขวาง ผมก็มองบรรทัดฐานอันเปรียบเสมือนกระถางต้นไม้เปลี่ยนไปทุกขณะ จากต้นไม้ต้นเล็กๆที่อยู่ภายใต้อาณาบริเวณของกระถางตลอดเวลา ก็เติบโตขึ้นจนมองกระถางได้รอบด้าน และเข้าใจว่าในอดีตต้นไม้ต้นนี้เล็กเกินไปสำหรับกระถางใบใหญ่ แต่ก็ไม่แน่ว่าหากผมอายุเท่ากับคุณยายผมอาจจะกลับมามองต้นไม้ต้นนี้แล้วพูดว่า “กระถางใบนี้ใหญ่เกินไปสำหรับมัน”


    ----------------------

    กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นนี้

    "รู้สึกท้าทายมากเพราะไม่เคยทำงานที่ต้องนำองค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาเขียนงานแบบนี้ คิดว่าการใช้วิธีนี้เป็นการฝึกการเขียนได้ดีอีกแบบหนึ่ง" - ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์

    ------------------------

    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 

    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุญฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น  “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    วัตถุดิบ
    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “ลอย” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “ไม่ใช่ในนามพระเจ้าองค์ใด” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “แม่ดอกกระถินริมรั้ว” ของ รักษิตา
    - คำว่า “เพาะ” ในคลังคำ ของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา
    ------------------------

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย
    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 

    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์

    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย
    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย 
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช


    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in