พบพื้นที่เสพศิลป์แปลกใหม่ เมื่อนิทรรศการศิลปะถูกจัดขึ้นใน 'สลัม'

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปเดินเสพงานศิลปะอยู่บ้าง ส่วนมากเป็นการเดินชม ทักทายกับคนรู้จักในวันเปิดงาน ถ่ายรูปเซลฟี่เล็กๆ น้อยๆ และด้วยความถี่ของกิจกรรมทางด้านศิลปะบ้านเรา ที่บางวันมีถึงสามสี่งาน ก็ทำให้ผมใจชื้นได้ว่า บ้านเมืองเราก็มีความสนใจด้านสุนทรียภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก จนมาเจอข่าวการจัดแสดงงานของ Jorge Mañes Rubio (ศิลปิน) และ Amanda Pinatih (นักประวัติศาสตร์ศิลปะ) ที่ทั้งสองจัดแสดงงานในชื่อ Design Museum Dharavi และงานนี้จัดขึ้นที่ 'ธาวารี' สลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก




ทำไมงานศิลปะมันต้องไปจัดที่สลัม? ไอ้สองคนนี้ต้องเป็นฮิปสเตอร์แน่นอน อยากสร้างความต่าง ทำสวนกระแสแอนตี้สังคม (อยากเท่อะดิ) แต่หลังจากที่ผมได้เข้าเว็บไซต์ designmuseumdharavi.org ของพวกเขา ก็เจอข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับแนวคิดที่ทำให้พวกเขาเลือกสถานที่นี้
ธาวารีเป็นชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นเอง ณ เมืองมุมไบ อินเดีย อายุกว่า 60 ปี มีประชากรกว่าล้านคน และไม่น่าเชื่อว่า สลัมแห่งนี้ทำรายได้ต่อปีจากงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมกว่า 650 ล้านดอลลาร์ฯ นี่คือสถานที่ที่ไม่มีการวางผังเมือง การเจริญเติบโตเกือบทั้งหมดมาจากการอพยพเข้ามาของคนยากจน คนที่โดนกดขี่ทางสังคมและการเมือง ที่นี่จึงมีการผสมผสาน พึ่งพาอาศัย และมีความเป็นอยู่หลายหลากน่าสนใจ



ทั้งสองยังกล่าวว่า แต่เดิมทางตะวันตกใช้พิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงถึงความมีอำนาจ และเป็นหน้าตาของประเทศ พิพิธภัณฑ์ถูกตั้งไว้ในฐานะ 'วิหารแห่งวัฒนธรรม' ที่เน้นโชว์ความสูงส่งด้านสุนทรียภาพ ภาพจำของมันคือ สิ่งใดอยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งล้ำค่า แต่เขาทั้งสองมองว่า การจัดแสดงงานในสลัม จะเป็นการพัฒนาความเป็นไปรูปแบบอื่นของการจัดแสดงศิลปะ ด้วยพื้นที่ใหม่ๆ และผู้ชมที่แตกต่างออกไปในหลายมิติ



Design Museum Dharavi เริ่มด้วยแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ซึ่งคล้ายรถเข็นที่เข้าถึงสถานที่ต่างๆ ในชุมชนได้ง่ายและเป็นมิตรกับผู้คน สิ่งที่จัดแสดงไม่ได้ล้ำค่าอะไร เป็นแค่ ถ้วย ชาม หรือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทั้งสองคนได้ร่วมออกแบบ และร่วมทำกับช่างฝีมือในท้องถิ่น ซึ่งพวกเขาก็พบวิธีการทำงานที่น่าสนใจมากมายจากช่างฝีมือเหล่านี้ เช่น "ช่างฝีมือท้องถิ่นจะไม่วาดมันออกมา แต่ออกแบบมันด้วยหัวใจ" และทั้งสองเพิ่มวิธีเชิญชวนผู้คนด้วยการจัดการแข่งขันคริกเก็ต ซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของคนในพื้นที่ โดยออกแบบไม้ตีคริกเก็ตและอุปกรณ์อื่นๆ ขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเวิร์กช็อปเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ และการส่งงานไปยังผู้บริโภค เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่ช่างฝีมือเหล่านี้ในอนาคต



การทำพิพิธภัณฑ์ของเขาสองคน ไม่ใช่แค่การโชว์ หรือแสดงมุมมองจากด้านใดเพียงด้านเดียว แต่เป็นการนำวัฒนธรรมของพื้นที่ที่ใช้จัดแสดง ออกมาสู่สายตาของชาวโลก โดยไม่ได้มุ่งเน้นว่าศิลปะชิ้นนั้นๆ สวยงามเพียงใด แต่กลับมองว่า ศิลปะนั้นทำอะไรให้แก่ชุมชนได้บ้าง



หลังอ่านเรื่อง Design Museum Dharavi  ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่า มันคงยากเหมือนกันที่จะจัดแสดงศิลปะในชุมชนแออัดบ้านเรา ลองคิดดูสิครับว่าศิลปินจะขายงานแพงๆ ได้อย่างไร ในเมื่อคนที่มาดูงานไม่ค่อยมีเงินนัก เวลาเซลฟี่ฉากหลังก็คงไม่สวย รองเท้าคู่โปรดของเราก็คงเลอะไม่มีชิ้นดี จะเชิญเซเลปมาสลัมก็คงยาก เอาเป็นว่า ทิ้งความคิดแบบนี้ แล้วไปหาซื้อเบอร์เกอร์อร่อยๆ ในงานตลาดนัดศิลปะครั้งหน้าดีกว่า