"ฟิตเนสเคลื่อนที่" ธุรกิจสำหรับคนอยากสุขภาพดี๊ดีแต่ไม่อยากเดินทางไกล จากนิวยอร์ก

        ในยุคที่คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพกันอย่างแข็งขัน ธุรกิจอย่างฟิตเนสจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทว่าฟิตเนสทั่วไปอาจไม่น่าสนใจในเมืองที่หันไปทางไหนก็มีแต่ธุรกิจแบบเดียวกัน—แล้วอะไรคือเคล็ดลับทำให้ฟิตเนสต่อไปนี้แตกต่างในเส้นทางธุรกิจสายสุขภาพที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน 
        


        “Here today, gone tomorrow”
        คือคอนเซปต์ของธุรกิจฟิตเนสชื่อ KiwiSweat ซึ่งเกิดอยากสร้างความตื่นเต้นให้กับคลาสเรียนออกกำลังกาย ด้วยการดีไซน์ให้ฟิตเนสเป็นแบบป๊อปอัพสโตร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายสถานที่จัดกิจกรรมในแต่ละวันไปรอบเมืองนิวยอร์ก แถมคลาสเรียนออกกำลังกายยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น วันนี้เป็นคลาสจักรยาน พรุ่งนี้เป็นคลาสโยคะ สับเปลี่ยนสร้างความหลากหลายในทุกวัน
        ต้นทางของไอเดียดังกล่าวเกิดจากสองผู้ก่อตั้ง Thomas และ Pan Graf คิดอยากลงทุนเปิดฟิตเนสร่วมกัน แต่พบว่าค่าเช่าในนิวยอร์กนั้นแพงมหาโหด ขณะเดียวกันพวกเขาก็พบว่าปัจจุบันคนมักมีปัญหาในการใช้บริการฟิตเนส เพราะจำต้องเลือกเป็นสมาชิกในสาขาใกล้ที่พักอาศัยเท่านั้น แถมยังต้องเจอกับคลาสออกกำลังกายรูปแบบเดิมๆ อันแสนจำเจซะอีก 
        สุดท้ายทั้งสองจึงลงความเห็นกันว่าธุรกิจฟิตเนสแบบป๊อปอัพสโตร์นี่แหละตอบโจทย์ทั้งตัวเจ้าของธุรกิจและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพราะเปิดโอกาสให้ลูกค้าใช้บริการได้แบบยืดหยุ่น ผ่านการให้ฟิตเนสเคลื่อนที่เข้าหา เช่น การเคลื่อนที่ฟิตเนสไปเปิดยังย่านสตรีทฟู้ดหรือสวนสาธารณะ ซึ่งเข้าถึงกลุ่มตลาดหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการทุ่มเงินโฆษณาเพื่อจูงใจลูกค้าให้ลุกออกจากโซฟามาออกกำลังกายอย่างในอดีต 
        โดยกลุ่มเป้าหมายที่ KiwiSweat วางไว้ก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุราว 20 ผู้รักสุขภาพและชอบเปิดประสบการณ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบอกเลยว่าการเจาะตลาดนี้นั้นไม่ง่าย ยิ่งในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กยิ่งต้องอาศัยความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ในการสร้างธุรกิจขึ้นมาให้น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมของนิวยอร์กเกอร์นั้นไม่ชอบความจำเจ ทั้งยังรักความคล่องตัวแบบสุดๆ 
        หากวิเคราะห์ในด้านการตลาด สิ่งที่ทำให้ KiwiSweat เจ๋งก็คือ การทำให้ฟิตเนสไม่เป็นเพียงกิจวัตรประจำวัน แต่เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว พร้อมความรู้สึกว่า ‘พลาดไม่ได้’ หรือ ‘พลาดวันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่มีแล้ว’ ซึ่งทำให้ธุรกิจมีมูลค่ามากขึ้นหลายระดับ—ทว่าแม้ไอเดียธุรกิจนี้จะแปลกใหม่น่าตื่นเต้น แต่อีกมุม การวางตัวเป็นแรร์ไอเทมก็ทำให้ขาดลูกค้าประจำที่จะทำรายได้ให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายต้องปิดกิจการลงอย่างน่าเสียดาย  

เนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Brandish ในนิตยสาร giraffe ฉบับที่ 41 ติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ readgiraffe