พบกับพลังแห่งสีรุ้ง เมื่อดอกไม้เบ่งบานในงาน LGBT Pride

แม้เหตุการณ์ในออร์แลนโดจะยังสะเทือนใจเราอยู่เสมอ แต่เชื่อว่าชาว LGBT จะยังคงยืนหยัดสู้ต่อ และแฟชั่นการแต่งกายก็เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือชั้นดี เช่นแคมเปญโฆษณาส่าหรีในอินเดีย จนถึงแฟชั่นตระการตาในงาน LGBT Pride ที่จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ บนโลกตลอดเดือนมิถุนายนนี้


 


เราเห็นนางแบบข้ามเพศเช่น Andreja Pejic, Hari Nef หรือ Lea T รวมถึง Sarina Thai นางแบบจากไทยเราเอง ที่ได้แสดงตนบนพื้นที่ยิ่งใหญ่ในวงการแฟชั่น อาจไม่แปลกที่เราจะเห็นแบรนด์เล็กใหญ่เริ่มกระจายพื้นที่ให้กับความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติและเพศสภาพ แต่มันช่างแปลกใหม่ชวนยินดี เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย


เรื่องราวก็คือ แบรนด์ Red Lotus ในรัฐ Kerala ทางใต้ของอินเดีย ใช้นางแบบข้ามเพศคือ Maya Menon กับ Gowri Savithri โปรโมทคอลเลคชั่นชุดส่าหรีที่มีชื่อว่า Mazhavil ที่แปลว่าสายรุ้ง และภาพของพวกเธอก็ถูกแชร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลตอบรับดีจนเป็นที่สนใจของสื่อใหญ่ๆ ทั้ง BBC, The Guardian และอื่นๆ


นี่เป็นครั้งแรกที่หญิงข้ามเพศอินเดียได้ยืนหยัดบนพื้นที่สื่อ ซึ่งนางแบบ Menon กล่าวว่า “ฉันไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสวยมาก่อน การถ่ายแบบครั้งนี้ทำให้ฉันมั่นใจและกล้าเปิดเผยสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น”


Sharmila Nair ดีไซเนอร์สาวผู้ก่อตั้งแบรนด์ ระบุว่าในอินเดียมีผู้หญิงข้ามเพศถึง 1.9 ล้านคน ซึ่งพวกเธอยังคงต้องหลบซ่อนตัวเองและถูกกดขี่ทั้งในสังคมและที่ทำงาน ซึ่งแม้แฟชั่นของเธอจะไม่อาจทำลายอคติในสังคมชายเป็นใหญ่ของอินเดียได้หมด แต่อย่างน้อยก็ได้ปักหมุดหมายในความรับรู้ของพวกเขาแล้ว เป็นก้าวแรกที่ดีที่จะขยายพื้นที่ของเพศทางเลือกในอินเดียออกไปได้ในอนาคต





เมื่อพูดถึงพื้นที่สื่อที่มีคนอื่นหยิบยื่นให้ เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้คงไม่ได้ เพราะชาว LGBT เขาก็สร้างพื้นที่ทางการแสดงออกให้ตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่มีโอกาสไหนเหมาะที่จะเล่าเท่าตอนนี้แล้ว เพราะเดือนมิถุนายนคือเดือนแห่ง Gay pride ซึ่งตลอดทั้งเดือนจะมีเทศกาลพาเหรด LGBT pride ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก โดยพวกเขาพรั่งพร้อมกับแต่งตัวแฟนซีเดินแสดงพลังกันอย่างอลังการสะท้านโลก


เหตุที่ต้องเป็นเดือนนี้ก็เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลนองเลือดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่ตึก Stonewall Inn ในย่านแมนฮัตตัน กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนักเคลื่อนไหวเพศที่สามในยุคนั้น ซึ่งในช่วงปี 50s-60s สหรัฐมีกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศที่เคร่งครัด ทำให้ตำรวจต้องออกปราบปรามอยู่เนืองๆ และผู้คนที่ Stonewall ก็ออกมาต่อสู้อย่างกล้าหาญในวันนั้น สร้างพลังใจเป็นที่จดจำจนวันนี้


ในไทยเราเองยังไม่มีงาน LGBT pride ให้เห็น แต่หากจะหาที่ใกล้เคียงก็อาจเป็นปาร์ตี้ของกลุ่ม Trasher และการแต่งตัวไปร่วมงานก็เป็นพลังสำคัญในการประกาศตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราสามารถสวมชุดเซเลอร์มูน หรือแต่งเป็นบริทนีย์ สเปียร์ในเพลง Oops! I did it again เดินเข้าไปในเซ็นทรัลเวิร์ลได้แบบไม่ต้องแคร์ใคร เพราะรู้ว่ามีคนที่เชื่อแบบเดียวกันรออยู่ที่ฮอลล์ใหญ่ด้านบน


พวกเขาแต่งตัวกันอย่างจี๊ดจ๊าดบานสะพรั่ง ข้อหนึ่งอาจเพื่อให้ทุกคนเข้ามาสนุกด้วยกัน พร้อมเปิดรับกันมากขึ้น เพราะแท้จริงไม่ว่าเพศใดก็มีสิ่งที่ถูกกดทับไว้และอยากปลดปล่อยเต็มแก่เหมือนกัน แน่นอนว่างาน LGBT pride ใหญ่ๆ เช่นที่ซานฟรานซิสโกหรือโตเกียว คนที่เป็น Straight ก็เข้าไปร่วมวงอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ ของเขา เป็นพื้นที่ละลายความแตกต่างได้ดีทีเดียว


ดังนั้นทั้งภาพสุดเหวี่ยงในงานแฟนซี กับภาพโก้ๆ ในงานแฟชั่น ทั้งสองสิ่งประกอบกัน ก็อาจช่วยส่งผ่านความหมายใหม่และขยับขยายพื้นที่ของพวกเขาออกไปได้เรื่อยๆ  


แต่หลายครั้งการแต่งกายของ LGBT บางกลุ่ม เช่นความโป๊เปลือย (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด) ก็ทำให้เกิดภาพอีกอย่างหนึ่งกลายเป็นสเตอริโอไทป์ในสังคม เช่นเดียวกับแฟชั่นในงาน LGBT Pride เองก็มีชาวรักร่วมเพศหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะมันแสดงออกมาแต่ภาพของความหลุดโลกที่เบนออกจากความ ‘ปกติ’ และจำกัดให้พื้นที่ของพวกเขาอยู่ได้แค่ตรงนั้น ไม่อาจกลืนเข้ากับสังคมได้อย่างสนิทแน่น


จึงเป็นอีกครั้งที่การแต่งตัวกลายเป็นเครื่องไม้เคาื่องสำคัญที่ประมาทไม่ได้เลย