ขอเปิดเรื่องนี้ด้วยข้อความในอีเมลที่ว่า "ทีมงานอยากให้เขียนถึง MAY 18" อืม (คิดแป๊ปนึง) ก็ได้ครับ ผมตบปากรับคำแบบงงๆ และขอออกตัวแรงๆ ก่อนเลยว่า ผมแทบไม่มีองค์ความรู้ด้านการเมือง และการเขียนเรื่องแบบนี้ก็มีความเสี่ยง แม้เราจะอยู่ในประเทศที่อ้างว่าทุกคนมีสิทธิในการแสดงออก
ก่อนทำการเขียน ผมจึงตามอ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องนิทรรศการ The Truth - to Turn It Over อย่างเมามัน และพบว่า มันคืองานที่เกาหลีใต้จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 1980 ( MAY 18 ) เป็นเหตุการณ์ที่ชาวเกาหลีใต้ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
โดยในงานนี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับผลงาน Thai Uprising/มวลมหาประชาชน ของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ทั้งการตำหนิไปทางภัณฑารักษ์ผู้คัดเลือกศิลปิน, การอยู่ผิดที่ผิดทางของงานศิลปะ, การที่อาจารย์สุธีดูจะ take side ข้างใดข้างหนึ่งจนถึงขั้นว่า งานชิ้นนี้บิดเบือนมุมมองด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอีกมาก
โดยขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ มีการส่งรายชื่อคัดค้านไปยังคณะกรรมการดูแลนิทรรศการกว่าสองร้อยรายชื่อ ด้วยความที่งานชุดนี้มันดูจะส่งเสริมการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนำมาสู่การรัฐประหาร (เพราะถูกสร้างขึ้นในช่วงการร่วมตัวของกลุ่ม กปปส.) แต่นิทรรศการนี้เป็นการระลึงถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งดูจะขัดแย้งกัน
แน่นอนว่างานชุดนี้ก็เป็นการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นจริงในมุมหนึ่งของวิกฤตทางการเมืองไทย แต่ในข้อถกเถียงมากมาย สิ่งที่ผมกล้าหยิบขึ้นมาพูดถึงก็คงเป็นเรื่องการอยู่ผิดที่ผิดทาง
ในบ้านเรามีสิ่งผิดที่ผิดทางอยู่มาก แต่งานเซ็ตนี้มันเป็นเรื่องการเมืองที่มีผลกระทบกับคนหลายกลุ่ม ความผิดที่ผิดทางนี้เลยถูกจับตามองเป็นพิเศษจนเป็นปัญหาขึ้น
ความคิดเห็นอีกมุมหนึ่งที่ว่า 'ศิลปะควรวางตัวอยู่เหนือการเมือง' ก็น่าคิดครับ ถ้าเช่นนั้น ศิลปะวางตัวอยู่เหนืออะไรได้อีกบ้าง อยู่เหนือศาสนาไหม อยู่เหนือเศรษฐกิจหรือไม่ อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรหรือเปล่า (ปัดโถ่)—ถ้าการวางศิลปะอยู่เหนือการเมืองหมายถึงศิลปะและการเมืองไม่เกี่ยวกัน อันนี้ผมไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างแค่ว่าในงาน MAY 18 นี้ ทางเจ้าภาพเขาจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แค่นี้มันก็เกี่ยวกันแล้ว ไม่ต้องยกประวัติศาสตร์ศิลปะมาให้ปวดสมอง (ปัดโถ่)
ขออภัยที่ไร้สาระมาหลายย่อหน้า ผมเองคงไม่กล้าฟันธงว่าใครผิดใครถูก แต่สิ่งที่น่าสนใจในข้อถกเถียงนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือตำแหน่งของการวางศิลปะ แต่คือการที่ศิลปะสร้างเสียงสะท้อน และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย ศิลปะยังเป็นเครื่องมือในการสะท้อนความคิดชั้นดี ในเรื่องความขัดแย้งทั้งในบ้านเราและทั้งโลก ศิลปะมีบทบาทเสมอไม่มากก็น้อยในการบอกเล่า จดบันทึก และระลึกให้เราจดจำในสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงอย่างไร ศิลปะได้ทำหน้าที่ของไปมันแล้ว ถึงแม้มันจะอยู่ผิดที่ผิดทางจริง อย่างน้อยมันก็ยังมีหน้าที่ โดยการบอกว่ามันอยู่ผิดที่นะ
ถ้าความผิดที่ผิดทางมันส่งผลกับจิตใจคนขนาดนี้ ผมคิดว่าพวกเราทุกคนก็ควรทบทวนตัวเองบ้างเหมือนกันว่า พวกเราทำอะไรที่ผิดที่ผิดทางบ้างไหม หรือกำลังมีอะไรในสังคมที่อยู่ผิดที่ผิดทางหรือเปล่า แล้วเราจะเรียกร้องหรือท้วงติงสิ่งต่างๆ นั้นอย่างไร เพราะผมเชื่อว่าในสังคมเรายังมีอะไรผิดที่ผิดทางอยู่พอสมควร และที่น่าเศร้าใจคือ สิ่งที่ผิดที่ผิดทางบางอย่างก็ท้วงติงไม่ได้เสียด้วย