"งานออกแบบไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต" "งานออกแบบเป็นของฟุ่มเฟือย" "งานออกแบบมีไว้ให้นายทุนกับคนรวย" ผมได้ยินประโยคประมาณนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานออกแบบ น่าแปลกที่มันมักมาจากคนที่ประกอบอาชีพทางด้านออกแบบเอง ขณะรับฟังประโยคเหล่านี้ผมก็ได้แต่พยักหน้า และเลือกที่จะอมความเห็นของตัวเองไว้ในปาก เพราะไม่อยากไปขัดอารมณ์ใคร แต่ในใจก็ยากที่จะยอมรับว่า อาชีพที่ตัวเราอดหลับอดนอนทำมาเป็นสิบปีจะไร้ประโยชน์ และวันนี้ผมจะมาขอแก้ตัวแทนอาชีพของผมสักหน่อย
ขอยกตัวอย่างงานที่ผสมผสานการออกแบบและพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือโปรเจกต์ 'Fast Food Aid' ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โปรเจกต์นี้ทำมาเพื่อตอบสนองสังคมปัจจุบันที่ผู้คนหันมากินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น นำเสนอผ่าน pop-up shop ที่เปิดชั่วคราวในย่านฮาราจูกุ ลักษณะคล้ายกับห้องทดลองเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยขวดวิตามินมากมาย โดยกระบวนการของมันจะเริ่มจากการที่พนักงาน (เภสัชกร) จะสอบถามว่า ช่วงนี้คุณทานฟาสต์ฟู้ดอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงให้คำแนะนำว่า คุณอาจมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไร และให้วิตามินไปทานแบบฟรีๆ
ซึ่งส่วนมากผู้ที่มาใช้ Fast Food Aid ก็ต้องช็อกกันเกือบทุกราย เมื่อได้ฟังความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่เกิดจากการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด และได้รับวิตามินบำรุงร่วมสิบชนิด จากการสัมภาษณ์หลังจบขั้นตอนต่างๆ มีผู้ที่เข้ามาที่ Fast Food Aid แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเองถึง 92%
จริงๆ แล้ว Fast Food Aid เป็นโปรเจกต์ที่เกิดจากการทำโฆษณาของร้านพิซซ่าโอโคโนมิยากิร้านหนึ่ง
ซึ่งอ้างว่าโอโคโนมิยากิมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน
ซึ่งถ้าอยากโฆษณาร้านแบบไม่คิดอะไรมาก
เจ้าของแบรนด์หรือนักออกแบบก็น่าจะสร้างโฆษณาไปตรงๆ เลยว่า "ของของฉันดีและมีประโยชน์ที่สุด" …แต่ใครจะเชื่อ
ใครจะสนใจ ใครจะได้ประโยชน์ และโปรเจกต์ก็เลือกที่จะทำอะไรที่มากกว่านั้น
ซึ่งกลายเป็นงานที่มีประโยชน์กับผู้บริโภคมากขึ้น
แม้งานชิ้นนี้จะเข้าค่ายยกตนข่มท่านไปสักนิด (คือบอกว่าของตัวดี๊ดีไรงี้) แต่ที่ผมยกตัวอย่างงานชิ้นนี้ เพราะชอบการคิดที่มาจากพฤติกรรมของคนในสังคม และทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในด้านสุขภาพ ต้องบอกก่อนว่าคนที่เข้ามาใน Fast Food Aid ไม่ใช่คนที่ไม่มีความรู้นะครับ คนเหล่านี้ก็เหมือนพวกเราทุกคนนี่แหละ คือรู้ว่าฟาสต์ฟู้ดไม่ดี รู้ว่าควรกินอาหารให้ครบห้าหมู่ รู้ว่าควรพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ไม่ทำ ผมว่าการที่เราพบเจออะไรบางอย่างที่กระตุ้นเตือนเราให้ทำในสิ่งที่ควรทำ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี
ฉะนั้น งานออกแบบจะสำคัญแค่ไหน มีประโยชน์กับสังคมจริงแท้ประการใด มันอยู่ที่ผลงานแต่ละชิ้นทำหน้าที่อย่างไรต่างหาก—งานออกแบบก็เหมือนทุกอย่างบนโลกที่มีสองด้าน อยู่ที่คุณจะใช้ด้านไหนของมัน ในยุคสมัยที่ความเก๋ไก๋ละลานตาเกลื่อนเมืองไปหมดเช่นนี้ จะดีกว่าไหม ถ้าผลงานของเรามีอะไรมากกว่านั้น และถ้าสิ่งนั้นทำให้ชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคมดีขึ้น ประโยคที่ว่า "งานออกแบบไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต" อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้นะ