ฟีเจอร์ 'I Voted' อำนาจมหาศาลเมื่อโซเชียลมีเดียร่วมขับเคลื่อนการเมือง

ปี 2010 เฟซบุ๊กทำหน้าที่พลเมืองดีด้วยการออกฟีเจอร์ชักชวนให้คนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มันดูเป็นฟีเจอร์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร นั่นคือหากคุณเป็นพลเมืองอเมริกันที่ไปทำหน้าที่ลงคะแนนแล้ว คุณก็แค่คลิกปุ่มที่บอกว่า I Voted แล้วเฟซบุ๊กก็จะนำข้อความนั้นไปชักชวนเพื่อนของคุณ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า 'ฟีเจอร์เล็กๆ' นี้ ทำให้มีพลเมืองอเมริกันไปลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น 340,000 คน 




หลังจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น เฟซบุ๊กก็ยังทำหน้าที่พลเมืองดีต่อมาเรื่อยๆ ด้วยการออกฟีเจอร์อย่างเดียวกันในปี 2012 และเป็นไปได้ว่าในปีนี้ ในวันเลือกตั้งของสหรัฐฯ เฟซบุ๊กก็อาจนำฟีเจอร์นี้กลับมาอีก
การส่งเสริมประชาธิปไตยนั้นดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องเถียง แต่ในมุมกลับ มันก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจของโซเชียลมีเดียเหมือนกันว่า มัน 'ดัน' หรือ 'ดล' ใจเราในจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจไม่สังเกต แต่ก่อให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ได้แค่ไหน
จากงานวิจัยครั้งหนึ่งของ Robert Epstein ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาบอกว่า “อัลกอริธึมจัดเรียงผลการค้นหาของกูเกิลนั้นอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ได้มากถึง 20% และผลอาจสูงถึง 80% ในบางกลุ่มประชากร โดยที่ไม่มีใครสามารถรับรู้ได้เลยว่าตนเองกำลังถูก ‘หลอกลวง’ อยู่” 
จากผลสรุป ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่แค่อานุภาพของการดันหรือการดลของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ หรอก แต่เป็นความสามารถในการดันผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้ 'โดยที่ไม่มีใครรู้' ต่างหาก 
ต้องยอมรับนะครับว่าในปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจของคนมาก ไม่ต้องไปไกลขนาดเรื่องเลือกตั้งหรอก  ขนาดแค่เรื่องจะกินอะไรสักมื้อ หากเพื่อนในโซเชียลมีเดียโพสต์ขึ้นมาสักหน่อยว่าร้านนั้นร้านนี้อร่อย เท่านี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจแล้วใช่ไหมครับ—กับเรื่องเล็กๆ แบบนี้เรายังพอรู้ตัว แล้วกับเรื่องใหญ่ๆ ล่ะ เราก็น่าจะต้องรู้ตัวไว้ก่อนเหมือนกัน
อาจเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะได้ยินการสอนให้ใครต่อใคร 'รู้เท่าทันสื่อ' ซึ่งผมก็เห็นด้วยโดยสมบูรณ์ว่านั่นเป็นคำสอนที่ดี การรู้เท่าทันสื่อนั้นจะทำให้เรารู้จักวิเคราะห์ แยกแยะสารที่สื่อส่งออกมา
แต่นอกจากการรู้เท่าทันสื่อแล้ว การรู้เท่าทันแพลตฟอร์มที่สื่ออยู่นั้นก็จำเป็นด้วย เราต้องไม่ลืมว่าบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ ไม่ได้เป็นบริษัทจากสรวงสวรรค์ พวกเขาก็ก่อตั้งด้วยมนุษย์ ดังนั้น ผลประโยชน์และอุดมการณ์ส่วนตัวจึงสำคัญไม่ต่างจากเราๆ—เวลาแพลตฟอร์มพวกนี้แสดงอะไรออกมา พวกเขาอาจปรับผลการค้นหาในนิวส์ฟีดให้โชว์ข้อความสนับสนุนหรือต่อต้านบางฝ่าย จนมากพอที่จะทำให้เราเปลี่ยนใจไปทีละนิดก็ได้
ลองจินตนาการดูว่าถ้าปุ่มเล็กๆ ของเฟซบุ๊กที่ดูไม่มีพิษมีภัยทำให้คนไปลงคะแนนได้เพิ่มขึ้นถึงสามแสนกว่าคน 
แล้วถ้าเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือทวิตเตอร์ เกิดไม่ชอบนโยบายของผู้สมัครคนไหนขึ้นมา (เช่น อาจบอกว่า จะขึ้นภาษีธุรกิจเทคโนโลยี) อำนาจของพวกเขาจะอนุญาตให้พวกเขาดลผลการเลือกตั้งให้เป็นดังต้องการได้มากแค่ไหน


และที่สำคัญ อย่างที่บอกครับ เป็นการดลที่ไม่มีใครรู้ ดังมายากลที่พ่อมดหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จับมือใครดมไม่ได้ หาใครที่เป็นตัวการก็ไม่เจอ


จาก คอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 39— Euro 2016 Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe