ขำไม่ได้ ฮาไม่ออก เมื่อสังคมบอกว่าเราห้ามตลก

คุณเคยเล่นตลกบนอินเทอร์เน็ตไหม? ถ้าเราไม่ได้อยู่ห่างไกลกันเกินไปนัก ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคย 


แต่ถ้าถามต่อล่ะ ว่าคุณเคยเล่นตลกการเมืองบนอินเทอร์เน็ต เช่น แซวท่านนายกฯ ไหม คำตอบอาจจะเป็นเสียงที่แผ่วเบาลงมาหน่อย แต่ผมก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเช่นกัน จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ ผมก็เคยเล่นตลกการเมืองบนอินเทอร์เน็ต แต่พักหลังๆ ผมกลับรู้สึกว่าตลกที่เราเล่นกัน มันชักจะ ‘ไม่ตลก’ 

ไม่ใช่ว่าคุณภาพของมุกลดลง หรือรุนแรงขึ้น พวกเราชาวเน็ต (เกลียดคำนี้นะ, แต่ขอใช้หน่อย) ก็เล่นมุกแบบเดิม คงเดิม คุณภาพเท่าเดิม แต่เหมือนว่านับวันผ่านไป 'พื้นที่' ของมุกที่เราเล่นได้ ก็ถูกตีวงให้แคบลงทุกที

วันก่อนผมเล่นมุกหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต มันเป็นมุกธรรมดาที่ถ้าเล่นกันก่อนหน้านี้คงไม่เสี่ยงอะไร เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ครับ: ผมนำภาพท่านนายกฯ มาเทียบกับภาพท่านผู้นำฯ คิมจองอึน ทั้งสองภาพมีท่าทีละม้ายคล้ายกัน จนไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ ผมอัพภาพนี้ขึ้นไปโดยไม่ได้คิดอะไรมาก แล้วก็ไปทำงาน 

สามชั่วโมงต่อมา ผมหยิบมือถือขึ้นมาดู พบว่าที่บ้านมิสคอลมาถึง 5 ครั้ง ยังไม่นับข้อความในไลน์ ผมรีบโทรกลับ คิดว่ามีเรื่องด่วน เมื่อที่บ้านรับสาย จึงได้ความว่ารูปที่ผมทำนั้นมันมีการแชร์ไปทั่วทุกหัวระแหงกว่าพันแชร์—ลบเถิด ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงเกินไป

อย่าเข้าใจผิดนะครับ—ที่บ้านผมไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก แต่ตอนนี้ การจะพูดอะไรก็พูดไป ทำอะไรก็ทำไป ต้องทำด้วยความ 'ไม่ให้เสี่ยง' ด้วยเท่านั้นเอง

ปัญหาคือ ไม่ให้เสี่ยง นี่เป็นคำถามที่แต่ละคนตอบไม่เหมือนกันน่ะสิ

สำหรับพ่อแม่ การไม่ให้เสี่ยงอาจมีความหมายที่รัดกุมไปกว่าของลูก เช่น อาจพูดวิจารณ์ได้บางเรื่อง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับท่านนายกฯ นั้นขอไว้  หรือไม่ก็อาจพูดได้ หากสิ่งที่พูดนั้นไม่ถูกกระจายหรือส่งต่อไปในวงกว้างมาก ในขณะที่สำหรับลูกแล้ว การไม่ให้เสี่ยงอาจหมายถึงการหลีกเลี่ยงไม่พูดอะไรที่เสี่ยงจะติดคุกด้วยข้อหา 112 เพียงอย่างเดียว หรือไม่โจมตีรายบุคคลอย่างออกหน้า เมื่อพื้นที่ความเสี่ยงของสองฝ่ายมันซ้อนทับกันเช่นนี้แล้ว ความขัดแย้งเล็กๆ ในทัศนคติก็จะตามมา

ความไม่แน่นอนและการประเมินความเสี่ยงที่แตกต่างกันนี้จะเกิดขึ้นน้อยลง หากผู้ปกครองประเทศมีหลักในการจับกุมที่แน่นอน รัดกุม ไม่เป็นการจับอย่างสุ่มๆ เพราะเมื่อจับอย่างสุ่ม กรณีนั้นพูดคำเดียวก็จับ แต่กรณีนี้พูดเป็นพันคำ และพูดในระดับที่แรงกว่า กลับไม่จับ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางการประเมินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเกิดความขัดแย้งจากการประเมินความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายที่ถูกห้ามพูดก็จะเลือกที่จะไม่พูดอีก หรือพูดให้เบาลง ซึ่งการพูดที่เบาลงนี้ก็นำมาสู่การพูดที่เบาลงของคนรอบๆ ตัวด้วย (เพราะเมื่อไม่มีใครพูด ก็จะไม่มีใครกล้าพูด) ดังนั้นเสียงของสังคมจึงจะเงียบลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันก็จะเงียบเชียบ และไม่มีใครพูดหรือวิจารณ์อีก

ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นสังคมที่หัวเราะกับเรื่องอะไรแบบนี้ได้ ครั้งหนึ่งเราเคยมองว่ามุกตลกเป็นเพียงสื่อหนึ่งที่ช่วยระบายความกดดันของสังคมไม่ให้ระเบิดออกเร็วเกินไป แน่นอนแหละครับ มุกตลกก็มีสารบางอย่างอยู่ภายในด้วยกันทั้งนั้น แต่มันก็เป็นสารที่ถูกเคลือบมาด้วยน้ำตาลหวานๆ จนใครต่อใครก็กินได้ 

แต่วันนี้ดูจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว

ผมกดลบรูปต้นเหตุอย่างไม่หืออือ คลิกลงไปที่ปุ่มกากบาท แล้วมันก็หายไป เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น 

เหมือนกับอีกหลายอย่าง และอีกหลายคน ที่หายไป เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

จาก คอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 40— Beauty Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe