ทำดีมีคะแนน! รัฐบาลจีนสร้างมาตรฐานของคนดีผ่านการเล่นอินเทอร์เน็ต


             ‘เหมือนออกมาจากหนังไซไฟดิสโทเปีย’ คือความรู้สึกแรกของผมเมื่ออ่านข่าวนี้

            The Independent รายงานว่า ประเทศจีนทำให้ความภักดีต่อรัฐกลายเป็นเกม ด้วยการสร้างเครื่องมือวัด ‘คะแนนพลเมืองดี’ ชื่อ Sesame Credit (คะแนนถั่วงา) โดยจะคำนวณคะแนนจากพฤติกรรมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและการซื้อของออนไลน์

            คะแนนที่ว่าจะ ‘ขึ้น’ เมื่อเราโพสต์อะไรที่ดีงามต่อรัฐบาล เช่น โพสต์สนับสนุนนโยบายต่างๆ หรือข่าวดีเกี่ยวกับตลาดหุ้น หรือซื้อของที่รัฐบาลเห็นชอบ เช่น ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ผลิตในประเทศ ในทางกลับกัน คะแนนจะ ‘ลด’ เมื่อเราโพสต์รำลึกจัตุรัสเทียนอันเหมิน โพสต์ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ โพสต์ข่าวหุ้นตก หรือซื้อของที่รัฐไม่เห็นชอบอย่างการ์ตูนอนิเมะที่มาจากญี่ปุ่น

คะแนนพลเมืองดีที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าคำนวณเฉยๆ ออกมาให้อวดกันเล่น แต่มีข่าวลือออกมาว่า ถ้าคะแนนของใครต่ำมากๆ รัฐอาจจะลงโทษโดยการลดความเร็วอินเทอร์เน็ต หรือห้ามไม่ให้สมัครงานในบางตำแหน่ง ในขณะที่ถ้าคะแนนของใครสูงมากๆ รัฐก็จะให้รางวัล เช่น ขอเอกสารต่างๆ จากราชการได้ง่ายขึ้น ไปต่างประเทศสะดวกขึ้น กู้เงินง่ายขึ้น เป็นต้น

            หลังจากที่ประกาศใช้เครื่องมือนี้ ก็มีคนเริ่มออกมา ‘อวด’ คะแนนพลเมืองดีของตัวเอง ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของจีนอย่าง Weibo กันแล้ว ทั้งๆ ที่มีข่าวว่ารัฐจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2020

            หลังจากที่โพสต์ข่าวนี้ออกไป มีหลายคนบอกกับผมว่าเหมือนกับระบบที่ใช้ในการ์ตูนเรื่อง Psycho-Pass ซึ่งจินตนาการถึงอนาคตอันมืดหม่นที่รัฐมีอำนาจควบคุมเหนือความคิดความเชื่อของประชาชนในอาณัติของตน ผ่านเซนเซอร์ที่คอยสแกนสภาพจิต บุคลิกภาพ และโอกาสที่จะก่อเหตุอาชญากรรมของคนในบริเวณนั้น




            แน่นอนครับ ผมคิดว่านโยบายนี้เป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นการแสดงความ ‘กลัว’ ของรัฐบาลจีนในแบบที่โงหัวไม่ขึ้น แต่ความพยายามนี้ก็มีความน่ากลัวในตัวของมัน ลองจินตนาการถึงสังคมที่เราตรวจสอบได้ว่าใครมีความเชื่อ ‘ตรง’ หรือ ‘ไม่ตรง’ กับเรา โดยดูจากแค่ตัวเลขหนึ่งๆ สิครับ ลองจินตนาการถึงหมู่บ้านที่ออกกฎว่าคุณต้องมีคะแนนถึงเกณฑ์เท่านั้นจึงจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ได้ 

            นี่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นเลย  ลองดูอย่างในประเทศไทยที่มีการ ‘ขับไล่’ คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเองออกจากถิ่นอาศัยโดยมาตรการกดดันทางสังคมต่างๆ ดู

            ดังนั้นมาตรการคะแนนนี้จึงไม่ใช่แค่ความพยายามของรัฐที่จะควบคุมประชาชน แต่เป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนสอดส่องควบคุมกันเอง (ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมี ‘คนเข้าข้างรัฐ’ มากพอ ซึ่งจีนมั่นใจอย่างนั้น)

            ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงรู้สึกว่านี่เป็นข่าวที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับประเทศเราตรงๆ จีนก็ยังคงมีความเชื่อเดิมอยู่อย่างนั้น ความเชื่อที่ว่าคนไม่ควรจะ ‘ก่อให้เกิดคลื่น’ คนควรจะ ‘รักษาความสงบของบ้านเมือง’ ไม่ควรมีใคร ‘แหลม’ ขึ้นมา

            ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมอ่านข่าวนี้แล้วคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน

            แต่ปัจจุบัน เมื่ออ่านข่าวนี้จบ

            ผมกลับรู้สึกกลัว



จากคอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 322— Robot Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe