Hate Speech แค่ไหน แค่ไหนเรียก Hate Speech เราพูดอะไรได้บ้างบนโลกออนไลน์?


              ไม่ว่าใครก็คงเคยได้ยินคำว่า hate speech แต่แต่ละคนอาจมีความหมายในใจกับคำนี้แตกต่างกันออกไป ผมพยายามหาความหมายของคำคำนี้ แต่ก็ได้ความหมายมาคร่าวๆ เพียงแค่ว่า

              “hate speech คือ ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศ เป็นต้น” แต่ถ้าอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย hate speech จะหมายถึง ‘ถ้อยคำ ท่วงที หรือพฤติกรรม ลายลักษณ์อักษร หรือการแสดงออกอย่างใดๆ  ซึ่งต้องห้าม เพราะอาจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การต่อต้าน หรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองไว้”

              เดี๋ยวนะ—ทำไมผมต้องยกนิยามขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็พอจะ ‘เก็ต’ อยู่แล้วหรอกหรือ

              เหตุที่ผมต้องยกความหมายขึ้นมายืดยาว เพราะผมอยากแสดงให้เห็นว่า hate speech นั้น ฟังผิวเผินแล้วดูเหมือนจะเข้าใจตรงกัน แต่จริงๆ แล้วอาจเข้าใจแตกต่างกัน

              มันก็เหมือนกับ ‘จริงจังแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง’ นั่นแหละครับ ใครจะไปรู้ นั่นเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องมานิยามร่วมกัน ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้

              ที่พูดอย่างนี้ ถามว่าผมรำคาญตัวเองไหม ผมก็รำคาญเหมือนกันนะครับที่ต้องมาตีความอะไรซับซ้อน หาความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำอีกที แต่ว่าผมก็คิดว่านี่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเข้าใจ เพราะจากข่าวล่าสุด สหภาพยุโรปเขาเรียก Facebook, Twitter, Google และ Microsoft จตุรเทพออนไลน์ เข้าไปคุย แล้วบอกว่า หลังๆ สถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยในยุโรปมันตึงเครียดนะ เขากลัวว่าจะมีการปลุกปั่นยั่วยุออนไลน์ แล้วอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง เลยบอกให้ช่วยกำชับกวดขันหน่อย ซึ่งการ ‘ช่วยกำชับกวดขัน’ นี้ หมายถึงว่าต่อไปทั้ง 4 บริษัทจะมีอำนาจในการรีวิวข้อความ แล้วตัดสินใจว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นเป็น hate speech หรือไม่ เพื่อที่จะเอาลงตามมาตรฐานของตนเอง   

              เดิมทีบริษัทพวกนี้ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยอะไรขนาดนั้น ต่างก็มีนโยบายดูแลสังคมออนไลน์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็มีผู้วิพากษ์ว่านี่มันเป็นการ ‘โบ้ยภาระ’ ของผู้บังคับกฎหมายในยุโรปหรือเปล่า

           ยังไม่นับว่า ทั้ง 4 บริษัทต่างก็มีผลประโยชน์ของตนเองที่ต้องปกป้อง ไม่อยากถูกบอยคอตจากยุโรป ดังนั้นเลยคาดเดาว่าพวกเขาจะเล่นบท ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ นั่นคือถ้ามีเนื้อหาอะไรที่แหลมขึ้นมา หรือดูเสี่ยง พวกเขาก็จะเลือกเอาลงมากกว่าปล่อยไว้ ทำให้ประชาชนงงว่า อะไรที่ ‘พูดได้’ และอะไรที่ ‘พูดไม่ได้’ กันแน่

              อีกปัญหาคือ แต่ละบริษัทก็มีมาตรฐานเป็นของตัวเอง ซึ่งมาตรฐานนั้นก็ถูกควบคุมโดยบุคคลที่ต่างก็มีมาตรฐานต่างๆ กันเข้าไปอีก ดังนั้นต่อไปก็จะเกิดความงงงวยแน่นอนว่าทำไมอันนี้ไม่โดนลบ แต่อันนี้ไม่โดนลบทั้งที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้ขอบเขตของคำคำนี้มันยิ่งพร่าเลือนเข้าไปอีก

              ทุกวันนี้ คำว่า hate speech และคำศัพท์จำพวก ‘ถูกต้องทางการเมือง’ (politically correct) ถูกใช้กันเกลื่อนกลาดจนไม่รู้แน่ว่าความหมายมันคืออะไร การเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่งจึงอาจต้องกลับไปแก้ไขที่การนิยาม ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะการสร้างหอคอยขึ้นบนผืนทรายที่ไม่มั่นคงแล้วคิดว่ามันจะไม่พังครืนลงมานั้น ก็ดูเป็นความคิดที่โง่เง่าเสียเหลือเกิน


      จาก คอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 41— Mass Mania Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
      ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe