บทเรียนจากความเงียบในเกาหลีเหนือ ดินแดนนอกเขตพื้นที่อินเทอร์เน็ต


ภาพประกอบโดย  Nakrob/moon/mars/nut.


        ผมเพิ่งกลับจากประเทศเกาหลี—ปกติแล้วเวลาพูดถึงประเทศเกาหลีเรามักจะหมายความถึงประเทศเกาหลีใต้ใช่ไหมครับ แต่ประเทศที่ผมไปครั้งนี้กลับเป็นประเทศ ‘พี่น้อง’ ของเกาหลีใต้ ที่นั่นไม่มีอปป้าซารางเฮโย ไม่มีกังนัมสไตล์ ไม่มีร้านเฟซช็อปเต็มสองข้างทาง และที่สำคัญ มันเป็นประเทศที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต!

        เมื่อรู้ตัวว่าต้องไปเกาหลีเหนือด้วยเรื่องงาน ผมก็ทำตัวตามประสาคนที่ขาดการเสพข้อมูลไม่ได้ นอกจากแพ็คเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวแล้ว ผมจึงต้องแพ็ค ‘ข้อมูล’ เพื่อไปเสพด้วยการโหลดแอพพลิเคชั่นวิกิพีเดียออฟไลน์ลงมือถือ เมื่อก่อนผมไม่คิดเลยว่าแอพพลิเคชั่นออฟไลน์จะมีประโยชน์ เพราะเราอยู่ในที่ที่มีอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา มาวันนี้ผมจึงได้สำนึกถึงคุณูปการของมัน นอกจากนี้ผมยังเอาหนังต่างๆ ใส่ลงในฮาร์ดดิสก์  ซื้อหนังสือเสียงและอีบุ๊กมาจนเต็มคินเดิล ผมนัดแนะกับเพื่อนสนิทไว้ว่าขอให้เขาเป็นจุดรวบรวมธุระปะปังทั้งหมดที่ผมควรรู้ แล้วผมจะโทรมาหาเขาทุกๆ สามสี่วันในกรณีที่โทรได้ เตรียมทั้งหมดนี้แล้วจึงออกเดินทาง

        การเดินทางครั้งนี้กินเวลาประมาณแปดวัน เป็นแปดวันที่ผมจะไม่สามารถเข้าถึงอะไรบนอินเทอร์เน็ตได้เลย
        น่ากลัวนะครับ
        น่ากลัว แต่ก็มีความสดใหม่ไปพร้อมกัน

        ระลึกย้อนไป ผมไม่เคยเชื่ออะไรที่เรียกว่า Digital Detox เลย มันเป็นกระบวนการ ‘ตัดขาด’ จากโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยสมมติฐานที่ว่าโลกอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้เราสับสน ว้าวุ่น งุ่นง่าน และติดพันกับมันจนเกินไป ธุรกิจ Digital Detox นี้มีมูลค่ามหาศาลทั่วโลก ตั้งแต่โปรแกรม ‘ช่วย’ ตัดอินเทอร์เน็ตให้ เมื่อเราต้องการทำงาน ไปจนถึง ‘การเข้าค่ายบำบัดคนติดอินเทอร์เน็ต’ ในจีน (ซึ่งมีข่าวออกมาบ่อยมากว่าใช้ความรุนแรง เช่น ใช้กระแสไฟฟ้าช็อตให้หายจากการติดอินเทอร์เน็ต)

        นั่นแหละครับ ผมไม่เคยเชื่อแนวคิดการเลิกใช้อินเทอร์เน็ตแบบ ‘หักดิบ’ เพราะคิดว่ามันเป็นการ ‘แบ่งขาด’ โลกออนไลน์กับออฟไลน์เกินไป ในโลกที่ออนไลน์ประสานเข้ามากับชีวิตจริง (ถ้ายังจะดึงดันเรียกว่าชีวิตจริงกับไม่จริงอยู่) จนแทบเป็นเนื้อเดียวกันแบบนี้ การแยกขาดออกจากกันดูจะเป็นแนวคิดที่เก่าไปสักหน่อย

        จนกระทั่งได้ไปเกาหลีเหนือ
        ระยะเวลา 8 วันที่ไร้การเชื่อมต่อสอนอะไรผมบ้าง? บอกไว้ก่อนเลย ผมไม่ได้บรรลุธรรมะโสดาบัน อนาคามี หรือไปนิพพานอะไรทำนองนั้นเลยนะครับ แม้จะไร้การเชื่อมต่อแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความบ้าเสพข้อมูลของผมลดลง—ใช่ เมื่อเดินทางถึงสนามบินปักกิ่ง ผมก็รีบคว้ามือถือขึ้นมาเช็กดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่มันก็เป็นเพียงการเช็กด้วยความอยากรู้เท่านั้น ไม่ใช่การติด (ผมอาจหลอกตัวเองก็ได้)

        สิ่งที่ผมเรียนรู้ คือผมรู้จักการจัดวางตัวเองไว้กับการเสพข่าวสารในรูปแบบใหม่ หลังกลับมาจากเปียงยาง ผมไล่อ่านฟีด โพสต์ของเพื่อนในคราวเดียว (แทนที่จะเห็นทีละโพสต์เหมือนปกติ) ทำให้ผมเห็นการก่อรูปร่างลักษณะความคิดของแต่ละคนได้ดีกว่าที่เคยเป็น ผมเห็นคุณค่าของการไม่ ‘รับสารตลอดเวลา’ ซึ่งต่างจากการ ‘รับสารในคราวเดียว’ และมันมีผลทางอ้อม ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องรับข้อมูลในทุกช่วงจังหวะหายใจอีกต่อไป

        สิ่งหนึ่งที่ความเงียบของเปียงยางสอนผม เป็นบทเรียนอ้อมๆ บทนี้เอง


จาก คอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 38— Travel Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe