บุกรุกความสุขส่วนตัวบนโลกออนไลน์ พื้นที่ที่ถูกก้าวก่ายมากที่สุดในโลก




            เรามักได้ยินคำพูดทำนองนี้อยู่บ่อยๆ

            “เงยหน้าจากหน้าจอบ้าง”

            “ดูสิ เพื่อนนัดกินข้าวกันสมัยนี้ก็มีแต่คนก้มหน้างุดๆ อยู่กับมือถือของตัวเอง”

            “เจอกันก็เหมือนไม่ได้เจอเลยเนอะ”

            “ดูสิ บนรถไฟฟ้าก็มีแต่คนมองมือถือ ไม่มีใครสบตากันเลย”

            “Disconnect to Connect”

            นอกจากคำพูดแบบนี้แล้ว เรายังอาจเคยเห็นภาพการ์ตูน ‘สะท้อนสังคม’ ที่เห็นกันจนเกร่อ เป็นภาพโทนสีหม่นๆ แสดงถึงความเป็นดิสโทเปียเต็มรูปแบบ ทุกคนมีมือถือเป็นของตัวเอง มี ‘พื้นที่’ ส่วนตัวอยู่ในหน้าจอ

            หลายคนอาจเคยเห็นภาพฝูงชนกำลังชมขบวนพาเหรด ในภาพนั้นทุกคนถือโทรศัพท์ไว้ในมือ จ้องขบวนพาเหรดผ่านหน้าจอของตัวเอง เว้นเสียแต่คุณยายคนหนึ่งที่ยืนดูขบวนพาเหรดด้วยตาเปล่า ใบหน้าของเธอฉายรอยยิ้มน้อยๆ คำบรรยายใต้ภาพบอกว่า

            ‘ทุกคนในรูปนี้มีความสุข แต่มีคนหนึ่งที่มีความสุขกว่าคนอื่น’ 




            ไม่รู้ทำไมนะครับ—ดูภาพทำนองนี้แล้วคำถามแรกที่มักจะเด้งขึ้นมาในหัวผมคือ “เหรอ?”

            เหรอ?—รู้ได้ยังไงว่าคนคนหนึ่งมีความสุขกว่าคนอื่น

            เหรอ?—รู้ได้ยังไงว่าเทคโนโลยีทำให้คนห่างไกลกัน

            เหรอ?—การเอา ‘ความถูกต้อง’ ของตัวเอง มาสื่อสารด้วยวิธีตราบาปคนอื่นแบบนี้มันน่าชื่นชมเหรอ?

            บทความหนึ่ง (Stop sayingtechnology is causing social isolation. โดย Hector L Carral) เขียนไว้ว่า สิ่งที่คนที่แสดงความเห็นทำนองว่า ‘ดูสังคมสมัยนี้สิ มีแต่คนก้มหน้า’ อยากแสดงออกมาจริงๆ ก็คือความเหนือกว่าผู้อื่น (a sense of superiority) เท่านั้นเอง เป็นความอยากบอกว่า ‘ดูสิว่าคนอื่นเป็นทาสของเทคโนโลยี’ (แต่ฉันคนหนึ่งล่ะที่ไม่เป็น

            ผู้เขียนบทความนี้เชื่อว่า โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือ (instrument) สำหรับการติดต่อในอีกแบบมากกว่า อาจเป็นการติดต่อในมิติที่ไม่เหมือนเดิม แต่ก็เป็นการ ‘ติดต่อ’ ของมนุษย์ที่พื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

            อันที่จริงแล้ว คำบ่นว่า ‘สิ่งนี้’ หรือ ‘สิ่งนั้น’ กำลังทำให้คนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้จิตใจ ไม่เคยสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ กระทั่งสื่อที่บางคนมองว่า ‘โรแมนติก’ สุดๆ อย่างหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ ก็เคยถูกวิจารณ์ทำนองนี้ในวันแรกๆ ของพวกมันเหมือนกัน ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญ กูรูทางด้านสังคม อาจารย์ปรัชญา ก็เคยวิพากษ์มาแล้วว่า ‘ในยุคนี้ คนจ้องแต่หนังสือ ไม่เงยหน้าขึ้นมาสบตาผู้อื่น ราวกับว่าหนังสือกำลังขโมยวิญญาณของเขาไป’ (ไม่แปลกที่ โทรทัศน์และวิทยุก็เคยถูกวิจารณ์แบบเดียวกัน)

            สำหรับผมแล้ว คำพูดเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจากคำบ่นของคนที่ไม่ปรับตัว 
            เพราะเทคโนโลยีไม่ได้ ‘ทำให้’ คนห่างไกลกันอย่างที่ใครๆ คิด แต่มันอาจเป็นการขับนิสัยของมนุษย์ออกมา เราต่างอยากมีพื้นที่ปลอดภัยส่วนตัวกันทั้งนั้น เราอยากติดต่อกับคนที่เราอยากคุยด้วย เราอยากหลบลี้ไปจากสถานการณ์ที่ไม่น่าสบายใจ และผิดไหม ที่โทรศัพท์มือถือให้ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ แบบนั้นกับเราได้โดยที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร

            เมื่อคนคนหนึ่งอยากมีพื้นที่ส่วนตัว เป็นกงการของใครหรือที่จะไม่เคารพสิทธิในการตัดสินใจนั้น ในเมื่อมันไม่ได้เกี่ยวกับคุณเลยสักนิด



จากคอลัมน์ Lab : giraffe Magazine30— Depression Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe