เลวนักต้องแสดงออก! เหตุผลที่ต้องบอกให้โลกรู้ว่าเราต่อต้านความเลวร้าย


        

ภาพประกอบโดย  Nakrob/moon/mars/nut.


        คุณอาจแปลกใจ หรือไม่คุณก็อาจไปมีส่วนร่วมกับเขาด้วย เมื่อใครคนหนึ่งทำไม่ดีไม่งาม แล้วผู้คนทั่วทุกสารทิศต่างมาประณาม ด่าแช่งสาปทอ—คุณนึกย้อน หลายครั้งบนโลกโซเชียล คุณไม่ได้ตั้งใจจะด่าแรงอย่างที่พิมพ์ไปหรอก แต่ด้วยอารมณ์ตอนนั้น ผสมกับกระแสความเกลียดชังที่คนอื่นสาดเทมาปะปนกันจนเละ ทำให้คุณรู้สึกว่าต้องแสดงความเห็นอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เสี้ยววินาทีที่คุณกดเอนเทอร์ แสงสว่างวาบกะพริบบอกว่าคอมเมนต์ของคุณขึ้นไปอยู่บนนั้นแล้วเรียบร้อย    

        แล้วคุณก็พอใจ

        ทำไม?

        ผลการศึกษาหนึ่งตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่การกระทำของคุณจะไม่ต่างอะไรจากการรำแพนหางของนกยูงตัวผู้—มันเป็นการโฆษณา

        ข้อสรุปจากผลการศึกษาร่วมของ Jillian J. Jordan,Moshe Hoffman, Paul Bloom และ David G. Rand ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature บอกว่าการออกมาทวงถามถึงความถูกต้องทางศีลธรรมในที่สาธารณะ (Moral outrage) นั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน (self-serving) ได้ด้วย

        เพราะเมื่อมองผ่านเลนส์ของวิวัฒนาการแล้วการประณามผู้อื่นดูไม่มีประโยชน์อะไรเลย (เพราะการวิวัฒนาการเป็นกระบวนการที่มุ่งให้เผ่าพันธุ์ตัวเองรอดเท่านั้น) แล้วทำไมการแสดงออกแบบนี้จึงยังคงดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ หรือมันจะให้ประโยชน์แก่ผู้ประณาม ในแง่การส่งสัญญาณบอกว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ หรือ ‘คนที่น่าไว้ใจ’

        พวกเขาทดลองด้วยการให้อาสาสมัครปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ต (โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร) โดยให้เงินกับอาสาสมัครส่วนหนึ่ง แล้วบอกว่าสามารถคืนเงินบางส่วนเพื่อลงโทษคนอื่นที่ทำตัวแย่ได้ จากนั้นให้อาสาสมัครอีกกลุ่มเลือกว่าจะเชื่อใจผู้ที่คืนเงินหรือเปล่า ผลคืออาสาสมัครผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า คนที่ยอมคืนเงินเพื่อลงโทษคนอื่นนั้นน่าเชื่อใจมากกว่าคนที่ไม่ลงโทษคนอื่น ดังนั้น การลงโทษคนที่ทำตัวไม่ดีจึงส่งผลให้เราดูน่าเชื่อใจไปด้วย




        จากการทดลองนี้ ผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การที่เราประณามหรือทำโทษคนอื่นในที่สาธารณะนั้นเป็นไปเพื่อส่งสัญญาณว่าเราเป็นคนดี แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ศึกษาไม่ได้สรุปว่าเราจะทำไปอย่างรู้ตัว นี่เป็นเพียงความพยายามในการอธิบายด้วยกรอบของกระบวนการวิวัฒนาการเท่านั้น

        ผู้ศึกษาบอกว่าการทดลองนี้ยังอธิบายได้ด้วยว่าทำไมบางคนจึงประณามหรือลงโทษผู้ที่ตนคิดว่าทำผิดอย่างไม่ได้สัดส่วน เช่น ในกรณีที่มีสาวคนหนึ่งทวีตเหยียดผิวว่าคนแอฟริกันเป็นโรคเอดส์ 1 ทวีต แต่โดนด่าทั่วอินเทอร์เน็ตและถูกไล่ออกจากงานจนทำให้ใช้ชีวิตไปต่อยากมากๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะทุกคนพยายามบอกว่าตนเองไม่ใช่ผู้ที่เหยียดผิวคนอื่นไปด้วยนั่นเอง

        คุณอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษานี้ แต่นี่ก็เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการอธิบายปรากฏการณ์บนอินเทอร์เน็ต (และที่อื่นๆ) ด้วยกรอบที่ต่างออกไป คุณอาจเชื่อว่าคุณคอมเมนต์ด่าคนผิดอย่างนั้นโดยไม่มีจุดประสงค์อื่นนอกจากเพื่อลงโทษเขา เพื่อผดุงความยุติธรรม หรือเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น

        แล้วคุณก็อาจพอใจ

        ซึ่งนั่นก็คงไม่ผิดอะไร

 


จากคอลัมน์ Lab โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล 
: giraffe Magazine 37 — Color Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe