การต่อสู้ระหว่างรัฐกับ Gig Economy ที่มีความสะดวกสบายของคนไทยเป็นเดิมพัน



        ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์นี้ ไม่มีข่าวไหนที่จะ ‘กระตุ้น’ ความโกรธของชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในสังคมออนไลน์ไปมากกว่า ข่าวที่ว่า ‘ขนส่งทางบกขอให้ GrabBike ระงับการบริการโดยทันที เพราะขัดกับข้อกฎหมาย’

        จริงๆ แล้วปัญหาแบบนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของประเทศไทย (หรือกรุงเทพฯ) เพียงประเทศเดียวนะครับ เมืองทั่วโลกก็ประสบกับปัญหาการเข้ามาดำเนินธุรกิจ ‘ใหม่’ ที่เรียกกันว่า sharing economy (ซึ่งหากเรียกว่า gig economy จะตรงกว่า) คล้ายๆ กัน เพราะมันเข้ามาทำลาย ‘กฎ’ บางอย่างที่สังคมตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า

        Airbnb, Grab หรือ Uber ต่างเข้ามาเติมเต็มช่องว่างความต้องการของพลเมืองอย่างที่รัฐไม่เคยให้ได้มาก่อน มัน ‘บอก’ พลเมืองว่ารัฐไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาพวกนี้ ดูสิ พวกฉันทำงานได้มีมาตรฐานกว่า ‘ปลอดภัย’ กว่า ซ้ำยังราคาถูกกว่าอีกด้วย แล้วจะไปเลือกช่องทางที่ ‘ถูกต้อง’ ทำไม

        ธุรกิจห้องพักราคาถูกทั่วโลกเกิดขึ้นเพราะ Airbnb ทำให้รัฐหารายได้จากห้องพักเหล่านี้ไม่ได้ (เพราะติดต่อเข้าพักแลกเปลี่ยนเงินกัน ‘นอกหูนอกตา’) ซ้ำยังไม่อาจควบคุมมาตรฐานของธุรกิจได้ เช่นเดียวกับ Grab และ Uber ที่นอกจากรัฐจะต้อง ‘เสียเงิน’ (เพราะเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีใดๆ ไม่ได้) แล้วยังต้องเสียหน้าอีกต่างหาก

        ยังไม่นับวินมอเตอร์ไซค์หรือวินแท็กซี่สนามบินที่อาจเคยทำรายได้ให้ผู้มีอิทธิพล ต้องสูญเสียไปให้ ‘บริษัทข้ามชาติ’ แบบต่อหน้าต่อตา

        ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้โดยสมบูรณ์ว่า รัฐจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง เพราะรัฐนั้นตั้งอยู่บนฐานคิดจากบนลงล่าง พยายามควบคุมอำนาจให้อยู่ที่ศูนย์กลางมากที่สุด ในขณะที่ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคิดตรงกันข้าม นั่นคือมองจากความต้องการของประชาชนก่อน แล้วจึงพัฒนาอะไรบางอย่างขึ้นมาตอบรับ (จากล่างขึ้นบน) ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจผ่านทางกลไกของตลาด

        ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าบริษัทที่ว่ามาทำเพื่อประชาชนแต่อย่างใดนะครับ เขาก็ทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ—แต่การกระทำของเขาทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย




        เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนมองว่าสาเหตุที่ทำราคาได้ถูกกว่า นั่นเป็นเพราะเขาไม่ได้ใช้ ‘ต้นทุน’ ในการทำให้ถูกกฎระเบียบ แท้จริงแล้วหากมองจากเหตุผลต่างๆ ที่กรมขนส่งทางบกให้กับการระงับบริการ GrabBike ในครั้งนี้ ก็มีอยู่หลายข้อทีเดียวที่ Grab ทำให้มัน ‘ถูกต้อง’ ขึ้นได้ เช่น ปรับไปใช้รถสาธารณะ ทำใบขับขี่ถูกประเภท ลงข้อมูลในศูนย์ประวัติ แต่ก็มีบางข้อที่หากทำแล้วจะสูญเสีย ‘ข้อได้เปรียบ’ ไปเลย เช่น หากต้องวิ่งเฉพาะเส้นทางหรือเฉพาะพื้นที่ก็ไม่ต่างจากวินมอเตอร์ไซค์ทั่วไป

        gig economy นั้นไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด มันมีมุมมืด มีปัญหา และ ‘ความแกมโกง’ ของมันอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเสียบ้าง ถึงแม้ว่านั่นอาจหมายถึงการยอมสละอำนาจควบคุมบางอย่างไปอยู่ในมือคนอื่นก็ตาม

        นี่จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้กันระหว่างธุรกิจ gig economy กับภาครัฐว่าจะหาเส้นตรงกลางกันอย่างไร โดยมีข่าวยกเลิก GrabBike เป็นเพียงยกแรกๆ ของการดวลหมัดอันยาวนานเท่านั้น


จากคอลัมน์ Lab โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล : giraffe Magazine 36 — Stock Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe