อารมณ์อลเวง : Facebook Reactions ทำให้เราแสดงอารมณ์ได้มากขึ้นจริงเหรอ?


        เพลง ชอบกดไลค์ ใช่กดเลิฟ ลอยมาจากไหนไม่รู้ เมื่อเช้าวันหนึ่งผมเข้าเฟซบุ๊ก แล้วพบว่าเราเลือกแสดงอารมณ์ที่มีต่อโพสต์ของเพื่อนได้ตั้งหกแบบแน่ะ!

        ผมจำได้ว่าวันนั้นแทบทั้งวัน ทั้งสื่อหลักสื่อรองต่างเล่นเรื่องนี้กันเป็นพัลวัน—ก็แน่ล่ะ เมื่อเฟซบุ๊กครอบครองเวลาของพันล้านกว่าคนทั่วโลก การที่มันจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอะไรนั้นอาจจะส่งผลต่อโลกและต่อเรามากกว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศเล็กๆ เสียอีก

        ก่อนหน้านี้ เราเคยอัดอั้นตันใจที่ ‘รู้สึก’ กับโพสต์ของเพื่อน ได้แค่ ‘ไลก์’ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพฉลองแต่งงาน เซลฟี่ หรือกระทั่งญาติเสีย นั่นทำให้ไลก์มีความหมายตั้งแต่ชอบจริงๆ, เออ อ่านแล้ว, รับรู้ ไปจนถึงเกลียดแต่กดให้ ...แต่แม้ตอนนี้มีหลายอารมณ์แล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

        เพราะเสียงส่วนหนึ่งก็มองว่านี่เป็นเพียงความพยายามในการ ‘หาเมตริกทางอารมณ์’ ของผู้ใช้ เพื่อเฟซบุ๊กจะได้นำไปให้ผู้ลงโฆษณาอีกต่อ (คือวัดอารมณ์เพื่อเอาข้อมูลไปขายชาวบ้านนั่นแหละ) บ้างก็มองว่าอารมณ์ของมนุษย์นั้นสุดจะซับซ้อน แค่ 6 อารมณ์นี้จะมาแทนได้อย่างไร

Inside Out (2015) คัดอารมณ์อันหลากหลายของมนุษย์ออกมาเป็น 5 ตัวละครหลัก

    ปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิกของการกำหนดตัวเลือกในทุกเรื่องเลยครับ ชีวิตมันเป็นอัตนัย ให้เติมคำตอบได้เองอย่างไม่มีข้อจำกัด แต่เมื่อต้องมีตัวเลือกก็ต้องย่นย่อลงมาเหลือแค่ปรนัย ซึ่งหกอารมณ์นี้ก็ค่อนข้างเข้าใจได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ผมรู้สึกจริงๆ ต่อ Facebook Reactions มีอยู่สองสามเรื่อง

        เรื่องแรกคือ ผมรู้สึกว่า Reactions เหล่านี้ก็ยังวนเวียนอยู่กับ 'กับดัก' เดิมๆ ของเฟซบุ๊กที่เดิมทีให้คนกด Like ได้อย่างเดียว เพราะอยากทำให้คนอารมณ์ดีเวลาเข้ามาใช้ แม้ตอนนี้มี Reactions แล้ว เราก็ยังพบว่ามีอยู่สี่อารมณ์ที่เป็นอารมณ์ดี นั่นคือ Like, Love, Wow และ Haha ส่วนอารมณ์ไม่ดีนั้นมีเพียง Sad กับ Angry เท่านั้น


        นั่นนำมาสู่เรื่องที่สอง คือ อารมณ์ Sad และ Angry ซึ่งผมมองว่ามันถูกอีโมติคอนลดความเข้มข้นลงด้วยความน่ารักน่าหยิกเกินกว่าจะเสียใจหรือโกรธอะไรได้จริงจัง ตรงนี้ผมรู้สึกว่าเฟซบุ๊กก็ยังพยายามจำกัดอารมณ์ที่ไม่ดีให้ละมุนละไมอยู่

        เรื่องที่สาม เนื่องจากอารมณ์ของมนุษย์นั้นหลากหลายและซ้อนทับกันหลายชั้น ดังนั้นเราจะไม่อาจแยกอารมณ์ที่กดอีโมติคอนหนึ่งออกจากกันได้ เช่น ถ้าเราโพสต์บ่นเรื่องที่เราไม่ถูกใจ แล้วมีคนกด Angry นั่นอาจแปลได้ทั้ง 1. เขาโกรธเราที่อัพเรื่องนั้น 2. เขาไม่ถูกใจไปกับเราด้วย  3. เขาไม่ได้โกรธอะไร แค่เสียดสีให้ดูตลกร้ายเฉยๆ ความไม่ชัดเจนนี้เองที่อาจทำให้เกิดความไม่พอใจกันจากการแสดงอารมณ์ได้

        ต้องบอกไว้สักหน่อยว่า แม้จะมีคำถามอยู่ไม่น้อย แต่โดยรวมผมก็ค่อนข้างสนุกกับฟีเจอร์ใหม่นี้นะครับ และคิดว่าต่อไปคงได้เห็นอะไรสนุกๆ จากอารมณ์ทั้งหกได้มากทีเดียว โดยที่การประยุกต์บางอย่างอาจเกินความคาดหมายของผู้ออกแบบ Reactions เสียด้วยซ้ำ

        มนุษย์ก็ดีตรงนี้ครับ เมื่อมีกล่องวางอยู่ เราก็จะไม่ทำแค่ ‘ลงกล่อง’ เท่านั้น แต่เราจะพยายามปีนขึ้นจากกล่อง นำกล่องมาเรียงกัน แผ่กล่องออกเป็นกระดาษใช้วาดรูป ตัดกล่องออกเป็นชิ้นเล็กๆ หรือทำสิ่งอื่นตามที่จินตนาการจะพาไปถึง

        ไม่ว่ากล่องจะแคบแค่ไหน เราก็มีวิธีใช้มันให้กว้างขึ้นได้เสมอ



 จากคอลัมน์ Lab โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล : giraffe Magazine 35 — Universe Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe