หลังบทสนทนาระว่างเราและ บิ๊กจ๊ะ—สาธิต กรีกุล จบลงได้ไม่นาน คืนนั้นทีมรักของเขาอย่าง Manchester United ก็คว้าแชมป์ฟุตบอลรายการเอฟเอคัพ ประจำปี 2016 ได้สำเร็จ
ในฤดูกาลที่เขาบอกว่า ทีมรักของตัวเองช่างทำผลงานได้น่าผิดหวัง อย่างน้อยก็ยังมีอะไรให้ผู้สื่อข่าวและนักพากย์กีฬาอันดับต้นของไทยพอจะได้ชุ่มชื่นหัวใจอยู่บ้าง
นั่นคือแง่มุมของความเป็นมนุษย์ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่ง ที่หากต้องเลือกเชียร์ เลือกสนับสนุนทีมฟุตบอลทีมรักของตน แน่นอนว่า ทุกคนก็ย่อมเทหัวใจหมดหน้าตัก เหมือนที่ครั้งหนึ่งบิ๊กจ๊ะเคยลงทุนโกนหนวดบนริมฝีปากอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปแล้วในปี 1999 ตอนที่ Manchester United คว้าทริปเปิ้ลแชมป์จากพรีเมียร์ลีก ยูฟ่าแชมป์เปี่ยนลีก เอฟเอคัพมาครองได้
แต่นั่น ไม่ใช่ในฐานะนักข่าวหรือนักพากย์ จรรยาบรรณที่ต้องเที่ยงตรง เที่ยงธรรมไม่โน้มเอียงไปกับทีมใดทีมหนึ่งนั้นเป็นอีกเรื่อง และคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการกีฬามามากกว่าสามสิบปีอย่างเขารู้ดีว่า นั่นเป็นสิ่งที่พึงต้องระวัง ยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่ดูเหมือนความเกลียดชังจะถูกกระพือให้ลุกโหมได้ง่ายๆ แค่คุณเลือกเชียร์นักกีฬา หรือทีมฟุตบอลทีมใดไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาก็ยืนยันว่า เขาไม่เคยโน้มเอียงหรือพากย์เข้าข้างทีมไหนทั้งนั้น แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่อยู่ในที่แจ้งอย่างเขาย่อมต้องถูกจับตา และโดนวิพากษวิจารณ์จากแฟนกีฬาอยู่เนืองๆ
ยาวนานเหลือเกิน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เรามักเรียกหาความเป็นมืออาชีพจากนักกีฬา ประโยคอย่าง 'บอลไทยจะไปมวยโลก' ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ในขณะที่ถ้อยคำดูถูกถากถางเหล่านั้นกำลังจะกลายเป็นอดีต และเรากำลังเห็นความเป็นอาชีพจากนักกีฬามากขึ้น สิ่งที่เราอาจต้องเรียกร้องกันเสียบ้างอีกอย่างก็คือ ความเป็นมืออาชีพจากเหล่ากองเชียร์เสียมากกว่า
"คน โดยเฉพาะสมัยนี้ จะยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของตัวเอง ใครทำอะไรไม่เหมือนตัวเอง ไม่ตรงกับที่ตัวเองพอใจ ก็ผิดหมด"
ดังนั้น สิ่งสำคัญเมื่อนั่งลงเชียร์กีฬาจึงอาจเป็นการละวางอคติ เรียนรู้ที่จะแพ้ให้เป็น ไม่ใช่แพ้แล้วพาล และเป็นผู้ชนะที่ไม่เอาแต่คอยเยาะเย้ยถากถาง เพราะคำว่า 'น้ำใจนักกีฬา' ไม่ได้จัดกัดกรอบอยู่แค่ในสนามแข่งขัน แต่มันยังครอบคลุมพื้นที่ทั้งบนอัฒจรรย์ ในห้องส่งของผู้สื่อข่าว หรือแม้กระทั่งบนโซฟาหลังโทรทัศน์ในบ้านของเราเองอีกด้วย
และบางทีอาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนั่งลงเชียร์ฟุตบอลรายการ Euro 2016 ที่กำลังจะคิกออฟเปิดสนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างมืออาชีพ ไปพร้อมกับนักพากย์ นักข่าวกีฬามืออาชีพ ที่เมื่อถอดหัวโขนออกมา ก็คงเป็นแฟนกีฬาที่มืออาชีพไม่แพ้กันอย่าง บิ๊กจ๊ะ—สาธิต กรีกุล
พูดถึงผลงานของทีมรักอย่าง Manchester United ในฤดูกาลล่าสุดหน่อย
ในภาพรวมถือว่า น่าผิดหวังเป็นฤดูกาลที่สามติดต่อกัน คือถ้าเทียบกับฤดูกาลที่เซอร์ Alex Ferguson คุมอยู่ นับตั้งแต่พรีเมียร์ลีกเริ่มขึ้นหลังจากเปลี่ยนชื่อจากดิวิชั่น 1 แมนยูฯ ไม่เคยได้ต่ำกว่าที่ 3 แต่สามฤดูกาลที่ผ่านพ้นไปได้ที่ 7 ในยุค David Moyes และได้ที่ 4 และ 5 ในยุคของ Louis van Gaal เปรียบเทียบแค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่า น่าผิดหวัง คือไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลทีมไหน ก็ย่อมอยากเห็นทีมของตัวเองทำผลงานได้ดีทั้งนั้น
"ทุกอย่างมันต้องมีความพอเหมาะพอดี คือเราต้องการความยุติธรรมก็จริง แต่วิธีการก็ต้องเป็นวิธีการที่ต้องเป็นไปตามกฎกติกา สมมติเราคิดว่า เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ต้องอุธรณ์ ต้องประท้วง ไปตามกติกา ไม่ใช่พอหงุดหงิด ไม่พอใจอะไร ก็ไประบายออกกับช่องทางที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ซึ่งทุกวันนี้คือการโพสข้อความ"
ในฐานะแฟนบอล ทำไมเราต้องซื่อสัตย์กับการเชียร์สโมสรแค่สโมสรเดียวทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้กำไรจากการขายตั๋ว แชมป์ก็ไม่มีติดมือ แถมเป็นสโมสรอีกซีกโลกหนึ่งอีก
คิดว่าแฟนบอลทั่วไปก็คงเหมือนกัน คือเขาชอบทีมไหน จะด้วยเหตุผลอะไรจากจุดเริ่มต้น เวลาเขาชอบ เขาก็ต้องตามเชียร์ อย่างของผม ก็มาจากตั้งแต่ตอนอายุ 9 ขวบ ปี 1968 ที่แมนยูฯ เป็นแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ซึ่งผมได้อ่านวารสารของโรงเรียนที่เขาลงเรื่องแมนยูฯ ได้แชมป์ ดังนั้นมันเลยเป็นจุดเริ่มต้น เพราะเรารู้จักทีมฟุตบอลทีมนี้เป็นทีมแรก ก่อนที่จะรู้จักทีมในประเทศไทยด้วยซ้ำ พออ่านประวัติของทีมนี้ เรารู้สึกว่าเรื่องราวมันเหมือนกับหนังที่มีพล็อตเรื่องน่าเหลือเชื่อ คือย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้วก่อน 1968 แมนยูฯ ก็เป็นทีมที่จะประสบความสำเร็จเป็นเจ้ายุโรปอยู่แล้ว แต่เครื่องบินดันตก นักฟุตบอลเสียชีวิตเกือบทั้งทีม ต้องเริ่มสร้างทีมกันใหม่ จนกลับมาได้ในอีก 10 ปีให้หลัง นั่นคือจุดเริ่ม ซึ่งแฟนฟุตบอล หรือแฟนกีฬาทุกคน สามารถมีเหตุผลส่วนตัวที่จะเชียร์ใคร หรือทีมไหน ที่เป็นจุดเริ่มต้นได้ทั้งนั้น มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก
แต่บางทีมันอาจกลายเป็นเรื่องของความ 'คลั่ง' ที่มากเกินไปหรือเปล่า อย่างกรณีล่าสุด ในศึกชิงตั๋วโอลิมปิกของวอลเลย์บอลทีมชาติไทยที่เพิ่งแพ้ญี่ปุ่นไป จนทำให้กองเชียร์ไทยไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของกรรมการ และไปคุกคามเฟซบุ๊กของกรรมการคนนั้น
โดยส่วนตัว เราต้องมองจากจุดเริ่มต้นก่อนว่า มันเกิดอะไรขึ้น สมมติเราแพ้ตามผลงานในสนามจริงๆ แบบนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร แต่เราจะเห็นได้ว่า หลายๆ ครั้ง จะกีฬาอะไรก็ตาม เวลาแพ้แล้วมีข้อกังขา ยิ่งเป็นกับทีมชาติด้วยแล้ว ความรู้สึกที่เราต้องเชียร์ชาติของเรา ความรู้สึกที่ว่า เฮ้ย เราโดนโกง เราไม่ได้รับความยุติธรรม มันก็ไม่น่าแปลกใจที่กองเชียร์จะแสดงออกถึงความรู้สึกที่ไม่โอเค แล้วปัจจุบัน ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย มันก็สามารถที่จะเข้าไปโวยไปด่าไปตำหนิติเตียนตรงจุดนั้นๆ เช่น วอลเลย์บอล ก็เข้าไปทางสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) หรืออาจโยงไปทางญี่ปุ่น แต่ผมคิดว่า ทุกอย่างมันต้องมีความพอเหมาะพอดี คือเราต้องการความยุติธรรมก็จริง แต่วิธีการก็ต้องเป็นวิธีการที่ต้องเป็นไปตามกฎกติกา สมมติเราคิดว่า เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ต้องอุธรณ์ ต้องประท้วง ไปตามกติกา ไม่ใช่พอหงุดหงิด ไม่พอใจอะไร ก็ไประบายออกกับช่องทางที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ซึ่งทุกวันนี้คือการโพสข้อความ
คือเรามักพูดถึงแต่เรื่องความเป็นมืออาชีพของนักกีฬา แต่เราไม่เคยพูดถึงความเป็นมืออาชีพของกองเชียร์?
ใช่ แฟนกีฬาในบ้านเรา ยังขาดความเป็นมืออาชีพอยู่เยอะพอสมควร คือบางครั้ง พอมันกลายเป็นการแสดงออกที่เกินขอบเขต แทนที่เราจะได้รับความเห็นใจ มันก็กลายเป็นว่าคนอื่นๆ จะไม่เห็นใจ ยกตัวอย่างเวลาคนเราทะเลาะกัน คนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่า จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเสมอ ซึ่งถ้าเราใช้อารมณ์มากเกินไป มันก็อาจจะส่งผลเสียต่อทีมที่ตัวเองเชียร์ หรือประเทศของตัวเองไปด้วย
"แฟนกีฬาทุกวันนี้ จะชอบเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ บางทีไม่รู้หรอกว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่คิดในมุมมองตัวเอง และรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็จะพูดจะวิจารณ์ไปต่างๆ นานา"
กับอาชีพนักข่าว หรือนักพากย์ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ จากคนที่เรียนจบสายบริหารธุรกิจมา ทำไมสุดท้ายจึงมาลงเอยกับข่าวกีฬา
ผมสนใจกีฬามาตั้งแต่เด็ก อ่านนิตยสารกีฬามาตั้งแต่เด็ก และชอบเล่นกีฬา เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะถือว่าเป็นสถาบันที่เป็นอำนาจลูกหนังในระดับอุดมศึกษา ได้แชมป์ 3 ปีซ้อน เราเลยอยากเข้าเรียนที่นี่ เพราะเราชอบฟุตบอล โดยไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมีความสามารถมากพอจะเป็นนักฟุตบอลของสถาบัน และที่เลือกเรียนบริหาร ก็เพราะคิดว่าสมมติเราไม่ได้มาทางนี้ คือทำงานที่คลุกคลีกับกีฬา ก็ยังสามารถไปทำงานด้านอื่นได้ ซึ่งตอนนั้นเรามีความคิดว่า ถ้าเราจะทำงานที่คลุกคลีทางด้านกีฬา เช่น นักข่าวกีฬาเนี่ย ต่อให้ไม่จบสื่อสารมวลชน เราก็สามารถทำได้ เพราะมั่นใจว่าเรามีของ เพราะติดตามสนใจข้อมูลความรู้ทางกีฬามาตั้งแต่เด็ก พอจบมาปุ๊บก็เดินไปสมัครที่สยามกีฬาเลย
คำว่า 'บิ๊ก' จ๊ะ จริงๆ แล้วมาจากไหน เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่มี 'บิ๊ก' นำหน้าชื่อจะเป็นผู้มีอิทธิพล เช่น ทหารยศใหญ่ๆ
(หัวเราะ) คือแฟนกีฬาทุกวันนี้ จะชอบเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ บางทีไม่รู้หรอกว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่คิดในมุมมองตัวเอง และรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็จะพูดจะวิจารณ์ไปต่างๆ นานา บางคนก็ว่า ตั้งชื่อตัวเองว่า บิ๊กเพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลเหรอ คือพูดให้ฟังก็ได้ว่า จริงๆ แล้วนามปากกา 'บิ๊กจ๊ะ' เนี่ย จุดเริ่มต้นมันมาจากตอนเราทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นนักข่าว เป็นคอลัมนิสต์ เพราะฉะนั้นในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์การมีนามปากกามันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมเริ่มทำงานตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ปีนี้ 2559 ก็ทำงานมา 34 ปีแล้ว ถามว่าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เมืองไทยมีใครใช้บิ๊กนำหน้าหรือยัง ไม่มีนะครับ คำว่าบิ๊กที่สื่อไทยเอามาใช้กับทหาร กับผู้ยิ่งใหญ่ กับผู้มีอิทธิพล มันเกิดขึ้นหลังจากที่ผมเลือกใช้ เพราะฉะนั้นสามารถพูดได้เลยว่า บิ๊กจ๊ะ นี่เป็นบิ๊กคนแรกของประเทศ (หัวเราะ) คือสมัยนั้นยังไม่มี อาจจะเริ่มมีหลังจากนั้นสักเล็กน้อย เช่น บิ๊กจิ๋ว (พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ)
ถ้าถามว่าทำไมต้องใช้บิ๊ก มันไม่ได้มาจากการคิดว่า จะเอาคำนี้มาใช้ปะหน้า เพราะคิดถึงความยิ่งใหญ่ แต่มันเป็นเพราะ เราอ่านหนังสือกีฬาต่างประเทศมาตั้งแต่เด็กๆ และในแวดวงกีฬาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ หรือผู้จัดการทีม ถ้าคนที่มีผลงานดี ยกตัวอย่างอดีตผู้จัดการทีมคนหนึ่งชื่อ Ron Atkinson เขาก็ได้รับฉายาว่า บิ๊กรอน อันนี้ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่สามสิบปีก่อนแล้วเหมือนกัน ซึ่งมันก็จะมีบิ๊กอีกเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้น พอเราอ่านหนังสือกีฬามาตั้งแต่เด็ก เราก็จะคุ้นกับชื่อเล่นสไตล์นี้ พอเข้ามาแวดวงหนังสือปุ๊บ ก็เลยเลือกใช้ เพราะตอนนั้นมันยังไม่ซ้ำกับใคร
นักข่าวกีฬามีส่วนสำคัญต่อวงการกีฬาอย่างไร
ตรงตัวเลยคือเป็นผู้นำเสนอ หรือถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้คนที่เป็นแฟนกีฬาได้ดู ได้ฟัง ได้อ่าน มันก็เหมือนนักข่าวสายอื่น แต่ความสำคัญมันจะอยู่ที่ว่า ไม่ว่าคุณจะทำข่าวสายไหน คุณเป็นนักข่าวด้านไหน คุณก็ต้องพยายามนำเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงไม่บิดเบือนของข่าวนั้นๆ มานำเสนอ อาจจะมีส่วนเสริมเพิ่มเติมเช่นว่า ตัวของนักข่าวเองแต่ละคน บุคลิกลักษณะ ความรู้ความสามารถ ความน่าเชื่อถือ มันจะเป็นส่วนช่วยเสริมที่ทำให้คุณได้รับการยอมรับ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องคิดตลอดเวลา ว่าเราจะต้องรักษามาตรฐานไว้ให้ได้ อย่างผม ผมไม่เคยคิดว่า เราเก่งแล้ว เราดีเลิศแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาแล้ว ไม่ใช่เลย เพราะงานพวกนี้เป็นมีทั้งจุดที่ได้รับความนิยม และเสื่อมความนิยม
"ทศวรรษที่ 70 ที่ Liverpool ครองความยิ่งใหญ่ ผมเป็นแฟนแมนยูฯ นะ แต่ก็ยกย่องชื่นชมผลงาน Liverpool ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนแฟนบอลทุกวันนี้ที่จะต้องมาโกรธเกลียดกัน ในสมัยเด็กๆ ยุคนั้นจะมีการแกะโปสเตอร์สีมาจากหน้ากลางของนิตยสารเอามาแปะข้างฝา ห้องนอนของตัวเองในยุคนั้น บางช่วงก็แปะแมนยูฯ บางช่วงก็แปะ Liverpool เพราะชื่นชม ทั้งที่ไม่ได้เป็นแฟน Liverpool"
ในฐานะนักพากย์ แมตช์ที่อยากพากย์ที่สุดคือแมตช์ไหน
จริงๆ คงพูดลำบาก เพราะตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่พากย์ฟุตบอลมาเนี่ย ปีหนึ่งหนึ่ง เราพากย์ฟุตบอลนับไม่ถ้วน ผมคงเจาะจงไม่ได้ว่ามีแมตช์ไหนอยากพากย์ที่สุด เพราะแต่ละแมตช์ แต่ละทัวร์นาเมนต์มันก็มีสถานการณ์แตกต่างกันไป มีความสนุกแต่ต่างกันไป คือไม่ว่าจะเป็นคู่ชิงฟุตบอลโลก คู่ชิงยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก คู่ชิงบอลยุโรป พากย์นัดที่สำคัญๆ เช่นลุ้นแชมป์ลีก เราพากย์มาหมดแล้ว ทุกอย่างที่สำคัญๆ ผ่านมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากพากย์คู่ไหนเป็นพิเศษ เพียงแต่ว่าพอไปถึง ณ จุดนั้น เราได้พากย์ และมันเป็นเกมส์ที่สนุก เป็นเกมส์ที่อยู่ในความทรงจำของคนดู แค่นั้นมันก็โชคดีสำหรับเราแล้วที่ได้พากย์คู่นั้น
แมตช์ไหนที่เคยพากย์แล้วเสียจริตที่สุด
ไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตการพากย์ฟุตบอลคือ เดือนธันวาคม ปี 1998 ฟุตบอลเอเชียนเกมส์รอบก่อนรองชนะเลิศระหว่างไทย กับ เกาหลีใต้ ตอนนั้นในสนามผู้เล่นไทยถูกไล่ออกจนเหลือ 9 คน สมัยนั้นกฎต่อเวลาคือโกลเดนท์โกลด์ ใครยิงเข้าชนะเลย สุดท้ายเราชนะเกาหลีใต้ 2 ประตูต่อ 1 แมตช์นั้นคือแมตช์ประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลไทย และผมได้ไปพากย์อยู่ในสนามราชมังคลากีฬาสถาน คนดู 6-7 เหมื่นคน เป็นแมตช์เดียวพี่พากย์แล้วเสียงหลุดโลกที่สุด หลังๆ นี้ยังมีคนเอาคลิปมาเปิด เราย้อนกลับไปฟัง ถามว่าน่าขายหน้า น่าอายไหม มันก็ไม่ใช่หรอก ชั่วโมงนั้นคนไทยกระโดดกันทั้งประเทศ ผมพากย์อยู่ในสนาม แฟนบอลมาล้อมๆ อยู่ เนื่องจากว่ามันมีจอมอนิเตอร์ที่จะได้เห็นภาพรีเพลย์ พอไทยยิงเข้าปุ๊บทุกคนก็เข้ามากระโดดโลดเต้น คนไม่รู้จักกันก็กอดกัน ผมนั่งพากย์อยู่ แฟนบอลเข้ามากระโดด มาอุ้ม นั่นคือแมตช์เดียวที่ผมพากย์อย่างหลุดโลกที่สุด เพราะมันคือทีมชาติไทยของเรา การเหลือ 9 คนและชนะเกาหลีใต้หนึ่งในยอดทีมของเอเชียมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
รู้ใช่ไหมว่ามีกระแสจากแฟนบอลทีมคู่ปรับกับทีมรักของคุณ บางส่วนมองว่า เวลาพากย์ คุณมักเข้าข้าง Manchester United
คนที่บอกว่าผมเข้าข้าง Manchester United ผมขอถามแบบนี้ว่า คุณเคยคิดในมุมกลับไหมว่า ในความรู้สึกของคุณ คุณเข้าข้างทีมของคุณมากกว่าเวลาที่คุณคิดว่าผมพากย์แล้วเข้าข้างแมนยูฯ หรือเปล่า เพราะโดยส่วนตัว ผมกล้าพูดเลยว่า ไม่ว่าจะพากย์ทีมไหน ผมก็พากย์เป็นกลางตลอด คือคน โดยเฉพาะสมัยนี้ จะยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของตัวเอง ใครทำอะไรไม่เหมือนตัวเอง ไม่ตรงกับที่ตัวเองพอใจ ก็ผิดหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมีแฟนบอล Liverpool เยอะแยะนี่ที่พูดว่า ไม่เห็นว่าผมจะเข้าข้าง ถ้าดูอย่างเป็นกลาง คุณจะเห็นความจริง คือการพากย์ฟุตบอล มันก็คล้ายๆ การพากย์หนัง หรือพากย์อะไรอื่นๆ สมมติเราพากย์หนัง เราก็ต้องอินไปตามบทนั้นๆ ดังนั้น การพากย์กีฬา พากย์ฟุตบอล เราก็ต้องอินไปกับเกม สนุกไปกับเกม พูดไปตามที่เกมเกิดขึ้น คือผมคิดว่ามันอาจจะมาจากช่วงเวลาหนึ่งในปี 1999 ที่ Manchester United ได้ทริปเปิ้ลแชมป์ พอดีฤดูกาลนั้นผมพากย์ Manchester United เยอะมากทั้งพรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก ซึ่งฤดูกาลนั้น Manchester United ดันทำผลงานได้เหลือเชื่อในแต่ละนัด เพราะฉะนั้นเวลาเราพากย์ มันไม่ได้เกี่ยวหรอกว่าทีมนั้นคือแมนยูฯ แต่ถ้าทีมไหนสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้ เราก็จะพากย์ในอารมณ์ความรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน อย่างทศวรรษที่ 70 ที่ Liverpool ครองความยิ่งใหญ่ ผมเป็นแฟนแมนยูฯ นะ แต่ก็ยกย่องชื่นชมผลงาน Liverpool ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนแฟนบอลทุกวันนี้ที่จะต้องมาโกรธเกลียดกัน ในสมัยเด็กๆ ยุคนั้นจะมีการแกะโปสเตอร์สีมาจากหน้ากลางของนิตยสารเอามาแปะข้างฝา ห้องนอนของตัวเองในยุคนั้น บางช่วงก็แปะแมนยูฯ บางช่วงก็แปะ Liverpool เพราะชื่นชม ทั้งที่ไม่ได้เป็นแฟน Liverpool
จริงๆ แล้วกีฬาฟุตบอลมันสนุกอย่างไร เราจะอธิบายให้คนที่ไม่อินกับฟุตบอลฟังแบบไหนว่าฟุตบอลมันสนุก
โดยส่วนตัวผมคิดว่า มันเป็นเกมที่เล่นง่าย คือเด็กๆ ก็เล่นฟุตบอลกันตั้งแต่ประถม เกือบทุกโรงเรียนมีสนามฟุตบอล ถามว่ามันสนุกอย่างไร ตอบง่ายๆ ว่าฟุตบอลมันสร้างมาเพื่อความตื่นเต้นโดยตรงอยู่แล้ว คือกีฬาบางอย่างถ้าจะดู เราต้องเงียบๆ เพื่อให้นักกีฬามีสมาธิ เช่น สนุกเกอร์ ฯลฯ แต่สำหรับฟุตบอลคือ หนึ่ง—มันเป็นกีฬาที่ไม่สลับซับซ้อนมากในเรื่องกฎกติกา สอง—มันไม่เหมือนหนังที่มีการเขียนสคริปต์ไว้ก่อน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนาทีต่อนาทีมันคือความเหลือเชื่อ นี่แหละคือเสน่ห์ของฟุตบอล เช่น นัดชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกปี 1999 แมนยูฯ จะแพ้อยู่แล้วนะครับ เจอกับ Bayern Munich หกนาทีแรก Mario Basler ยิงให้ Bayern Munich ขึ้นนำ สถานการณ์หลังจากนั้น Manchester United แทบไม่มีโอกาสลุ้น แต่พอช่วงทดเวลาบาดเจ็บ กลายเป็นว่าลูกเตะมุมที่ David Beckham โยนมาทำให้ Teddy Sheringham ยิงประตูตีเสมอ และไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นก็ได้ประตูชัยจาก Ole Gunnar Solskjaer ทั้งหมดมันคือความเหลือเชื่อ
ผมคิดว่าถ้าใครได้ลองนั่งดูจริงๆ จังๆ เขาก็จะมีอารมณ์ร่วม โดยที่เราไม่ต้องอธิบายด้วยซ้ำ ในช่วง 10-20 ปีหลัง อัตราส่วนของผู้หญิงที่หันมาสนใจฟุตบอลเยอะกว่าเดิมมากๆ นะครับ ผู้หญิงบางคนรู้เรื่องฟุตบอลไม่ได้น้อยกว่าผู้ชายเลย
ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาของมวลชนทั่วโลก ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาที่แข่งขันกันแค่ฟุตบอลอย่างเดียว แต่มีศักศรีดิ์เทียบเท่าโอลิมปิกที่รวมกีฬาทุกชนิดเข้าไว้ด้วยกัน
"ฟุตบอลยุโรปต่างจากฟุตบอลโลกแค่ไม่มีบราซิล กับอาร์เจนตินา จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีชาติโน้นชาตินี้ ไม่มีชาติในเอเชีย แต่ถ้าพูดถึงชาติที่ได้ลุ้นแชมป์ มันก็ขาดอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นความสนุกความตื่นเต้นของบอลยุโรป มันก็แทบจะเป็นปริมาณที่เต็มอิ่มรองจากบอลโลกคือบอลยุโรป 100% บอลโลกอาจ 150%"
อย่าง EURO 2016 ที่กำลังจะเตะเปิดสนาม คุณเชียร์ทีมไหน
คือจริงๆ เป็นแฟนทีมชาติอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก อังกฤษได้แชมป์โลกตอนปี 1966 ตอนนั้นผมอายุ 7 ขวบ ซึ่งดูสดๆ ไม่ทันหรอก แต่สมัยก่อนในโรงหนังจะมีการนำเกมฟุตบอล หรือมวยโลกรุ่นยักษ์มาฉายหลังแข่งขันกันจบไปแล้ว อาจสองสามเดือน หรือหนึ่งปีหลังจากนั้น บวกกับเราขอเงินพ่อซื้อนิตยสารกีฬาอ่านตังแต่เด็กๆ เจอกับบทความเกี่ยวกับอังกฤษ ก็เลยเป็นความรู้สึกผูกพันธ์
การเชียร์ฟุตบอลในทุกวันนี้สำหรับคุณที่ดูบอลมาตั้งแต่ 9 ขวบ แตกต่างไปจากเมื่อก่อนไหม
ค่อนข้างจะทำใจ จะใช้คำว่าปลงก็ไม่ได้ แต่เราเห็นสัจธรรมมากกว่าสมัยเป็นวัยรุ่นเยอะว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อังกฤษได้แชมป์ปี 1966 หลังจากนั้นไม่เคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกเลย ครึ่งศตวรรษพอดี แล้วก็ไม่เคยได้แชมป์ยุโรปเลยด้วย แต่หนนี้ ดูตัวผู้เล่นอังกฤษ ผมคิดว่าน่าจะเป็นอีกครั้งที่พอมีลุ้น แต่เรื่องของฟุตบอลเราก็ไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้
เหตุผลอะไรที่เราต้องดู EURO 2016 คืออะไร
ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกผูกพันธ์กับแฟนกีฬาในบ้านเรา มันก็โยงๆ มาจากฟุตบอลโลก หลายคนใช้คำว่า ฟุตบอลยุโรปต่างจากฟุตบอลโลกแค่ไม่มีบราซิล กับอาร์เจนตินา จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีชาติโน้นชาตินี้ ไม่มีชาติในเอเชีย แต่ถ้าพูดถึงชาติที่ได้ลุ้นแชมป์ มันก็ขาดอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นความสนุกความตื่นเต้นของบอลยุโรป มันก็แทบจะเป็นปริมาณที่เต็มอิ่มรองจากบอลโลกคือบอลยุโรป 100% บอลโลกอาจ 150% มันเป็นความผูกพันธ์ของแฟนบอลในบ้านเรา จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เมืองไทย มันทั่วโลกด้วย
ชาตินี้บอลไทยจะได้ไปบอลโลกไหม
ก่อนหน้านี้เคยพูดว่ายาก สักประมาณสิบปีก่อน เคยรับปากกับพวกแฟนบอลว่า จะโกนหนวดหนหนึ่งตอนปี 1999 ที่แมนยูฯ ได้ทริปเปิ้ลแชมป์ ซึ่งมันเป็นความประจวบเหมาะที่เราไปรับปากแฟนรายการวิทยุที่จัดอยู่พอดีตั้งแต่ต้นฤดูกาล โดยไม่คิดว่าจะได้หรอก คือบางคนจะคิดว่า จะอินกับแมนยูฯ อะไรขนาดนั้น บางคนอาจใช้อคตินำหน้า แต่โดยส่วนตัวไม่ใช่คนเวอร์ๆ ที่ชอบโปรโมตตัวเองอยู่แล้ว แต่ผมแค่รับปากแฟนบอลไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลแค่นั้นเอง
กลับมาที่บอลไทย ผมก็เคยรับปากในรายการรายการหนึ่ง คือเขาถามว่า ถ้าบอลไทยได้ไปบอลโลกจะทำอะไร ผมเลยบอกผมยอมโกนหนวดตลอดชีวิตเลย เพราะสิบกว่าปีที่แล้ว โอกาสน้อยมาก แต่ ณ ตอนนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่ใกล้เคียงที่สุดอีกครั้ง ก่อนหน้านี้คือปี 2002 ที่เราได้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายของเอเชีย รอบนี้คือ 12 ทีม ถามว่าเรามีโอกาสลุ้นไหม คือมันคงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่มีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ในสายก็คือว่าหนักแล้ว แต่ตราบใดที่เรายังมีหวัง ก็คงได้ลุ้นสนุก และดูจากแนวโน้มที่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) เข้ามาคุมทีมตั้งแต่ปี 2013 ถ้าเป็นกราฟก็ถือเป็นกราฟที่พุ่งขึ้นตลอด และตัวบ่งชี้สำคัญคือความนิยมของแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นมหาศาล