ทอล์ก-กะ-เธอ คุยไปไกล กับกะเทยผจญภัย ป๋อมแป๋ม—นิติ ชัยชิตาทร 

ป๋อมแป๋ม—นิติ ชัยชิตาทร เป็นคนตลก

ตลอด 5 ปี นับจากรายการท่องเที่ยวกระตุ้นอารมณ์ขันอย่าง เทย เที่ยว ไทย โลดแล่นอยู่บนจอแก้ว สร้างเสียงหัวเราะพร้อมพาผู้ชมตระเวนทั่วไทยไปกับสามพิธีกรที่ประกาศออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำว่าตัวเองเป็น 'กะเทย' อย่าง ป๋อมแป๋ม—นิติ ชัยชิตาทร, ก๊อตจิ—ทัชชกร บุญลัภยานันท์, กอล์ฟ—กิติพัทธ์ ชลารักษ์ เราอาจกล่าวได้ว่าป๋อมแป๋มเป็นคนตลก



จะไม่ให้ตลกได้อย่างไร ในเมื่อนอกจาก เทย เที่ยว ไทย งานอื่นๆ ที่ป๋อมแป๋มทำหลังก้าวจากการเป็นครีเอทีฟที่อยู่เบื้องหลังมาสู่แสงสปอตไลต์เบื้องหน้า เช่น คลิปล้อเลียนซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Hormones วัยว้าวุ่น หรือคลิปล้อเลียนรายการประกวดนางแบบชื่อดังอย่าง The Face Thailand ที่เป็นผลผลิตจากอีกหนึ่งรายการที่เขาทำหน้าที่เป็นพิธีกรอยู่อย่าง ทอล์ก-กะ-เทย Tonight ก็เรียกยอดวิวในยูทูบได้กระจุยกระจาย พร้อมเสียงหัวเราะชนิดที่เรียกได้ว่าฮาน้ำตาเล็ดน้ำตาไหล
ป๋อมแป๋ม—นิติ ชัยชิตาทร อาจเป็นคนตลก เป็นความตลกที่ฝังอยู่ในกมลสันดาน แต่ในฐานะของคนที่จบมาจากคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของภาษา ยังเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวเชิง 'มานุษยวิทยา' หากต้องวิเคราะห์ความตลกของตัวเองออกมา โดยเฉพาะความตลกในฐานะของ 'เพศที่สาม' ที่สังคมมักมีภาพจำว่ากะเทยอย่างเขาเป็นคนตลก เขาก็สามารถวิเคราะห์ออกมาผ่านการผนวกรวมบริบททางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ได้อย่างถึงแก่น 
"...เรารู้สึกว่าเรากำลังถูกมอบหมายบทตลกให้อยู่มากกว่า"
นี่คือน้ำจิ้มเล็กๆ ของวิธีคิดที่แข็งแรงของป๋อมแป๋ม เป็นวิธีคิดที่เขานำมันไปใช้กับเรื่องราวอื่นๆ เสมอในหน้าที่การงาน สังเกตได้จากคำตอบของเขาที่มีต่อเรา ทั้งเรื่องกระแสการท่องเที่ยว พื้นที่ของเพศที่สาม ภาพรวมของรายการบันเทิงไทย หรือการมองลึกลงไปภายในเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง ป๋อมแป๋มก็สามารถตอบออกมาได้อย่างฉะฉาน ชัดเจน และตรงประเด็นเสมอ
จึงไม่หน้าแปลกใจแต่อย่างใดที่รายการ เทย เที่ยว ไทย ภายใต้การดูแลของเขานั้นจะเจริญเติบโตและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดออกอากาศเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นรายการหนึ่งที่นอกเหนือจากความบันเทิง ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยับขยายที่ทางของกลุ่มคนเพศที่สามให้ถ่างกว้างมากขึ้น
นี่คือคนบันเทิงมากความสามารถที่มีงานชุกที่สุดคนหนึ่งของวงการ เป็นมนุษย์ productive ที่ยังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยความพีคระดับสิบออกมาได้สม่ำเสมอ ...อาจเพราะถ้อยคำที่เขานิยามตัวว่า ฉันเป็น 'กะเทยผจญภัย' จึงทำให้ป๋อมแป๋มในวันนี้ยังไม่หยุดเดินทาง และเป็นการเดินทางทั้งภายนอกและภายใน เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ที่ทางที่หลากหลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

ล่าสุดมีข่าวที่พาดหัวดูรุนแรงบอกว่าป๋อมแป๋มตกเขา 'หวิดดับ' จริงๆ แล้วเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
(หัวเราะ) โอเวอร์มากค่ะ ไม่ได้หวิดดับ คือขี่จักรยานไปเกาะแตน สุราษฎร์ธานี มันเป็นที่ที่ไม่คุ้น พอลงเนินไปปุ๊บ มันเป็นทางที่เราควบคุมจักรยานไม่ได้ ไม่นึกว่ามันจะดิ่งลงไปยาวขนาดนั้น สุดท้ายจักรยานก็ไปทาง ตัวก็ไปทาง แต่ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้หวิดดับ คือเราล้มเป็น เลยมีแผลถลอกเล็กน้อย

เข็ดไหม
ยังชอบอยู่ค่ะ เราเป็นกะเทยผจญภัย ชอบผจญภัย คือเรารู้สึกว่าถ้ามันจะตายมันก็ต้องตายแหละ ไม่ได้กลัวตาย จริงๆ ไม่ได้อยากอยู่ถึงแก่ด้วย แล้วด้วยความที่เราไม่ใช่คนรักสบาย เราเป็นกะเทยสายทอมบอย เป็นกะเทยสายสปอร์ต เราก็จะชอบเดินทาง ชอบเคลื่อนไหว ซึ่งมันก็ห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดอะไรขึ้นเลย ไม่งั้นเราคงต้องอยู่นิ่งๆ แค่ออกจากบ้านเราก็ต้องเจอเรื่องราวใหม่ทุกวันอยู่แล้ว แล้วเราทำงานสายคิด เรียนสายมนุษยศาสตร์ ทำงานสายสร้างสรรค์ มันก็บังคับให้เราต้องออกไปเจอโลก ไปพบปะผู้คน วัฒนธรรม ชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้นการก้าวเดินออกจากบ้านทุกวัน มันเลยช่วยทำให้เราเจออะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด เราต้องเจออะไรใหม่ๆ ทุกวันน่ะ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะไม่ต่างอะไรจากเครื่องจักร หรือจะให้เราดำเนินชีวิตแบบยุงเหรอ ไข่ เปลี่ยนรูปเป็นลูกน้ำ เป็นตัวโม่ง เป็นยุง วนแบบนี้เป็นวัฏจักรเหรอ แต่เราเป็นมนุษย์ไง เราก็ต้องเจออะไรที่ไม่เหมือนเดิม อยู่บ้านเฉยๆ มันไม่มีทางเจออะไรน่ะ ทีวีก็รีรันรายการเดิมๆ เปาปุ้นจิ้นนี่รอบที่หมื่นแล้ว ก็เลยจะชอบไปในที่ที่ไม่เคยไป อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่มันก็โอเค 



แต่มันก็จะมีด้านตรงข้ามของการท่องเที่ยวที่บูมมากๆ ในปัจจุบัน จนกลายเป็นขนบบางอย่างที่เรียกร้องให้ผู้คนต้องออกไปเผชิญโลก การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยกระดับชีวิต การเช็กอินสถานที่เก๋ๆ เป็นเครื่องมือในการเข้าพวก ใครที่ไม่ได้ออกไปเผชิญโลก อาจด้วยไม่มีเวลา สถานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเหมือนคนอื่นจะรู้สึกเป็นปมด้อย หรือบางคนต้องกระเบียดกระเสียนใช้งบจำกัดเพื่อจะได้ออกเดินทาง คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ ...ไม่รู้นะ อันนี้เป็นความคิดส่วนตัว ถ้าไม่เห็นด้วยก็เรื่องของเธอ เราคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย โอเคมันจำเป็นก็จริง แต่ต้องยอมรับความฟุ่มเฟือยของมัน มันเป็นสิ่งเดียว เป็นกิจกรรมใช้เงินอย่างเดียวในโลกที่เราจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับมาเลย มันไม่ใช่การช้อปปิ้งที่จะได้ของกลับมา มันไม่ใช่การเอาเงินไปลงคอร์สเรียนหนังสือ ที่จะได้ความรู้กลับมา ซึ่งต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวคือการเอาเงินไปทิ้ง เพื่อเหตุผลส่วนบุคคล เช่น ได้ความสบายใจ ได้แรงบันดาลใจ ได้การพักผ่อน บลาๆ เพราะฉะนั้นเราจะคิดว่าการมาเค็มกับการท่องเที่ยวมันไม่ถูก แอบไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ว่าทำไมการไปเที่ยวด้วยเงินน้อยๆ ถึงกลายเป็นเรื่องเท่ เงินพันเดียวไปถึงตรงนั้นตรงนี้ รู้เลยว่ามึงกระเบียดกระเสียน และเหนื่อยกว่าทำงานอีกมั้ง การท่องเที่ยวมันควรจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ดี มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการพาตัวเองออกไปเพื่อทำร้ายตัวเอง หรือกดดันตัวเอง เราเชื่อแบบนี้
ส่วนตัวเราวิเคราะห์ว่ากระแสการท่องเที่ยวที่มันบูมช่วงหลังๆ มันอาจมาพร้อมกับสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมการเที่ยวเปลี่ยนไป อย่างเมื่อก่อนถ้าเราอยากไปเที่ยว เราจะต้องนึกสถานที่ที่เราอยากไปก่อน เช่น เราอยากไปเชียงใหม่ หลังจากนั้นเราก็จะค่อยหาปัจจัยที่เหมาะสม เช่น การเดินทางที่สมเหตุสมผล ที่พักที่เหมาะสมกับฐานะของเรา แต่ตอนนี้มันตรงกันข้าม คนอาจซื้อตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นในราคาไม่กี่พัน รีบจองทันทีโดยยังไม่ได้คิด นั่นหมายความว่า เรายังไม่ได้คิดเลยว่าเราอยากไปที่นั่นจริงหรือเปล่า เพราะเราซื้อเพราะมันถูก ที่สำคัญ ถ้าไม่มีเงิน ก็ควรทำงานเก็บเงินก่อนดีไหม (หัวเราะ) ไม่ใช่ไปเที่ยว 0  บาท

ตอนนี้นอกจากรายการ เทย เที่ยว ไทย และทอล์ก-กะ-เทย คุณมีแผนการอื่นๆ อีกไหม
ก็กำลังโปรดิวซ์รายการบันเทิงรายการหนึ่งที่คิดว่าน่าจะสนุกอยู่ แล้วกำลังจะเตรียมเขียนหนังสือเล่มที่สอง ซึ่งจะไม่ใช่รวมสเตตัสเหมือนเล่มแรก (มะงุมมะงาหรา) อันนี้มีธีมในหัวไว้แล้ว เกี่ยวกับความสุขทางโลก

ทำไมถึงสนใจเรื่องความสุข
เราคิดว่าเราเป็นคนมีความสุข คือไม่ได้มีความสุขในทางธรรม แล้วก็ไม่ได้ไปไกลขนาดเป็นไลฟ์ไกด์แบบงานวิจัยจ๋าๆ ด้วย แต่เรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับวัตถุน่ะ มีความสุขกับเรื่องทางโลก เช่น เรื่องการกินเหล้า การไปปาร์ตี้ การช้อปปิ้ง ซึ่งเราไม่เข้าใจว่า ทำไมความสุขทางโลกถึงกลายเป็นตัวร้าย

"วัฒนธรรมของเราหน้าที่ตลกไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอกหรือคนฉลาด มันเป็นหน้าที่ของชนชั้นสอง เวลากลุ่มชนชั้นสูงเขาอยากตลก เขาก็ยังต้องจ้างตลกมาเป็นตลกหลวงเลย"
คุณจบคณะอักษรศาสตร์ เอกบาลี-สันสกฤต ซึ่งเวลาพูดถึงบาลี-สันสกฤต เราจะนึกอะไรไม่ค่อยออกนอกจากบทสวดมนต์ คุณมาถึงจุดที่กำลังยืนอยู่นี้ได้อย่างไร
พูดตรงๆ เราได้ใช้วิชาบาลี-สันสกฤตครั้งสุดท้าย ตอนสอบตัวสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่ได้แตะมันอีกเลย ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของวิชาสายมนุษยศาสตร์ที่มันบอกชัดๆ ไม่ได้ว่าจะสามารถเอาไปใช้อะไรกับงานได้บ้าง แต่วิธีการเรียนระหว่างทางมันกลับนำไปต่อยอดได้ ยกตัวอย่างเช่น เราต้องอ่านหนังสือเยอะ แล้วการเรียนบาลี-สันสกฤต มันก็ทำให้เราได้อ่านหนังสืออีกประเภทหนึ่งที่มีความสละสลวย รวมไปถึงหนังสือประเภทที่ไม่ได้สื่อสารกับคนแต่เขียนไว้สื่อสารกับเทพ อย่างคัมภีร์พระเวท ซึ่งมันก็เปิดช่องทางการสื่อสารของเรา จะได้เห็นระดับการใช้ภาษาที่แปลกใหม่จากระดับต่ำมากที่สุดไปจนถึงระดับสูงที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียนอักษรฯ มันไม่ได้เรียนแค่ภาษาไง มันไม่ใช่การมานั่งแปลบทสวดมนต์ แต่มันต้องเรียนเรื่องวัฒนธรรม อารยธรรมอินเดีย ได้เห็นการดีลระหว่างคนกับคน ที่สำคัญคือเขาจะสอนให้เราค้นหาแก่นของการสื่อสารแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาคิดงานทุกวันนี้เราก็จะพุ่งไปที่แก่นของมันก่อน  มันเลยมีผลกับการทำงานในปัจจุบัน ตั้งแต่การเขียนสคริปต์ การเป็นพิธีกร คือเราไม่ได้เก่ง แต่ถูกฝึกมาให้สามารถหาแก่นของการสื่อสารแต่ละอย่างได้อย่างรวดเร็ว

จากคนที่เคยอยู่เบื้องหลัง วันนี้กลายมาเป็นคนที่ยืนอยู่เบื้องหน้า พอใจกับสถานะตัวเองในปัจจุบันขนาดไหน
ไม่ค่อยพอใจ (หัวเราะ) คือเรายังชอบเบื้องหลังมากกว่านะ อย่างหนึ่งที่รู้สึกได้กับการทำงานเบื้องหน้าคือ เรายังไม่ได้เก่งขนาดนั้น เราเป็นพิธีกรที่ใช้ตัวตนของตัวเองเยอะมาก ถ้าให้เราเอาตัวเองไปเทียบกับนักแสดงที่เขาเปลี่ยนบทบาทได้ตลอด เรารู้เลยว่าเราทำไม่ได้หรอก หรือถ้าให้เป็นพิธีกรที่ต้องเป็นกลางมากๆ เราก็จะอึดอัด เราไม่ใช่พิธีกรที่ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่สามารถปรับได้ขนาดนั้น

แต่รายการที่ปลุกปั้นมากับมืออย่าง เทย เที่ยว ไทย ก็ดูเหมือนจะไปได้ดีและอยู่มายาวนานถึง 5 ปีแล้ว 
อันนี้เราพอใจในหลายๆ ระดับนะ เอาง่ายๆ ในแง่คนทำงาน เรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่เราตีโจทย์ได้ค่อนข้างชัด มันเป็นงานบูรณาการจากประสบการณ์การทั้งหมดที่ทำมา คือมีความรู้อะไรที่เคยครูพักลักจำมาก็เอามาโยนใส่

"ที่คนมักมองว่ากะเทยตลก มันอาจเป็นเรื่องของการใช้พื้นในเรื่องเพศร่วมกันของบ้านเรา ที่ไม่เคยให้พระเอก-นางเอกต้องตลก กะเทยเลยถูกวางอยู่ไว้ขอบๆ สปอตไลต์ที่ฉายไปที่พระเอกนางเอกที่เป็นชายจริงหญิงแท้ จากมุมมองของคนเรียนวรรณคดีไทย เราพบว่าไม่มีพระเอกคนไหนตลกน่ะ พระอภัยมณี อิเหนา พระลอไม่ตลก อีนางเอกก็ต้องสวย บทตลกเลยถูกผลักไปให้ตัวละครรองตลอด เราเพิ่งมีวรรณคดีเชิงตลกขบขันอย่างระเด่นลันได ตอนสมัย ร.3 นี่เอง มันก็เลยโดนปลูกฝังมาตลอดว่าคนที่อยู่กึ่งกลางของเรื่อง มันไม่ควรตลก สังคมก็เหมือนกัน คือเมื่อกะเทยเป็นขอบๆ ของสังคม กะเทยอาจไม่ได้พยายามดันตัวเองให้ตลกน่ะ แต่เรารู้สึกว่าเรากำลังถูกมอบหมายบทตลกให้อยู่" 

โจทย์ที่ว่าคืออะไร
โจทย์คือความสนุก โจทย์คือต้องการรายการทีวีที่สนุก เราตีโจทย์จากคำนี้ จากคำว่า การท่องเที่ยวที่สนุก แต่เราใส่ความคิดลงไปเยอะมากนะ เช่น เราพยายามรื้อกรอบดีไหม แล้วก่อนถ่ายเราทำการบ้านค่อนข้างเยอะ มีการคาดเดานู่นนี่นั่น คาดเดารีแอกต์คนดู ซึ่งเราค่อนข้างแฮปปี้ที่เราตีโจทย์ได้ถูกต้อง ฟีดแบ็คมันมาเกินกว่าที่เราตั้งใจ ยิ่งในแง่ของคนดู เรารู้สึกว่า คนดูตอบรับเรามากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่เคยนึกว่ารายการท่องเที่ยวมันจะทำให้เกิด core fan ขึ้นมาได้ อีกอย่างที่ค่อนข้างแปลกใจคือ มันดันมีกลุ่มคนดูหรือแฟนคลับที่เราไม่เคยเชื่อว่าจะมี เช่น คนแก่ที่เขาก็อาจจะไม่ได้อยากให้ลูกหลานเป็นกะเทยหรอก แต่เขากลับเอ็นดูเรา กลุ่มที่สองคือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่ปกติเขาดูละครกัน กลุ่มที่สามคือผู้ชายแท้ๆ คือการที่ผัวเมียเดินมาเจอเรา แต่ผัวดันกลับขอให้เมียถ่ายรูปให้ อันนี้ก็น่าแปลกใจ แล้วเราเจอบ่อยมาก อันนี้เราค่อนข้างแฮปปี้ แต่สิ่งที่พวกเราน่าจะแฮปปี้สุดคือเราคิดว่ามันน่าจะส่งผลต่อระดับภาพรวมของสังคม



โดยเฉพาะเรื่องเพศที่สาม?
ใช่ เรารู้สึกว่า การที่เราตั้งใจทำให้กะเทยดูเป็นคนปกติธรรมดามันเวิร์ก มันอิมแพกต์กับบางคนที่เขาอาจจะไม่เคยดีลกับคนแบบนี้มาก่อน หรือเด็กๆ ที่เป็นเพศที่สามหลายคนก็มาขอบคุณว่า ทำให้เขามีที่ยืน มีที่อยู่ คนเก็ตเขามากขึ้น แต่ถึงตอนนี้เราคิดว่า เราสามารถทำได้มากกว่านี้นะ

แต่ถ้ามองในเรื่องการตลาด มันกลายเป็นการเอาเรื่องของเพศที่สามมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยหรือเปล่า
ไม่นะ เราคิดว่าการเป็นกะเทยไม่ใช่จุดขาย การเป็นกะเทยมันเป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสาร เช่น เทย เที่ยว ไทย มันเป็นเรื่องของบรรยากาศการเที่ยวที่สนุกในกลุ่มเพื่อน แล้วเราก็แค่เฟคความเป็นเพื่อนไม่ได้เท่านั้นเอง ดังนั้นเราก็ต้องเอาเพื่อนของเรามา ซึ่งเพื่อนเรามันเสือกเป็นกะเทยไง ที่สำคัญถึงเราจะบอกว่าเราเป็นกะเทยก็จริง แต่เราไม่ได้พรีเซนต์อะไรที่มันนอกเหนือจากนั้นออกมานะ เราก็แค่ยอมรับเท่านั้นเองว่าเราเป็นอะไร แต่เราไม่เคยแต่งตัววิบวับ ติดขนนก หรืออะไรทำนองนั้น เราใส่รองเท้าแตะ เพื่อนเราใส่รองเท้าคู่เดียวมาสามปีอะไรแบบนี้ เราไม่ได้พรีเซนต์ความเลิศหรูวิไลแบบภาพจำที่สังคมมองกะเทย

แล้วสิ่งที่ทำให้สังคมในปัจจุบันยอมรับเรื่องเพศที่สามมากขึ้นคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสองสามปีก่อน คำว่า 'นก' ที่แปลว่าแห้วผู้ชาย ยังใช้กันอย่างจำกัดในกลุ่มเล็กๆ ของคนเพศที่สาม แต่ตอนนี้กลับเป็นคำที่คนทุกเพศทุกวัยใช้
เพราะช่องทางการสื่อสารเยอะขึ้น เมื่อก่อนเราเปิดรับสื่ออยู่ไม่กี่ช่องทาง แล้วสื่อส่วนมากมันถูกควบคุมโดยหน่วยงานที่อาจมีมาตรฐานบางอย่างของเขาอยู่ แต่เอาจริงๆ ถ้าพูดเรื่องการยอมรับ เราคิดว่าบ้านเรามันไม่ได้ต้องโต้เถียงเรื่องนี้ในระดับมหภาคหรือในระดับโครงสร้างทางความคิด ยกตัวอย่างง่ายๆ ฝรั่งที่เป็นคริสต์เขาต้องโต้เถียงเรื่องนี้เพราะในคัมภีร์บอกว่าถ้าคุณเป็นกะเทยเท่ากับคุณกำลังก่อบาป ในขณะที่บ้านเราบอกว่าเราเป็นเพราะชาติที่แล้วเราเป็นผู้ชาย แล้วเราเหี้ย เราเลยมาเป็นกะเทยในชาตินี้ ฝรั่งเขาถึงต้องเถียงตรงนี้ว่า เขาไม่ได้ทำบาปอยู่ แต่เราไม่มีตรงนี้ให้เถียง คือเป็นก็เป็น ยอมรับกันไป ก็เวรกรรมของเขาเนอะ อะไรทำนองนั้น คือเรื่องการยอมรับ เถียงไปก็เท่านั้นน่ะ เพราะมันไม่มีใครยอมรับคนทุกคนในโลกนี้ได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ สิ่งที่ต้องเถียงจริงๆ ก็คือเรื่องของกฎหมาย เช่น การแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องของการยอมรับในอีกระดับหนึ่ง มันเรื่องความชอบธรรมอีกแบบ

แต่ในระดับจุลภาคมันก็อาจยังต้องเถียงหรือเปล่า เช่น พ่อแม่บางคนที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ลูกของตัวเองเป็น
คือจากที่เราเห็นๆ มา เราว่าจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้เกลียดตุ๊ดหรืออะไรหรอก ปัญหาอย่างเดียวคือเขาดีลกับคนแบบนี้ไม่ถูกมากกว่า มันเลยเหมือนกับที่เรากลัวผีหรือเรากลัวงู เพราะเราไม่รู้ว่างูแบบไหนจะกัดกู แล้วกะเทยมันมีภาพแบบนั้นไง เหมือนผี รู้ว่ามี แต่ไม่รู้ว่ามึงจะเอาอะไรกันแน่ คนมันเลยดีลกับกะเทยไม่ถูก พอดีลไม่ถูก ก็เลยไม่ดีลดีกว่า ยิ่งเป็นชาวไทยที่เป็นชาวแฮปปี้เป็นหลัก ถ้าทำไม่เป็น กูก็ไม่ทำ ไม่คุยกับแม่งดีกว่า (หัวเราะ) ซึ่งการเกิดขึ้นของสื่อที่หลากหลายขึ้นมันก็เป็นตัวอย่างไงว่า มันมีวิธีในการดีลอยู่ 



เพราะแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้ชาวเพศที่สาม ต้องใช้ 'ความตลก' เพื่อหาที่หยัดยืนจนกลายเป็นภาพจำว่าเพศที่สามส่วนใหญ่เป็นคนตลก
อย่างแรกเราไม่ได้รู้สึกว่ากะเทยเป็นคนตลกนะ แต่เราจะรู้สึกว่ากะเทยส่วนมากเป็นคนมองโลกในแง่ดี จากการที่คุยกับเพื่อน เราพบว่าประเด็นคือ การเป็นตุ๊ดเด็กมันยากพออยู่แล้วไง คือไม่ต้องทำอะไรก็เครียดแล้ว เพราะเราตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า เราไม่เป็นอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง เราไม่เป็นอย่างที่เพื่อนๆ เป็น เพราะฉะนั้นกับบางเรื่องที่ไม่จำเป็น เราก็จะคิดว่าอย่าเอามาทำให้รกสมองเลย เราจะพยายามหาเรื่องสนุกกับทุกอย่างที่สามารถตักตวงได้ เราเลยเป็นคนอารมณ์ดี เราถูกสังคมเทรนด์มาให้เป็นแบบนี้
อีกเรื่องคือที่คนมักมองว่ากะเทยตลก มันอาจเป็นเรื่องของการใช้พื้นในเรื่องเพศร่วมกันของบ้านเรา ที่ไม่เคยให้พระเอก-นางเอกต้องตลก กะเทยเลยถูกวางอยู่ไว้ขอบๆ สปอตไลต์ที่ฉายไปที่พระเอกนางเอกที่เป็นชายจริงหญิงแท้ จากมุมมองของคนเรียนวรรณคดีไทย เราพบว่าไม่มีพระเอกคนไหนตลกน่ะ พระอภัยมณี อิเหนา พระลอไม่ตลก อีนางเอกก็ต้องสวย บทตลกเลยถูกผลักไปให้ตัวละครรองตลอด เราเพิ่งมีวรรณคดีเชิงตลกขบขันอย่างระเด่นลันได ตอนสมัย ร.3 นี่เอง มันก็เลยโดนปลูกฝังมาตลอดว่าคนที่อยู่กึ่งกลางของเรื่อง มันไม่ควรตลก สังคมก็เหมือนกัน คือเมื่อกะเทยเป็นขอบๆ ของสังคม กะเทยอาจไม่ได้พยายามดันตัวเองให้ตลกน่ะ แต่เรารู้สึกว่าเรากำลังถูกมอบหมายบทตลกให้อยู่ 

เวลามองเพศที่สามด้วยกันแสดงบทตลก คุณขำในระดับเดียวกับที่คนเป็นชายจริงหญิงแท้ส่วนใหญ่มองไหม
ไม่ และฉันรู้สึกว่าไม่ตลกด้วย บางทีเราจะรู้สึกว่าต้องขนาดนั้นเลยเหรอวะ แม้แต่ละครที่ตัวเองเล่นเอง คนที่คิดบทเขาเป็นผู้ชายเป็นผู้หญิงน่ะ เราก็รู้ว่าเขาไม่เข้าใจทั้งหมดหรอก เรามองดูแล้วว่าตัวเอกเรื่องนี้เป็นผู้ชายผู้หญิง กูก็ต้องไปอยู่รอบๆ เป็นตัวตลกไป คือนอร์มมันมาแบบนี้ แต่สมมติว่าวันหนึ่งสปอตไลต์มันบิดมาให้เราเป็นตัวเอก เราก็เชื่อว่าไม่มีใครที่จะต้องมาตลกตลอดเวลาหรอก

"เราคิดว่าอาจเพราะช่วงเวลาซีเรียสของคนไทยมันอาจไม่ค่อยมีคุณภาพหรือเปล่า สมมติว่าเรามีเวลาว่าง 8 ชั่วโมง เพื่อเลกเชอร์อะไรสักอย่าง เราจะรู้สึกว่าพวกเราส่วนใหญ่มักจะจัดการเวลา 8 ชั่วโมงนั้นให้มีประสิทธิภาพไม่ได้มากกว่า" 

ในฐานะคนทำงานสื่อสารมองว่าเพราะอะไรรายการโทรทัศน์บ้านเราถึงมีรายการที่ขายความตลกจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ก็มักมองว่าสนุกต้องเท่ากับตลก ทำไมเรื่องซีเรียสถึงสนุกไม่ได้
อย่างที่บอกว่าวัฒนธรรมของเราหน้าที่ตลกไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอกหรือคนฉลาด มันเป็นหน้าที่ของชนชั้นสอง เวลากลุ่มชนชั้นสูงเขาอยากตลก เขาก็ยังต้องจ้างตลกมาเป็นตลกหลวงเลย ดังนั้นเมื่อกลุ่ม elite เป็นกลุ่มมีความรู้ เป็นกลุ่มมีอำนาจ เขาจะไม่มีสิทธิ์ตลก เพราะเขาเป็นพระเอก ซึ่งก็ง่ายๆ เลยที่รายการตลกเรตติ้งดีกว่า เพราะสังคมเรามันมีคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม elite เยอะกว่าไง



หรืออีกอย่างเพราะวัฒนธรรมของเรามักไม่ชอบพูดกันตรงๆ เราชอบตลกกลบเกลื่อนเพื่อซ่อนความจริงไว้ใต้พรมแบบนั้นด้วยหรือเปล่า
เราคิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าคนไทยอาจพักเรื่องแย่ๆ หรือเรื่องเหนื่อยๆ เป็นมากกว่า แต่ไม่ใช่กลบเกลื่อน ตัวอย่างเช่น พอพักจากเกี่ยวข้าวเราก็มาร้องรำทำเพลง มหรสพของเราอยู่นอกเหนือจากการทำงาน มันไม่เคยถูกผนวกไปรวมกับช่วงเวลาซีเรียส

แล้วมหรสพที่ว่า สำหรับคุณ มองว่ามันมีมากเกินไปจนเราไม่ค่อยซีเรียสกับเรื่องที่ควรซีเรียสหรือเปล่า 
(หัวเราะ) ก็เป็นได้ แต่เราว่าไม่เกี่ยวกันขนาดนั้น เราคิดว่าอาจเพราะช่วงเวลาซีเรียสของคนไทยมันอาจไม่ค่อยมีคุณภาพหรือเปล่า สมมติว่าเรามีเวลาว่าง 8 ชั่วโมง เพื่อเลกเชอร์อะไรสักอย่าง เราจะรู้สึกว่าพวกเราส่วนใหญ่มักจะจัดการเวลา 8 ชั่วโมงนั้นให้มีประสิทธิภาพไม่ได้มากกว่า