แมสแค่ไหน ถามใจเธอดู #ภาค2 ตามติดความแมสระดับประเทศ ที่ไม่ว่าฮิปแค่ไหนก็อิน

      ความแมสในชีวิตเรามีหลากหลาย แต่ต่อไปนี้คือชิ้นส่วนของความแมสที่เรายืนยันว่าไม่ว่าใครได้ยินก็ต้องร้องอ๋อ!



1.พี่เบิร์ด
ดาวค้างฟ้าที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก ชื่อลำดับแรกๆ คงหนีไม่พ้น พี่เบิร์ด—ธงไชย แมคอินไตย์ (ที่ขณะนี้อายุย่างเข้า 57 ปี) ความดังของพี่เบิร์ดการันตีได้จากยอดขายอัลบั้มรวม 25 ล้านชุดและยอดตีตั๋วชมคอนเสิร์ตกว่า 2 ล้านใบ 

Why: เพลงของพี่เบิร์ดนั้นโดดเด่นด้วยเนื้อเพลงฟังง่ายเข้าถึงทุกวัย บวกกับการเอ็นเตอร์เทนในระดับเวิลด์คลาส จนทำให้ ‘พี่เบิร์ด’ กลายเป็นสถาบันที่พูดขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยฟังเพลงของพี่เขาก็คงต้องร้องอ๋อ



2.รองเท้าแตะช้างดาว
คงไม่เป็นการกล่าวที่เกินจริงนักหากเราจะพูดว่ารองเท้าแตะนันยาง หรือที่เรียกกันติดปากว่ารองเท้าช้างดาวคือรองเท้าที่คนไทยแทบทุกคนต้องเคยสัมผัส ความฮิตนี้ยังแผ่ขยายไปยังพม่า ซึ่งช้างดาวครองตลาดรองเท้าแตะยอดขายอันดับหนึ่งด้วยนะ

Why: ตำนานของรองเท้าแตะช้างดาวนั้นเริ่มต้นราว พ.ศ. 2511 เมื่อบริษัทนันยางร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจจากสิงคโปร์ผลิตรองเท้าแตะยางพารา 100% ขึ้นมาวางขายคู่กับรองเท้าผ้าใบนันยางในราคาคู่ละ 15 บาท ความทนทานและชื่อเสียงของนันยางช่วยขับส่งให้ช้างดาวครองใจไทยทั่วหล้าต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 


3.รายการเล่าข่าว
รู้หรือไม่ว่าเรตติ้งของรายการเล่าข่าวช่วงเช้ากินสัดส่วนกว่าครึ่งของเรตติ้งรายการโทรทัศน์ของไทยในช่วงเดียวกัน! โดยมีตัวเต็งอย่างรายการเรื่องเล่าเช้านี้กินส่วนแบ่งไปกว่า 50 เปอร์เซ็น ทว่าหลังแม่เหล็กอย่าง สรยุทธ สุทัศนจินดา ลาออก ก็ฉุดให้เรตติ้งรายการหายไปกว่า 14%

Why: สถาบันวิจัยเรตติ้ง Nielsen Media Research อธิบายว่าที่รายการเล่าข่าวจับใจคนไทยได้เพราะเรานิยมการสื่อสารแบบปากต่อปาก (การเมาท์นั่นแหละ) ยิ่งถ้าหากสารนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน (ข่าวชาวบ้าน) มากเท่าไหร่ก็ยิ่งฮิต 


4.พันทิป
จะกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ไปเที่ยว แต่งงาน หรือเผือกเรื่องชาวบ้าน! พันทิปล้วนมีให้ทั้งสิ้น จนเกิดอาชีพ ‘ม้านักรีวิว’ ขึ้น โดยนักการตลาดบอกว่าถ้าเป็นนักรีวิวมือใหม่ค่ารีวิวต่อชิ้นจะอยู่ที่ 5,000 ถึงหนึ่งหมื่นบาทเลยทีเดียว!

Why: กระทู้รีวิวเหล่านี้เข้าถึงคนไทยจำนวนมากด้วยอินเทอร์เฟซไม่ซับซ้อนและเนื้อหาแบบ ‘ปากต่อปาก’ ที่ถูกใจคนไทยทั้งผอง แถมการวางตัวเป็น ‘สังคมคุณภาพ’ นั่นก็ยิ่งเรียกแขกคนชั้นกลางได้อย่างดี 



5.ตลาดนัด
ใครไม่เคยเดินตลาดนัดบ้าง? น้อยคนที่จะตอบว่าไม่เคย เพราะในไทยมีตลาดนัดน้อยใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืนเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ดังหน่อยก็เช่นตลาดนัดรถไฟ ที่แต่ละคืนจะมีคนเดินเฉลี่ยถึง 100,000 คน 

Why: แต่รู้ไหมว่า พฤติกรรมชอบเดินตลาดไม่ได้เกิดกับเฉพาะบ้านเรา มันยังเป็นพฤติกรรมร่วมของชาวเอเชียที่มักอยู่รวมเป็นชุมชนและรักการปะทะสังสรรค์จนเกิดเป็นรากวัฒนธรรม ซึ่งตลาดก็ตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางการพบปะได้อย่างดี 


6.เหล้าพื้นบ้านสูตรลับ 
ไม่ใช่แค่เหล้าฉลากสีแดงสีเขียวที่เราคุ้นตาในท้องตลาดเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่ในท้องถิ่นแดนไทยยังมีเหล้าอีกหลายสูตรที่ติดตราตรึงใจขาเมากันมาเนิ่นนาน ทั้งเหล้าอุ กระแช่ หรือสาโทนั่นก็ใช่
 
Why:  สิ่งที่ทำให้เหล้าพื้นบ้านโดดเด่นคือ ‘ความแรง’ ที่หาไม่ได้ในตลาดบนดิน บวกกับวิถีพื้นถิ่นที่ในพิธีกรรมใช้เป็นตัวทำละลายยา (ที่เรียกกันว่า ‘ยาดอง’) ส่วนสูตรเหล้าอันเลื่องลือเพราะขึ้นชืิ่อเรื่องความแรงต้องยกให้ 4 คูณ 100 ที่มีตัวชูโรงเป็นพืชท้องถิ่นอย่างกระท่อม 


7.คำคม
ท้ายรถบรรทุก, หน้านิวส์ฟีดบนเฟซบุ๊ก, ชั้นหนังสือขายดีในร้านหนังสือ เหล่านี้คือแหล่งคำคมที่คนไทยเสพกันอยู่ทุกวัน โดยเพจ ‘คำคมโดนๆ’ นั้นมียอดไลก์สูงกว่า 1.3 ล้านไลก์  

Why: นักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่ากระแสนิยมคำคมนั้นสะท้อนว่าสังคมดังกล่าวกำลังน่าเป็นห่วง เพราะสะท้อนว่าสังคมนั้นอิงความเชื่อมากกว่าเหตุผล และขาดความเป็นปัจเจกทางความคิดด้วยนะ 

* เรื่องราวความแมสยังมีอีกมาก อยากรู้ต้องติดตามในท็อปแมส #ภาค3