ฟุตบอลยูโรกับเรื่องราวแต่กำเนิด ว่าด้วยลูกกลมๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ

        
        10 มิถุนายน 2016 คือวันที่ชาวโลกจะได้เริ่มชมการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งที่ 15 ที่มีผู้เข้ารอบสุดท้ายถึง 24 ทีม ผู้คนนับล้านเฝ้ารอที่จะร้องเพลงชาติให้กระหึ่มดังข่มขวัญอีกฝ่าย ความยิ่งใหญ่ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการแข่งขันเล็กๆ แสนเงียบเหงา ที่มีทีมชาติร่วมชิงชัยในรอบสุดท้ายเพียง 4 ทีมเท่านั้น 

        การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งแรก จัดขึ้นในปี 1960 ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีทีมชาติเข้าร่วมรอบคัดเลือกเพียง 16 ทีม และไม่มีประเทศในเครือจักรภพอังกฤษเข้าร่วมเลยสักทีมเดียว ทั้งที่ทีมชาติอังกฤษเป็นหนึ่งในทีมที่คนเฝ้ารอในยุคนี้ และยังนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬาฟุตบอลด้วยซ้ำ เพราะการแข่งขันฟุตบอลเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โดยสโมสรของวิทยาลัยในลอนดอนในปี 1863 
จนถึงตอนนี้วัฒนธรรมลูกหนังได้ฝังรากลึกในหลายประเทศจนกลายเป็นวาระระดับชาติของหลายประเทศ
        บทความจากเว็บไซต์ theguardian.com กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ผลักดันฟุตบอลให้ยิ่งใหญ่คือลัทธิชาตินิยม เพราะมันคือภาพแทนของสงคราม เพียงแต่เกมส์นี้ไม่อาจตัดสินกันด้วยแสนยานุภาพทางการรบ ทำให้ประเทศเล็กๆ ก็มีโอกาสคว้าชัยชนะ อย่างเช่นประเทศกรีซที่ปัจจุบันเป็นหนี้แทบล้มละลาย ก็เคยเป็นแชมป์มาแล้วในปี 2004 
        เมื่อศักดิ์ศรีของชาติไม่ได้วัดกันที่การเมือง เศรษฐกิจ สังคมเพียงอย่างเดียว จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะถวายหัวใจสำหรับ ‘ชาติ’ ให้กับเกมส์การแข่งขันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าฟุตบอลจะเป็นคนละเรื่องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 
ฟุตบอลเคยก่อสงครามระหว่างประเทศเอลซัลวาดอร์กับฮอนดูรัสในเวิร์ลคัพปี 1969 ขณะเดียวกันมันก็เคยสร้างสันติภาพ เมื่อชัยชนะของ Didier Drogba ในปี 2006 หยุดสงครามกลางเมืองในไอวอรี โคสต์ได้ ฟุตบอลยังเคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นในเวิร์ลคัพปี 1978 ผู้นำอาร์เจนตินาใช้ฟุตบอลเพื่อแสดงออกว่าประเทศยังคงมีความสามัคคีกันได้ แม้จะอยู่ในการปกครองแบบเผด็จการก็ตาม  
ในยุโรปเองฟุตบอลก็ยังคงเป็นตัวแทนของลัทธิล่าอาณานิคม โดย Daniel J. Flynn คอลัมนิสต์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง War on Football: Saving America’s Game ใช้คำเรียกฟุตบอลว่าเป็น Soccer Imperialism เขามองว่าพวกยุโรปใช้ฟุตบอลเพื่อครอบงำชาติอื่น อย่างที่พวกฟาสซิสม์เคยส่งต่อแนวคิดผ่านความบันเทิงและการกีฬาในยุคสงครามเย็น
และไม่ว่านั่นจะเป็นความตั้งใจของชาติยุโรปอย่างที่ Flynn กล่าวหาหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนคือชาวยุโรปไม่น้อยรักฟุตบอลยิ่งชีพ เห็นได้จากคำพูดของ Bill Shankly นักฟุตบอลและผู้จัดการทีมชาวอังกฤษ ที่บอกว่า “บางคนคิดว่าฟุตบอลเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย ผมไม่ชอบความคิดนั้น ผมมองว่ามันสำคัญกว่านั้นอีก” 
ความคิดเข้มเข้นอย่างนี้เอง ที่อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ยุโรปยังคงเป็นเจ้าแห่งกีฬาฟุตบอลอย่างยากจะให้ใครเทียบได้ไปอีกยาวนาน แม้ในวันที่พวกเขาไม่เหลือคราบของประเทศมหาอำนาจอีกแล้วก็ตาม

เนื้อหาส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ Core นิตยสาร giraffe ฉบับที่ 39 ติดตามอ่านทั้งหมดได้ที่ http://readgiraffe.com
___________________
ขอบคุณข้อมูลจาก
uefa.com
historyofsoccer.info
theguardian.com