The Way We Wander มุมมองการเดินทางต่างยุค มีอะไรซ่อนไว้มากกว่าความสนุกและสบาย



            “ขอรหัส Wi-Fi หน่อยได้ไหม” ประโยคคำถามนี้กลายเป็นคำทักทายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อก้าวเข้ามาถึงที่พักหรือหย่อนตัวนั่งในร้านอาหารต่างถิ่น ในเมื่อการพกสมาร์ตโฟนติดตัวไปทุกที่ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอีกต่อไป เพราะเจ้าอุปกรณ์สื่อสารที่เปรียบได้กับจักรวาลในฝ่ามือนี้ สามารถช่วยนักเดินทางทั้งหลายได้ตั้งแต่แปลภาษา เป็นแผนที่นำทาง แนะนำร้านอาหารเด็ด รายงานสภาพอากาศ ไปจนถึงแอพฯ เฉพาะเจาะจงสุดๆ อย่าง HerdTracker ที่คอยติดตามการอพยพของฝูงวิลเดอบีสต์ในอุทยานแห่งชาติเซเรนเกติ ให้เราได้เป็นพยานเหตุการณ์ประทับใจได้แบบเป๊ะๆ ไม่ต้องเสียเวลานั่งรอเป็นวันเป็นคืนเหมือนแต่ก่อน




        การเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลานี่เองที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการพักผ่อนกับการทำงานพร่าเลือนไปโดยปริยาย ในเมื่อเราทำงานผ่านคลาวด์ ส่งงานผ่านอีเมลกันอยู่เป็นกิจวัตร และเราติดต่อกันได้สารพัดช่องทาง การเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ จึงอาจไม่ได้หมายถึงการพักผ่อนเต็มรูปแบบที่ตัดขาดออกจากวันทำงานปกติเช่นในอดีต บวกกับกระแสการท่องเที่ยวของกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีเงินในกระเป๋าไม่มากนัก แต่ออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นประจำโดยเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี จนคาดกันว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 47% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกภายในปี 2020 แน่นอนว่าความต้องการของพวกเขาย่อมทำให้เกิดธุรกิจรองรับการท่องเที่ยวที่ต่างไปจากเดิม นั่นคือมียอดค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกลง ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ ให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนใหม่ๆ ตลอดเวลา นักเดินทางในยุคนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป



Photo: stayatbase

        สมาร์ตโฟนนี่เองที่ทำให้นักเดินทางทั่วโลกต้องแบกความคาดหวังของเพื่อนๆ อีกหลายร้อยหลายพันคนที่ติดตามรอชมภาพสวยๆ ในมุมที่ไม่เหมือนใคร เรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจผ่านโซเชียลมีเดียหลากรูปแบบตั้งแต่ตัวหนังสือ ภาพถ่าย วิดีโอ หรือที่ฮิตที่สุดในนาทีนี้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ให้ผู้ติดตามได้แชร์โมเมนต์ประทับใจร่วมกันแบบสดๆ 

        แต่นอกจากเราจะถูกจับจ้องผ่านสื่อที่เราเผยแพร่เองแล้ว สิ่งที่เราไม่ได้บอกให้ใครรู้ก็มีคนกำลังจ้องมองมันอยู่เช่นเดียวกัน นั่นคือคำค้นหาในเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ เส้นทางการเดินทาง ข้อมูลการจองที่พัก ร้านอาหาร หรือแม้แต่ระยะเวลาในการใช้งานอินเทอร์เน็ตแต่ละวัน ทุกอย่างที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับระบบออนไลน์ล้วนทำให้เราถูกนับเป็นหนึ่งหน่วยข้อมูลที่จะถูกแปลงเป็นเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าสู่กระเป๋าผู้ครอบครองเทคโนโลยีเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การที่เราทุกคนต่างก็เคยสร้างรายได้ให้แก่บริษัท Google ผ่าน Google Maps เป็นเงินตั้งแต่ 1,700 บาท ไปจนถึง 170,000 บาท! ต่อคนต่อปี

        ตัวเลขนี้ทำให้คำกล่าวของ Rick Dakin CEO ของ Coalfire บริษัทดูแลความปลอดภัยด้านไอทีที่ว่า “ไม่ว่าคุณจะโพสต์อะไรบนโลกออนไลน์ รู้ไว้เลยว่ามันจะถูกบริษัททั้งหลายนำไปขายเพื่อการโฆษณา” ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด

        นักท่องเที่ยวในยุคนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เพียงฝ่ายเดียว แต่เรายังถูกเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม