ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย โซเชียลเชื่อมเราเข้าหากันได้ไหม ถามใจตัวเองดู


            เทคโนโลยีเชื่อมโลกทั้งใบเข้าหากัน รวมถึงโลกของคนยุคอะนาล็อกและดิจิทัลด้วย งานวิจัยของ Ericsson Consumer Lab กล่าวว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารอันหลากหลายนั้นทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองเด็กลงไปนิดหนึ่ง เนื่องจากได้รับรู้ความเป็นไปของโลกมากกว่าการรับสื่อแบบเดิมๆ รู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น จากที่ต้องรอถามไถ่ความเป็นไปของกันและกันนานๆ ครั้งตามเทศกาลและโอกาสจะอำนวย ก็เปลี่ยนมาเป็นการกล่าวอรุณสวัสดิ์ยามเช้าในไลน์กรุ๊ปครอบครัวแทน

            ดูเหมือนนี่จะเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น แต่ด้วยความแตกต่างด้านพื้นฐานทางความคิด บริบทการใช้ชีวิตของคนในแต่ละยุคกลับทำให้เรื่องนี้ไม่ง่ายดายขนาดนั้น หลายคนถึงกับเปรียบเปรยไว้ว่า จุดจบของเสรีภาพในโลกออนไลน์เริ่มต้นขึ้นเมื่อแม่มาขอแอดเฟรนด์ในเฟซบุ๊ก หรือเมื่อญาติผู้ใหญ่ยื่นสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่มาให้เราสอนเล่นไลน์     

            จากตัวเลขจำนวนการเข้าถึงสมาร์ตโฟนของคนไทยที่มากขึ้นถึง 58% ทำให้เสียงบ่นถึงพฤติกรรมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของคนรุ่นพ่อ-แม่เริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่พฤติกรรมติดไลน์ ติดไลก์ ติดแชร์ ส่งต่อคลิปตลกกันแบบรัวๆ ฟอร์เวิร์ดข่าวลือ หรือเผยแพร่วิธีรักษาโรคสุดพิลึกพิลั่นที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องกุมขมับ เรื่องลี้ลับสุดขอบฟ้าที่นักวิทยาศาสตร์ต้องร่ำไห้ ไหนจะวิธีการพิมพ์ของผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดแป้นสัมผัสบนจอสมาร์ตโฟน ทำให้พิมพ์ผิดๆ ถูกๆ ล้วนเป็นสไตล์การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่แสนจะไม่คูล และดูน่าเป็นห่วงในสายตาคนยุคใหม่

            จากที่เหมือนจะใกล้แต่กลับกลายเป็นยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างกันให้ไกลออกไปอีกเสียด้วยซ้ำ

            สิงคโปร์ เมืองที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวนั้นพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุเคลื่อนพลเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยการเดินหน้าจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อให้ผู้สูงอายุได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ Zaiton Abu Bakar อายุ 60 ปีซึ่งเป็น 1 ในผู้แทน Silver InfocommWellness กล่าวว่าโซเชียลมีเดีย เป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุเช่นกัน ดังนั้นเธอจึงสอนเพื่อนๆ ให้ระวังภัยจากความทันสมัยเหล่านี้เสมอ