เราทุกคนเคยเจอมนุษย์ป้า—บุคคลที่ดูไม่เข้าที่เข้าทางกับย่านธุรกิจใจกลางเมือง
เกะกะเก้กังเมื่อต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน
ประพฤติตนไม่เหมาะจะเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้นๆ เราอยากบอกว่าไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่คิดแบบนั้น
แม้แต่กฎหมายก็นิยามให้พวกเขาเป็น
‘ภาระทางเศรษฐกิจและสังคม’ เช่นกัน
ในเมื่อไม่มีใครมองเห็นความสำคัญผู้สูงอายุ
สาธารณูปโภคและพื้นที่สาธารณะต่างๆ
จึงออกแบบกันมาโดยไม่เคยคำนึงถึงการมีอยู่ของพวกเขา สิทธิ์ในการเป็นพลเมืองที่ผู้สูงอายุจึงมีใช้ได้อย่างจำกัดจำเขี่ยเต็มที
รวมถึงการเกษียณอายุในวัย 60 ปี ทั้งๆ
ที่ผู้สูงอายุหลายคนยังมีศักยภาพไปต่อได้ แต่กลับถูกไล่ให้ไปปลูกต้นไม้
เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้านแทน
ไม่ใช่เพียงแรงกดดันจากสังคมภายนอกเท่านั้น
แต่ความเสื่อมถอยของร่างกายก็ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ที่ลดลง
จิตใจของผู้สูงอายุจากที่แห้งเหี่ยวอยู่แล้วก็ยิ่งหดหู่ลงไปอีกอย่างช่วยไม่ได้
นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุในรอบทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น
สถิติในปี 2553 บอกว่า
อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรอายุ 70-79
ปี สูงถึง 15 ต่อ 100,000 คนเลยทีเดียว
เคยคิดไหมว่า
เมื่อวันที่เราต้องกลายเป็นคุณลุง คุณป้า คุณย่า คุณปู่ มาถึง
เราจะรับมือกับความร่วงโรยเหล่านี้อย่างไร ในวันวัยแห่งความเป็นหนุ่มเป็นสาว
ความแก่เฒ่านั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว
เพราะนี่คือเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นออมเงินและลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
เกรียงศักดิ์
เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า
ผู้สูงอายุจะกลายเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งในฐานะของผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ใช้สมองและประสบการณ์ทดแทนแรงงาน
โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ
เพราะหากผู้สูงอายุเพียงครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดกลับมาทํางาน
จะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 33,000 ล้านบาทต่อปี
แต่หากไม่มีการปฏิรูประบบเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ในอนาคตกองทุนประกันสังคมจะล้มละลายและภาระการดูแลแรงงานทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐบาล
ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้ถึงวันนั้น