Beatnik— ฮิปสเตอร์แห่งยุค 60's ผู้ถูกกลืนหายไปท่ามกลางวัฒนธรรมฮิปปี้

ONCE UPON A TIME กาลครั้งหนึ่ง แห่งความเฟี้ยว

เราพูดถึงแฟชั่นยุค 50s-60s อยู่บ่อยครั้ง เพราะแฟชั่นจากยุคนั้นได้วนเวียนมากลายเป็นเทรนด์ฮิตในยุคใหม่เสมอ แต่ในความวนเวียนนั้นก็ช่างน่าแปลกใจ ที่มีบางซับคัลเจอร์ซึ่งฮิตมากแต่กลับถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ทั้งที่มันเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมฮิปปี้อันรุ่งเรืองแท้ๆ—เรากำลังพูดถึงกลุ่ม Beatnik ที่น้อยคนคงเคยได้ยินชื่อแต่หากได้อ่านเรื่องของพวกเขา หลายคนอาจคิดถึง




เมื่อสัก 60 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่กลุ่มม้อดดี้กับร็อกเกอร์แย่งชิงพื้นที่กันอยู่ในแฟชั่นกระแสหลัก คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะหลีกหนีจากความแมสเหล่านั้น ไปสร้างสไตล์ของพวกเขาเองโดยหันหน้าเข้าสู่บทกวีและศิลปะ พวกเขาถูกเรียกว่ากลุ่ม Beatnik


Beatnik กำเนิดขึ้นก่อนฮิปปี้ (โดยเนื้อๆ แล้วแทบจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันมาก่อน) พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของ Beat Generation ที่นิยมงานเขียนและบทกวีในช่วงปลายยุค 1940 จนถึงต้นยุค 1960 ซึ่ง Beatnik จำเพาะเจาะจงไปอีก ว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นใต้ดินในนิวยอร์กที่ต่อต้านการทำทุกอย่างที่อยู่ในความแมส แนวคิดนี้ดูคล้ายจะอยู่เหนือกรอบและกาลเวลา แต่ท้ายที่สุดสไตล์ของพวกเขากลับมีช่วงชีวิตที่แสนสั้น


เพราะถ้าถามกันในยุคปัจจุบัน เราคงรู้จักแฟชั่นม้อด ร็อกแอนด์โรล โบฮีเมียน ฮิปปี้ แต่คำว่า beatnik กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เหล่า beatnik เองบางคนก็ได้ละทิ้งสไตล์เดิมไปแสวงหาสไตล์ใหม่ เพราะเกลียดการเหมือนกันกับคนอื่น และสไตล์ใหม่นั้นกลับโดดเด่นเจิดจ้าจนผู้คนลืมสไตล์เดิมไปเสียหมด


ถ้าจะเล่าถึงสไตล์เดิม คงต้องอาศัยข้อความของ Joyce Johnson นักเขียนชื่อดังในยุคนั้น ที่เคยกล่าวถึงองค์ประกอบของ beatnik เอาไว้ว่า “เราขายหนังสือ สวมเสื้อคอเต่าสีดำ หมวกเบเร่ต์และแว่นกันแดด เป็นทางชีวิตที่ดูเหมือนสนุกแต่เราทำไปทั้งหมดเพียงเพื่อถูกตราหน้าและลอกเลียนแบบ”


เราสัมผัสได้ถึงความคับแค้นบางอย่างของผู้พูด ซึ่งจะว่าไปคอนเซปต์ของ Beatnik ในยุคนั้นก็อาจเหมือนเด็กแนวหรือฮิปสเตอร์ในยุคหลัง ที่วนเวียนอยู่กับการฉีกกรอบ เกิดความโดดเด่นจนคนแห่กันลอกเลียนแบบ จนกลายเป็นเมนสตรีม ในที่สุดก็ถูกแซะ แล้วก็ต้องฉีกกรอบกันอีกรอบ วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ


พื้นฐานเจตนารมณ์ของพวกเขาเริ่มต้นจากการต่อต้านวัตถุนิยมทั้งปวง ค้นหาจิตวิญญาณและคุณค่าของชีวิต เปิดรับยาเสพติดและชีวิตเสรี พวกเขาจะแฮงเอาท์กันในร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ ฟังเพลงแจ๊ซและบลู ถกกันเรื่องศิลปะและบทกวี ไม่นานหลังจากสิ่งเหล่านี้กลายเป็นความเท่ ผู้คนก็แห่กันเอาแบบอย่างจนคนกลุ่มเดิมอยู่ที่เก่าไม่ไหว ต้องพัฒนาจากหนุ่มสาวนักคิดชาวเมือง เปลี่ยนสไตล์เป็นฮิปปี้ที่เต็มไปด้วยสีสัน หันไปหาจิตวิญญาณเสรีแบบชนเผ่าและเข้าหาธรรมชาติแทน


ท้ายที่สุดก็อาจเป็นเพราะฮิปปี้โดดเด่นจนกลบ beatnik หรือไม่ว่าด้วยเหตุไหนก็ตาม ความเป็นไปของวัฒนธรรม beatnik ทำให้เราเห็นวงจรของแฟชั่น ที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังการแสวงหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่น เพราะทุกคนล้วนอยากเหนือกว่า ทุกคนอย่างแตกต่าง แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็ยังอยากเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง ผลที่เกิดขึ้นเลยทำให้บางเทรนด์แฟชั่นถูกทิ้งเอาไว้ระหว่างกาลเวลา


แต่ในเวลาที่สไตล์ทุกอย่างถูกหยิบมาใช้อย่างไม่หยุดพักอย่างนี้ หากมีใครจะหยิบ beatnik ขึ้นมาพัฒนาต่อให้จริงจัง มันอาจกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ใครบางคนกำลังตามหาอยู่ก็ได้






*ออร์เดรย์ เฮปเบิร์นก็เคยไปจอยกับกลุ่ม beatnik




DID YOU KNOW

มุราคามิน่าจะรู้จัก Beatnik เป็นอย่างดี จึงได้หยิบมาใช้ในนวนิยายโด่งดังของเขา เมื่อตอนที่มิวกับสุมิเระเจอกันครั้งแรก พวกเธอคุยกันเรื่องนักเขียน Beatnik ซึ่งมิวเข้าใจว่าวัฒนธรรมนี้เรียกว่า Sputnik เลยได้คุยกันไปถึงเรื่องยานอวกาศ จนสุมิเระแอบเรียกมิวว่าเป็น Sputnik Sweetheart  ในที่สุด