รู้จักกับ มานิตา ส่งเสริม กราฟิกดีไซเนอร์สาวที่วาดเรื่องราวผ่านจังหวะบนหน้าปก

       ในโลกยุคคอมพิวเตอร์ อาชีพด้านศิลปะที่กำลังมาแรงคงหนีไม่พ้นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ทว่าเมื่อจำนวนคนในสนามอาชีพนี้มีมากขึ้นทุกวัน คำถามคือการสร้างสไตล์ให้โดดเด่นนั้นเริ่มตรงไหน แล้วอะไรคือไม้ตายในการสร้างงานกราฟิกขึ้นมาสักชิ้น—เธอคนนี้มีคำตอบมาบอก

ช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเราแวะเวียนไปกวาดสายตาตามบูทสำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่หลายวัน ท่ามกลางมหาสมุทรของหนังสือจำนวนหลายร้อยหลายพันเล่ม มีแค่บางเล่มที่ดึงสายตาเราให้หยุดและเอื้อมมือไปหยิบได้อย่างง่ายดาย จะว่าสวยสะดุดตาก็ใช่ แต่ใช้คำว่าสไตล์ชัดเจนจนน่าสนใจจะตรงกว่า

ไม่บ่อยที่เราจะกลับมาหาข้อมูลคนออกแบบปกหนังสือก่อนชื่อคนเขียน ก่อนพบว่าเจ้าของงานศิลปะบนหน้าปกอย่าง ใหม่—มานิตา ส่งเสริม มีอีกหลายมุมในผลงานและวิธีคิดซึ่งน่าสนใจไม่แพ้เล่มที่เราถืออยู่ในมือ และการได้พบปะพูดคุยกับเธอก็ยืนยันว่าสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องจริง  

“เราค่อนข้างโตมาในกรอบนะ” เธอตอบแบบนั้นเมื่อเราถามว่าเธอเติบโตมาแบบไหน เป็นเด็กหน้าห้องหรือหลังห้อง เป็นเด็กดีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหมือนบุคลิกและน้ำเสียงเรียบนิ่งตรงหน้าเราหรือเปล่า “เราเป็นคนดื้อเงียบ” เธอเสริม ก่อนขยายว่าตัวเองเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวข้าราชการ พ่อแม่จึงวางกรอบชีวิตไว้ให้ชัดเจนพอสมควร แต่ความเป็นคนดื้อเงียบและเด็ดเดี่ยวก็พาเธอเดินออกจากกรอบมาในที่สุด 


“เราสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่พอขึ้น ม.ปลายก็เลือกเรียนสายวิทย์-คณิตตามคำแนะนำของพ่อแม่ แล้วก็พบว่าเราไม่ถนัดทางนี้เลย คือมองไปทางไหนก็มีแต่เพื่อนเรียนเก่ง แล้วถ้าเราจะสู้ในสิ่งที่เราไม่ถนัดก็คงไม่ไหว เลยปรึกษาครอบครัวว่าเราอยากเบนเข็มไปเรียนต่อด้านศิลปะ” ใหม่เล่าติดตลกว่าเธอดื้อถึงขนาดแอบพ่อแม่ไปสอบวิชาความถนัดด้านศิลปะ จนกระทั่งสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เอกกราฟิกดีไซน์) แล้วนั่นแหละที่บ้านถึงทราบเรื่อง

ใหม่นิยามชีวิตนิสิตของเธอว่าเป็นวันวัยแห่งการทดลอง จากดีเทลละเอียดยิบสู่เรียบง่ายสะอาดตา จากงานสุดพังก์กลายเป็นนินิมอลอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ในการเปลี่ยนแปลงกลับมีชิ้นส่วนบางอย่างอยู่ยืนไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ที่ตกตะกอนอยู่เงียบๆ ในตัวเธอ “อาจเพราะเราเรียนสายวิทย์มา มันเลยมีมุมมองบางอย่างที่เด็กสายศิลป์ไม่มี คือเราจะมีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไซไฟ ซึ่งความสนใจพวกนี้มันก็ถูกเก็บมาระเบิดในงาน” 

เธอว่าแบบนั้น ก่อนเราจะร้องอ๋อ และคลายสงสัยว่าทำไมผลงานของมานิตา ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ ปกหนังสือ หรืองานอื่นใดถึงมีชิ้นส่วนของวิทยาศาสตร์ผสมรวมอยู่เสมอ อย่างปกหนังสือเรื่อง ซัม : สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย (สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์) ที่เรียงร้อยด้วยชิ้นส่วนรูปทรงเรขาคณิตนั่นก็มีกลิ่นวิทยาศาสตร์เข้มข้น จนเราอดถามถึงกระบวนการสร้างงานไม่ได้ว่าเธอเริ่มและจบมันอย่างไร 

“ต้องบอกก่อนว่าเราไม่เคยสเกตช์งานก่อนลงมือทำเลย (หัวเราะ) เราจะทรีตงานทุกชิ้นเป็นงานศิลปะ สมมติออกแบบปกหนังสือเราก็จะไม่ได้แบ่งว่าเป็นปกหน้าหรือปกหลัง แต่เราจะวางเป็นโปสเตอร์หนึ่งแผ่นไปเลย เพราะเราอยากให้ทั้งหน้าและหลังมันสวยต่อเนื่องกัน เป็นงานศิลปะที่เราชอบที่จะถือและมีความสุขที่จะอ่าน” เธอว่า ก่อนหยิบบางเล่มส่งให้เราดู “ขั้นแรกเราจะออกแบบตัวหลักของเล่ม เช่น โลโก้หรือชื่อหนังสือก่อน แล้วค่อยเติมองค์ประกอบที่เหลือให้มีจังหวะสอดคล้องกับตัวหลัก ผ่านการค่อยๆ ขยับองค์ประกอบแต่ละชิ้นทีละนิดจนลงตัว”  ใหม่เสริมว่ายิ่งเธอเลือกใช้เพียงตัวอักษรและรูปทรงน้อยชิ้นในงานออกแบบ การจัดวางองค์ประกอบให้มีจังหวะเหมาะกับคาแรคเตอร์ของหนังสือแต่ละเล่มจึงสำคัญมาก และนั่นเองที่ทำให้ผลงานของเธอมีรสชาติเฉพาะตัวอย่างน่าสนใจ 

ด้วยรัก จริงจัง และลงรายละเอียด ทำให้ผลงานในกำกับของมานิตา ส่งเสริม ถูกพูดถึงถี่และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทว่าเมื่อเราถามเธอถึงแผนการในอนาคต เธอกลับส่ายหน้า “เราไม่เคยวางแผนเลยว่าต่อไปต้องเดินทางไหน หรืออีกกี่ปีต้องไปให้ถึงจุดไหน เราอาศัยการเดินจุดต่อจุดมากกว่า มีโอกาสเข้ามาก็ทำมันให้ดี แต่ถ้าอายุมากขึ้นกว่านี้เราอาจจะเริ่มวางแผนชีวิตก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) ” 

    ติดตามความเคลื่อนไหวของมานิตา  :  manita-s.tumblr.com

เนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ face of ในนิตยสาร giraffe ฉบับที่ 39 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ readgiraffe