ปัญหาคนไร้บ้านคือประเด็นเร่งแก้ไขในมหานครใหญ่ทั่วโลก—สิ่งน่าสนใจก็คือปัญหานี้อาจไม่ได้เป็นโจทย์สงวนไว้สำหรับรัฐบาลหรือองค์กรการกุศล แต่คือปัญหาที่เราควรร่วมกันแก้ไข คำถามคือเราจะใช้สองมือเราแก้ไขปัญหาอย่างไรให้มีชั้นเชิงและบรรลุเป้าหมาย? เขาคนนี้มีคำตอบมาบอก
ผืนผ้าใบขนาดเมตรคูณเมตรกางอยู่ข้างถนน รายล้อมไปด้วยจานสีและพู่กันสภาพเจนสนาม ทว่าสิ่งแปลกตาคือผู้กำลังเป็นแบบให้วาดตรงหน้ากลับไม่ใช่คนหน้าตาหล่อเหลา และไม่ใช่คนดังที่ไหน เป็นเพียงชายผู้แทบไม่ได้รับความสนใจจากสังคม เพราะเขาคือคนไร้บ้านที่มักถูกมองว่าเป็นปัญหา ซึ่งนั่นกลับสวนทางกับสิ่งที่ ป๊อก—ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล มองเห็น
ชายหนุ่มผู้นี้เลือกใช้ศิลปะเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านอย่างไม่ย้อท้อ เขาเริ่มต้นจับพู่กันออกเดินทางวาดภาพคนชายขอบในมหานครนิวยอร์ก คนแล้วคนเล่าจนกลายเป็นโปรเจกต์วาดภาพนาม The Positivity Scrolls ที่กลายเป็นกระแสไปทั่วนิวยอร์ก กระทั่งกระแสดังกล่าวไปกระทบความสนใจพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในนิวยอร์กอย่าง New Museum เข้า จนกลายเป็นที่มาของนิทรรศการแสดงผลงานชิ้นนี้ในที่สุด—ทว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้เส้นทางชีวิตของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว
“ตอนแรกเราตั้งใจไปนิวยอร์กเพื่อเรียนภาษา ไปๆ มาๆ เราอยากอยู่ต่อเลยสมัครเรียนปริญญาโทที่ Academy of Arts จนอยู่มาคืนหนึ่งเรากำลังเดินกลับหอพักแล้วเจอคนไร้บ้านกำลังถูกคนผิวสีทำร้าย แต่จะให้เข้าไปช่วยเราก็มั่นใจเลยว่าคงไม่รอดแน่ (หัวเราะ) เลยกลับมาคิดว่าเราสามารถช่วยคนไร้บ้านเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง แล้วก็พบว่าเราพอมีทักษะการวาดรูปติดตัว สุดท้ายเลยเกิดเป็นโปรเจกต์วาดรูปพอร์เทรตคนไร้บ้านในมหานครนิวยอร์กขึ้นเพื่อระดมทุนช่วยเหลือพวกเขา และสื่อสารถึงปัญหานี้ออกไปสู่วงกว้าง” ป๊อกเล่าเรื่อยๆ ก่อนเสริมว่าจนถึงตอนนี้เขาวาดภาพคนไร้บ้านสะสมไว้ร่วมสามร้อยคน และแม้ทุกวันจะต้องทำงานในร้านอาหารอย่างหนักเพื่อเก็บออมเงินมาสานต่อโปรเจกต์ ทว่าเขากลับไม่ได้มองว่านั่นคืออุปสรรค แต่เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เขาต้องพยายามยิ่งขึ้นมากกว่า
“จำได้ว่าตอนประมาณเก้าขวบ เราไปดูงานแสดงศิลปะกับครอบครัว แล้วเราก็ตื่นตามากๆ ที่ศิลปะมันสามารถใช้จัดแสดงผลงานให้คนเข้ามาชื่นชมได้ (หัวเราะ) เลยเกิดความมุ่งมั่นว่าอยากยึดอาชีพศิลปินมาโดยตลอด จนพอขึ้น ม.ปลายเลยตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนเพาะช่าง ก่อนจะเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จนจบปริญญาตรี” เขาเล่า ก่อนย้อนให้ฟังว่าแม้ครอบครัวจะคาดหวังให้ยึดอาชีพอย่างแพทย์หรือวิศวกร แต่นั่นกลับไม่สามารถเบนความสนใจของเขาได้ เพราะเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ให้ตัวเองไม่ใช่เพียงศิลปินธรรมดา แต่คือการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งศิลปินระดับโลก
ทว่าการก้าวไปถึงฝั่งฝันมักไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเมื่ออยู่ในมหานครแห่งความหลากหลายด้านศิลปะอย่างนิวยอร์กก็ยิ่งยากที่จะไขว้คว้าดวงดาวเอาไว้ ทว่าการอาศัยใช้อยู่ในนิวยอร์กนี้เองที่ผลักให้เขาพบเรื่องราวและวัฒนธรรมอันเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างผลงานศิลปะได้แบบไม่รู้จบ
“ถ้าไม่ได้มานิวยอร์กเราก็คงไม่มีวันนี้ เพราะเราคงไม่ได้เจอความอิสระและความแตกต่างอย่างสุดโต่งแบบนี้จากที่ไหนแน่ๆ อย่างบริเวณไทม์แสควร์จะมีคนไร้บ้านนอนระเกะระกะเยอะมากๆ สวนทางกับคำบอกเล่าที่ว่านิวยอร์กเป็นเมืองที่เจริญด้านวัตถุที่สุดในโลก ซึ่งความขัดแย้งของชนชั้นและวัฒนธรรมแบบสุดโต่งพวกนี้มันเป็นวัตถุดิบที่ดีมากในการสร้างงานศิลปะสำหรับเรา” ป๊อกเล่าเจือเสียงหัวเราะ ก่อนจะเสริมว่าสำหรับเขาศิลปะก็เหมือนอาหารที่มีความหลากหลายและไร้ขอบเขตในการสร้างสรรค์—และความอิสระของการทำงานศิลป์นี่เองที่เขาอยากเห็นศิลปินรุ่นใหม่ใช้เป็นโอกาสในการลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม
ติดตามความเคลื่อนไหวของป๊อกได้ที่ pairojpichet.com
บทความนี้คือส่วนหนึ่งของคอลัมน์ Face of ในนิตยสาร giraffe ฉบับที่ 36 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ readgiraffe