หมุนตัวให้สุดเหวี่ยง ปล่อยใจให้เสียงเพลงไปกับชาว BANGKOK SWING

        ความรู้สึกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตอนกำลังก้าวเข้าไปในร้านหม้อใหญ่รั่ววันแรกคงไม่ต่างจากเราในตอนนี้ที่กำลังก้าวขึ้นบันไดตึกแถวแห่งหนึ่งบนถนนสีลมยามบ่ายแก่ อากาศที่ร้อนอบอ้าว เสียงจอแจของรถราและความวุ่นวายของวินาทีก่อนหายวับไปทันตา เมื่อปะทะกับเสียงเพลงแจ๊สและผนังห้องสีแดงสดที่แสนจะมีชีวิตชีวา ราวกับห้องแห่งความลับที่น้อยคนจะรู้ว่านี่คือบ้านอันอบอุ่นของนักเต้นสวิงในเมืองฟ้าอมร


        The Hop เป็นสตูดิโอศิลปะที่เกิดจากความตั้งใจของ โอ๊ต—ชยะพงศ์ นะวิโรจน์ นักธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรผู้เก็บเกี่ยวความสนุกของการเต้นสวิงกลับมาจากสหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีก่อน วันแรกที่ตัดสินใจหย่อนเมล็ดพันธุ์สวิงลงในแผ่นดินไทย เขายังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

        เพียงแต่เชื่อว่า การเต้นสวิงเป็นสิ่งที่ควรมีในกรุงเทพฯ เราตั้งใจเผยแพร่ศิลปะนี้ออกไปให้คนหลายกลุ่มได้รู้จัก เพราะมันมอบความสุขให้เรา เราเลยคิดว่า ถ้าคนอื่นได้สัมผัสก็คงมีความสุขด้วยเหมือนกัน”         นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาได้รู้จักการเต้นสวิงเมื่อราวแปดปีก่อน มาจนถึงทุกวันนี้ทำให้เขามองเห็นมิติอันซับซ้อนทางวัฒนธรรมของการเต้นอันมีต้นกำเนิดมาจากชาวแอฟริกัน ผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตกในยุคสงครามโลก จนกลายมาเป็นท่วงท่าการเคลื่อนไหวในรูปแบบเฉพาะที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่คนทั่วโลกมายาวนานค่อนศตวรรษ




        “เมื่อก่อนเราไม่ได้มองมันลึกซึ้งมากไปกว่าความสนุก แต่เมื่อมาถึงตอนที่พยายามจะแบ่งปันความสุขที่เราได้รับให้คนอื่นด้วยนี่แหละ ถึงทำให้รู้ว่ามันมีอะไรอยู่เบื้องหลังความสนุกอีกเยอะมาก” โอ๊ตเล่าถึงมุมมองของตัวเองที่เปลี่ยนไปจากวันแรก ซึ่งเขาเชื่อว่าหลายคนที่ชีวิตเปลี่ยนเพราะการเต้นสวิงก็คงรู้สึกไม่ต่างกันนัก

         และ Bun Young Ji Kim ศิลปินสาวชาวชาวเกาหลี ผู้จัดการของ The Hop ก็เป็นหนึ่งในนั้น—ตั้งแต่วันที่ได้รู้จักการเต้นสวิงในมหาวิทยาลัยเมื่อ 10 ปีก่อน ชีวิตของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ใช่เพียงในแง่ของภูมิศาสตร์ที่การเต้นชนิดนี้ชักนำให้เธอย้ายมาอยู่ประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงแง่ของจิตวิญญาณภายในที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากเธอทำงานศิลปะแทบทุกแขนงตั้งแต่เขียนภาพจิตรกรรม เล่นดนตรี ไปจนถึงการเป็นครูสอนโยคะ สำหรับ Young Ji การเต้นสวิงจึงเปรียบเหมือนการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

        “ขณะอยู่บนฟลอร์เต้นรำ ฉันสามารถละทิ้งความเครียด ความกดดันทุกอย่างไว้ข้างนอกและสนุกไปกับโมเมนต์ตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีความรู้สึกว่าทุกอย่างเลือนหายไปหมด ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ ”

        การเป็นชาวต่างชาติที่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้เธอมองเห็นว่า วัฒนธรรมสวิงจากอีกซีกโลกสามารถเข้ากับคนไทยได้อย่างกลมกลืน เพราะการเต้นเป็นคู่นั้นได้รับความนิยมในไทยมานานหลายสิบปีแล้ว แต่แม้การเต้นจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในกลุ่มก็สำคัญไม่แพ้กัน

        เพราะไม่ใช่ทุกงานที่จะเหมาะกับทุกคน ปาร์ตี้แต่ละแนวเราก็จะได้เห็นคนแบบนั้นๆ ยึดครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนในแวดวงนักเต้นสวิงนั้น สิ่งที่คนทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันก็คือ ความตลกเฮฮา ลูกบ้าเรียกเสียงหัวเราะ ความไม่พยายามคูล หรือทำตัวหรูหรา ความเป็นคนถ่อมตัวและเปิดใจกว้าง


        ด้วยบุคลิกแบบนี้เองที่ทำให้ทุกงานของชาว Bangkok Swing ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทุกครั้ง ล่าสุด The Big Bang ที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็ได้รับความสนใจจากนักเต้นสวิงทั่วโลกนับร้อยคน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเต้นชาวไทย ส่วนงานเต้นที่ลานหน้าพระปฐมเจดีย์ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนนับพันที่อยากลองก้าวเข้ามาสัมผัสเสน่ห์สุดสนุกบนฟลอร์สวิงด้วยเช่นกัน







บรรยากาศงาน The Big Bang Swing 2016 ที่ลานหน้าพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

Big Bang Swing 2016 

ต่แม้ว่าจะได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทุกครั้ง และคลาสเรียนระดับบีกินเนอร์เดือนที่ผ่านมามีผู้สนใจสมัครจนเต็มตั้งแต่ต้นปี Young Ji ในฐานะครูสอนเต้นสวิงคนหนึ่งก็ยังคงเชื่อว่า กระแสการเต้นสวิงในเมืองไทยจะยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป “หลายคนเข้ามาแล้วก็จากไป แต่เราเชื่อว่าคนที่ใช่จะอยู่ด้วยกันต่อไปเรื่อยๆ”


        เพราะนี่คือแบบแผนวัฒนธรรมหน่วยเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเพียงการแต่งตัววินเทจ หรือฟังเพลงแจ๊สแต่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่กำลังพัฒนาทั้งคุณภาพและขนาดไปพร้อมๆ กัน

bangkokswing.com                                


จากคอลัมน์ Face of : giraffe Magazine 33 — Countryside Issue 
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe