เมื่อนักออกแบบ นักทำเบียร์ และนักสร้างจักรยานร่วมมือกันสร้างความหวังให้ผู้ประสบภัย

"แค่คนๆ เดียวจะทำอะไรได้" มันก็จริงครับ อันตัวเราที่แสนจะเล็กจิ๋วนี้จะไปช่วยเหลือ เปลี่ยนแปลง หรือจะไปสร้างสวรรค์วิมานอะไรได้นักหนา

วันนี้ ผมขออนุญาตย้อนรำลึกไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีนาคม ปี 2011—กว่า 5 ปีก่อน กลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ต่างก็จัดกิจกรรมช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่และจิตใจของผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องที่ผมจะมาเล่าก็เป็นโปรเจกต์น่าสนใจที่จัดขึ้นเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ประสบภัย
โปรเจ็กต์นี้ เกิดจากการร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย โดยเริ่มจากไอเดียของ Kota Kobayashi ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานและอาศัยในนิวยอร์ก ซึ่งได้จัดทำเบียร์ Ippon Matsu เมื่อปี 2013 โดยใช้โลโก้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากต้นสนแห่งความหวัง ที่เหลือดรอดเพียงต้นเดียวจาก 70,000 ต้น หลังเหตุการณ์สึนามิ ในเมืองริคุเซน ทาคาตะ จังหวัดอิวาเตะ
 


ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการระดมทุนในปี 2014 เมื่อ Kobayashi กลับมาญี่ปุ่นและจัดงานประมูลเล็กๆ ในร้านพิซซ่า ที่ในงานมีทั้งภาพถ่าย กราฟิก โปรดักต์จากศิลปินมากมายให้ร่วมประมูล
พอได้เงินบริจาคแล้วก็มาถึงจุดพีคของงาน คือการนำเงินบริจาคไปให้ผู้ประสบภัย แต่จะไปง่ายๆ คงไม่ได้  Kobayashi จึงขอความร่วมมือกับแบรนด์จักรยานชื่อดัง Tokyo Bike โดยขอเพียงจักรยาน 3 คัน และอาสาสมัคร 8 คน เพื่อขี่จักรยานจากโตเกียวไปเมืองริคุเซน ทาคาตะ เป็นระยะร่วม 500 กิโลเมตร พร้อมกับบันทึกภาพตลอดเส้นทาง ซึ่งทำให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยแสงสี จนกลายเป็นเมืองร้างที่เกือบจะไร้ผู้คน หลังจากนั้นเขาก็พบปะผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ประสบภัย พูดคุย แลกเปลี่ยน ปลอบขวัญ ให้กำลังใจและมอบเงินบริจาค เป็นอันจบพิธี และวิดีโอตัวนี้ก็ได้มาฉายที่นิวยอร์กในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 



ถามกันเล่นๆ นะครับ ว่า ถ้า Kobayashi ทำทุกอย่างคนเดียวจะเป็นอย่างไร—โอเคว่า เขาทำโลโก้และขวดเบียร์สวยๆ ได้ แต่รสชาติเบียร์คงออกมาไม่สู้ดีนัก ในงานประมูลที่กินซ่าคงมีแต่ผลงานของเขาเองทั้งหมด เขาคงใช้เวลาปั่นจักรยานระยะทาง 500 กิโลเมตรเพียงลำพังอยู่หลายเดือน หรืออาจจะเป็นลมอยู่ที่ถนนเส้นไหนสักแห่งในญี่ปุ่น ซึ่งดีมากที่สิ่งบ้าๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น



โปรเจกต์ของเบียร์ Ippon Matsu ทำให้คิดได้ว่างานดีไซน์ในปัจจุบัน ไม่ได้จบลงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือที่กระดาษบนแท่นพิมพ์อีกแล้ว มันไปไกลกว่านั้น ออกไปเจอผู้คนได้มากขึ้น พูดคุยกับผู้คนได้ ออกไปขี่จักรยานได้ และไปถึงหัวใจของคนที่บอบช้ำได้ ซึ่งเครื่องมือของเหล่าดีไซเนอร์ก็ไม่ได้จำกัดแค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ปากกากระดาษ ดินสออีกต่อไป แต่เครื่องมือที่จะทำให้งานออกแบบของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั่นคือความรู้ความสามารถของผู้คนที่มีเจตนาเดียวกับเรา โดยไม่ได้เกี่ยงว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในสาขาอาชีพไหน ถ้าเราใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว ความเป็นไปได้ใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นมากมายจนเราคาดไม่ถึง
การรู้ว่าตัวเองมีข้อดีหรือมีความสามารถด้านใดเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรู้ว่าเรามีข้อด้อยอะไรและมีใครสามารถช่วยเหลือเราในสิ่งนั้นก็สำคัญเช่นกัน