ถอนรื้ออดีต ต่อยอดปัจจุบัน กับศิลปะสุดมัน บนเส้นแบ่งของคำว่าสร้างสรรค์และทำลาย

ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ตามประสาคนที่ไม่มีบ้านต่างจังหวัดให้กลับ ผมจึงหมกตัวอยู่บ้านนั่งเล่นเน็ตไปตามเรื่อง แต่แล้วบรรยากาศที่น่าเบื่อของผมก็ถูกทำลายลง เมื่อมาเจอคลิปรีมิกซ์เพลงเทศกาลสงกรานต์หลายเวอร์ชั่น ที่ผมชอบเพราะมันเล่นสนุกกับประเพณีวัฒนธรรม ยิ่งเป็นผลงานจากศิลปินเพลงนิรนามจะยิ่งชอบเป็นพิเศษ ด้วยความหลุด ไร้ทฤษฎี ขอแค่ความมันและมั่นใจ



สำหรับผมนี่เป็นการเล่นกับอดีต เป็นการเปรียบเทียบมุมมองของยุคสมัยวิธีหนึ่ง ทำให้ผมนึกถึงผลงานศิลปะของ Chad Wys เขาเป็นหน้าใหม่มาแรงในช่วง 4-5 ปีนี้ ที่สร้างผลงานจากการเล่นสนุกกับประวัติศาสตร์ศิลปะแบบเดิมๆ งานของ Chad Wys มีอยู่หลายซีรีส์ แต่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันคือการนำเอางานจิตรกรรม ประติมากรรมในยุคคลาสสิกมาผสมกับแนวคิดและเทคนิคแบบดิจิทัลด้วยพื้นฐานประวัติศาสตร์จากการเรียนด้านบรรณารักษ์ 
เขาเริ่มออกตัวอย่างชัดเจนจากงานชุด Nocturne ที่ใช้ลูกเล่นสุดเบสิกจากโปรแกรมแต่งภาพทั่วไปมาแต่งภาพใบหน้าบุคคลต่างๆ ในยุควิกตอเรียน ล้อเลียนฝีแปรงของศิลปินโดยใช้แปรงดิจิทัล ที่ออกจะเลอะเทอะ ไม่ประณีต ขาดแหว่ง จนบางชิ้นดูเหมือนจะทำลายภาพนั้นๆ มากกว่าจะสร้างสรรค์เลยด้วยซ้ำ แต่นั่นกลับเป็นการตั้งคำถามที่น่าสนใจ



ความเลอะเทอะของริ้วรอยดิจิทัลในงานของเขาเป็นสิ่งปกติในยุคปัจจุบัน สิ่งรอบตัวเรานั้นเต็มไปด้วยภาพและเสียงที่ถูกปรุงขึ้นด้วยระบบดิจิทัล ทั้งฉากแอคชั่นเหนือจริงในภาพยนตร์ หน้าตานางแบบโฆษณา ภาพอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งภาพใบหน้าของเราเองในโซเชียลมีเดียก็ล้วนโดนปรุงแต่งด้วยโปรแกรมทั้งนั้น ไม่เห็นจะแปลกที่เขาจะนำภาพคลาสสิกเหล่านี้มาแต่งด้วยเทคนิคแบบดิจิทัลบ้าง
ผลงานของเขาแสดงการทับซ้อนระหว่างอดีตและปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา แม้จะถูกชาวอนุรักษ์นิยมบางท่านพูดถึงในเชิงไม่ดีนักว่า เป็นการทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์ ลดระดับความงามของงานยุคคลาสสิก แต่เขาก็ยังได้รับการตอบรับที่ดีอยู่พอสมควร งานของเขาได้ตีพิมพ์ในงานโฆษณาและนิตยสารศิลปะหลายเล่ม มีการสัมภาษณ์และโชว์ผลงานในเว็บไซต์มากมาย งานชิ้นหนึ่งชุด Nocturne ถูกนำไปเป็นปกนิยาย The Picture Of Dorian Gray ของ Oscar Wilde ของสำนักพิมพ์ Penguin แถมมีแบรนด์เสื้อผ้า Lulu & Co จากอังกฤษนำงานเขามาทำเป็นลายผ้าด้วย



กลับไปที่เทศกาลสาดน้ำอันร้อนระอุ ในช่วงเทศกาลผมจะได้ยินประโยคแบบเดิมทุกปีว่า "ให้ทุกคนรักษาประเพณีอันดีงาม" ผมไม่รู้ว่าประเพณีอันดีงามของเรานั้นป่วยหรือบอบบางแค่ไหน ทำไมถึงต้องมาประกาศให้ทุกคนประคบประหงมขนาดนั้น สำหรับผมการเกิดสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เพื่อให้เข้ากับชีวิตและแนวคิดของคนในแต่ละยุคถือเป็นเรื่องปกติ และการจะให้คนยุคใหม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ตั้งคำถาม มีข้อสงสัย หรือแม้แต่การเล่นสนุกกับเรื่องวัฒนธรรมประเพณี นี่แหละจะทำให้วัฒนธรรมประเพณีสืบต่อไปได้อย่างแข็งแรงและสุขภาพดี 
อะ… มีโฆษณาแบรนด์แฟชั่นเอาเพลงสงกรานต์มามิกซ์เป็นเพลงแนวเฮาส์เก๋ๆ ด้วย ไม่ไหว...ทำไมไม่ช่วยรักษาประเพณีอันดีงามกันบ้างเลย