Social Designer นักสร้างสังคม เพื่อเพิ่มสัมพันธ์

วันนี้ผมมาแนะนำอาชีพด้านการออกแบบที่เกี่ยวกับโซเชียล …ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ UX หรือ UI designer ไม่ใช่ app design ไม่ใช่ game app designer ที่พูดว่าโซเชียลนั้น หมายถึงโซเชียลที่เป็นสังคมจริงๆ ไม่ใช่โซเชียลมีเดียแต่อย่างใด 



แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดอาชีพที่ผมจะพูดถึงนี้ก็มีผลพวงมาจากโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน ผลกระทบที่ว่านี้คือการที่เราเริ่มจะใส่ใจกับสังคมออนไลน์มากกว่าสังคมจริงๆ รอบตัว  เรื่องการสนทนาที่หลายๆ คนสามารถคุยกันในโซเซียลมีเดียได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เมื่อต้องสนทนาพูดคุยกับมนุษย์ในโลกความจริงกลับเงียบง่อยหน้าหงิก หรือแม้ปัญหาโรคซึมเศร้า เมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มสร้างปัญหาให้กับโซเชียลในโลกความเป็นจริงมากขึ้นทุกที อาชีพอย่าง social designer จึงเกิดขึ้น



social designer เป็นนักออกแบบสถานการณ์ พื้นที่หรือสภาพแวดล้อม โดยมีแนวคิดเพื่อให้เราตระหนักถึงความสำคัญของคนในสังคมรอบตัว และงานด้านนี้ก็กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น งานจาก Julien F. Thomas ดีไซเนอร์ชาวแคนนาดา เขาทำงานด้าน social designer มากว่าสิบปี เคยดีไซน์วงเวียนกลับรถเล็กๆ ที่รกร้างไร้ประโยชน์ ให้กลายเป็นสวนขนาดย่อม มีร่มและเก้าอี้พับ พร้อมชักชวนให้คนที่ขี่จักรยานหรือเดินผ่านไปผ่านมา ได้แวะพักเพื่อพูดคุยกัน และผลงานล่าสุดของเขาคือ Faraday Café ซึ่งเป็นการสร้าง pop-up ร้านกาแฟในแวนคูเวอร์ ที่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ คือ ร้านนี้ไม่มีสัญญาณ Wi-fi แถมที่นั่งก็มีแค่โต๊ะไม้ยาวๆ เพียงตัวเดียวเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้พบเจอเพื่อนใหม่ และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งผลงานนี้จะคล้ายกับงาน social design อีกชิ้นหนึ่งที่ประเทศบราซิลชื่อ Mesa Livre หรือ Free Table ที่เป็นป้ายสีเขียวมีข้อความ Feel free to share the table with me ตั้งไว้บนโต๊ะในร้านกาแฟ  จุดประสงค์ก็คล้ายกัน นั่นคือการสนทนากับมนุษย์ตัวเป็นๆ แถมยังสามารถโหลดป้าย Mesa Livre หรือ Free Table ไปใช้ได้ตามสบายอีกด้วย



ขอยกตัวอย่างอีกสักหน่อย กับผลงานชื่อ Oma's Pop-up จากนักศึกษาในรอตเตอร์ดาม ที่ชักชวนผู้สูงอายุมาทำอาหารร่วมกันในร้านที่เปิดขึ้นชั่วคราว จากไอเดียที่ว่าสูตรอาหารที่แสนอร่อยและเป็นแบบฉบับดั้งเดิมถูกเก็บไว้กับผู้สูงอายุเหล่านี้ แล้วส่วนมากผู้สูงอายุจะไม่คุ้นเคยกับการใช้โซเชียลมีเดีย จึงจัดทำร้านอาหารชั่วคราวนี้ขึ้นมา เพื่อเแลกเปลี่ยนข้อมูล อีกทั้งยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชุมชนผู้สูงอายุให้มาพบเจอเพื่อนใหม่ ลดความซึมเศร้าในการอยู่คนเดียวอีกด้วย
 


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากเหล่า social designer ที่เริ่มเห็นความสำคัญของคนที่อยู่รอบตัวมากกว่ารูปและข้อความบนฟีดเฟซบุ๊ก—ผมยอมรับครับว่า ผมก็เป็นผู้เสพติดโซเชียลมีเดียขั้นรุนแรงคนหนึ่ง เพราะในโซเชียลมีเดียมีเรื่องราวดีๆ และน่าสนใจมากมาย แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่า รอบๆ ตัวของผม ก็มีผู้คน มีบรรยากาศ สิ่งของ หรือสถานที่ ที่น่าสนใจอยู่มากมายเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างโลกเสมือนกับโลกออนไลน์ ไม่ต้องตัดสินว่าอะไรดีกว่าอะไร เราเพียงแค่ต้องรักษาสมดุล เพื่อที่จะมีความสุขไปกับโลกทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน