สำรวจพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์ศิลป์สำหรับหนูน้อยวัยเรียนรู้

ในปี 2015 นี้ ในบ้านเรามีกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบมากขึ้น เรียกว่าคึกคักเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักสร้างสรรค์และนักศึกษาวิชาออกแบบทั้งหลาย ที่จะได้เสพผลงานดีๆ ได้เรียนรู้ มองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ดูเหมือนงานกิจกรรมสร้างสรรค์หลายๆ งานในบ้านเราจะลืมจัดสรรพื้นที่ส่วนเล็กๆ แต่สำคัญ เพื่อคนกลุ่มหนึ่งไป นั่นคือพื้นที่ของเหล่าเด็กๆ นั่นเอง


ในเมื่อพวกเราทั้งหลายต่างเชื่อว่าวัยเด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้ เด็กคืออนาคตของชาติ ดังนั้นเด็กๆ ก็ควรมีพื้นที่ของตัวเองไว้ให้เรียนรู้ เลยขอยกตัวอย่างผลงานดีๆ จาก Mathery Studio สตูดิโอดีไซน์จากอิตาลี ในงาน Hangzhou International Design Week ที่จัดขึ้นในเมืองหางโจว ประเทศจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บูธของสตูดิโอนี้ตั้งใจออกแบบมาเพื่อเด็กในชื่องานว่า TUBO ซึ่งประกอบไปด้วยแท่งโฟมหลากสีกว่า 20,000 ชิ้น ที่ใส่ไว้ในช่องวงกลมคล้ายบ่อน้ำตรงกลางบูธ เพื่อให้ผู้มาชมงานนำไปเสียบไว้ตามรูที่มีอยู่มากมายบนกำแพงและชิ้นงานที่วางอยู่โดยรอบ ซึ่งชิ้นที่วางอยู่จะมีรูปร่างคล้ายวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น กุ้ง เห็ด ผัก และผลไม้ต่างๆ ซึ่งเด็กๆ และผู้มาชมงานก็จะได้สนุกกับการเลือกแท่งโฟมสีต่างๆ มาผสมผสานสร้างลวดลายกันได้ทั่วบริเวณ แถมยังมีมุมเล็กๆ ไว้ให้สนุกกับภาพกราฟิกที่ลดทอนจากผักผลไม้และตัวปั๊มสุดเท่รูปทรงเดียวกับแท่งโฟมไว้ให้เล่นด้วย  


นอกจากตัวงานน่ารักๆ แล้ว โปสเตอร์ของโปรเจกต์นี้ก็ยังเท่มาก บางชิ้นเป็นภาพเด็กๆ ทั้งชาวเอเซียและยุโรปที่มีเจ้าแท่งโฟมสีเป็นพร็อพประกอบ บางชิ้นเป็นผัก ผลไม้ ที่ถูกย้อมด้วยสีขาว คล้ายว่าสีสันของมันถูกดึงมาอยู่ในแท่งโฟมเหล่านี้ แถมในงานนี้ยังเน้นให้เด็กๆ ได้เลือกและมีปฏิสัมพันธ์กับสีที่เขาชื่นชอบ พร้อมกับนำไปประกอบเข้ากับรูปทรงของอาหารที่คุ้นเคย และการจะใช้สีไหน อย่างไรนั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาได้สนุกกับการค้นหาสีสันและมุมมองใหม่ๆ ด้วยตัวเอง  


งานชิ้นนี้นอกจากมีไอเดียที่ดี มันยังเข้ากับคอนเซปต์ของงาน Hangzhou International Design Week ที่ว่า  "City changed by design"  ในปีนี้ด้วย เพราะสำหรับการเปลี่ยนแปลงเมืองให้ดีขึ้นและยั่งยืนนั้น เด็กๆ และเยาวชนถือว่าเป็นส่วนสำคัญมาก และการสร้างสภาพแวดล้อมทางความคิดที่ดีให้กับเด็กๆ ก็เป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในหลายๆ ด้าน


    การที่บ้านเมืองเรามีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และพื้นที่ในการโชว์ไอเดียที่มากขึ้นเป็นเรื่องดีแน่นอน แต่ถ้าเราอยากให้ความคิดสร้างสรรค์เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ และนักศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับวงการออกแบบแล้ว เราควรคำนึงถึงคนทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชน เราจะให้พวกเขาเข้ามาสนใจงานศิลปะได้อย่างไร ถ้าไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามาร่วมสนุก ไม่แน่ถ้าเรามีพื้นที่ให้เยาวชนของเราเข้ามาสนุกกับงานออกแบบมากกว่านี้ วันหนึ่งเราอาจจะได้ยินเด็กสักคนบอกกับคุณครูว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นดีไซเนอร์” ก็ได้น  

จากคอลัมน์ Artboard โดย pie Maker—giraffe Magazine 28—Elder Issue