แบ่งปันหรือแบ่งปลอม—เศรษฐกิจแบบ UBER จะเปลี่ยนโลกได้หรือไม่?



            หลังจากที่คำว่า Sharing Economy บูมขึ้นมา ก็เริ่มมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วคำว่า ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ นั้นมันไม่ได้ ‘แบ่งปัน’ จริงอย่างที่คิด เมื่อแพลตฟอร์มอย่าง AirBNB หรือ UBER ไม่ได้เป็นการนำ ‘ทรัพยากรส่วนเกิน’ มาหาประโยชน์เพิ่มเติม แต่บางคนซื้อห้องว่างๆ ไว้เพื่อลงประกาศให้เช่าหรือเจ้าของรถก็ขับรับส่งคนอย่างเต็มเวลาแล้วเป็นต้น นักวิชาการจึงเสนอคำอื่นๆ เพื่อมาสะท้อนลักษณะของเศรษฐกิจ (หรือธุรกิจ) แบบนี้ให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น เช่นคำว่า On-Demand Economy (เศรษฐกิจแบบสั่งแล้วได้เลย) หรือ GigEconomy (เศรษฐกิจงานจ๊อบ)

            Andrew Mcafee นักวิชาการจาก MIT บอกว่าระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ‘ราวกับวัชพืช’ มันกำลังต่อกรกับพลังแบบเก่า ถ้าเปรียบระบบเศรษฐกิจเป็นร่างกายมนุษย์ ธุรกิจแบบใหม่ๆ พวกนี้ก็คล้ายกับสารแอนติบอดี้ เช่น UBER ก็กำลังต่อกรกับระบบแท๊กซี่ (ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใหญ่และทรงอิทธิพล) ในหลายประเทศ

            UBER นั้นเข้าไปมีบทบาทในวงการขนส่งมวลชนจนปัญหาเดิมๆ ของบางประเทศ ที่กฎหมายถูกอัพเดทให้ทันยุคทันสมัยแล้ว (ซึ่งไม่ใช่ในประเทศไทย) แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ที่รอการแก้ไขอีก เช่น ในนิวยอร์ก การนั่งแท๊กซี่ทุกครั้งจะถูกชาร์จเพิ่ม 50 เซนต์ เพื่อไปสนับสนุนขนส่งมวลชน (คนนั่งแท๊กซี่มากทำให้รถติด จึงต้องสนับสนุนขนส่งมวลชนเพื่อให้สมดุลกัน) และมีการชาร์จอีก 30 เซนต์สำหรับแท๊กซี่สีเหลืองเพื่อไปสนับสนุนแท๊กซี่สำหรับผู้ทุพพลภาพ จึงเกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาว่า แล้วธุรกิจอย่าง UBER ควรมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ (เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ หรือของปัญหา)

            ปัญหาอีกด้านเกิดขึ้นในฝั่งแรงงาน มีคำวิจารณ์ว่า บริษัท On-Demand Economy นั้นปฏิบัติกับแรงงานของตนเอง (คนขับ, คนทำงาน, เจ้าของสถานที่) ในฐานะ ‘คู่ค้า’ หรือ ‘พาร์ตเนอร์’ ไม่ใช่ในฐานะ ‘นายจ้าง’ กับ ‘ลูกจ้าง’ ซึ่งทำให้แรงงานของบริษัทเหล่านี้ไม่ได้รับสวัสดิการหรือการดูแลด้านอื่นๆ มากเท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ UBER ยังได้รับคำวิจารณ์ว่าพยายามจัดการกับแรงงานของตัวเองด้วยระบบอัตโนมัติ (หรือด้วยอัลกอริธึม) เช่นในวันที่มีความต้องการของลูกค้าสูง คนขับ UBER จะได้รับแมสเสจจากบริษัทให้ออกไปทำงาน (เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่มากกว่าอัตราปกติ) หรือมีข้อแนะนำอย่างชัดเจนว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้เรตติ้งสูงๆ จากลูกค้า คนขับในระบบ UBER บางรายบอกว่าถึงแม้ UBER จะสัญญาว่าพวกเขาจะได้เป็น ‘อิสระ’ และ ‘เป็นนายของตัวเอง’ แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย

            ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งแม้แก้ไขปัญหาเดิมได้ แต่ก็มักจะสร้างปัญหาเซ็ตใหม่ๆ ที่เราอาจมองไม่เห็นล่วงหน้าขึ้นมาเสมอ การเปลี่ยนแปลงจากระบบที่ถูกควบคุมด้วย ‘รัฐ’ แบบเดิมสู่ระบบที่ควบคุมด้วย ‘ตลาด’ มากขึ้นจะสร้างความท้าทายและความยุ่งยากใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคต แต่มันก็เป็นอนาคตอันน่าตื่นเต้นที่กำลังเผยตัวให้เราดูอย่างรวดเร็วในแบบที่ถ้าละสายตาไปชั่วขณะหนึ่งก็อาจวิ่งตามไม่ทัน


จากคอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 29— Horoscope Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ติดตามอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe