จัดการหน้าม้าให้อยู่หมัดอย่าง amazon

           

            เรามักพอใจอยู่ลึกๆ เสมอ เมื่อเห็นคนที่แอบเนียนโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตถูกเปิดโปง 
            เราเห็นโฆษณาแบบนี้เกลื่อนกลาดอยู่ในเว็บบอร์ดอย่างพันทิปอยู่แล้ว แม้มีกฎเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาหลวมๆ ว่าถ้ารับเงินโฆษณา สินค้า หรือบริการมาเพื่อตั้งกระทู้โปรโมตให้กับธุรกิจใดๆ ละก็ จะต้องวงเล็บบอกไว้ที่หัวกระทู้อย่างชัดเจน เพื่อให้คนอ่านกระทู้ ‘ชั่งใจ’ ได้ว่าจะเชื่อเนื้อความที่อยู่ภายในได้แค่ไหน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีความพยายามจากฝ่ายโฆษณาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มา ‘เนียน’ ตั้งกระทู้อวยสินค้าตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ชาวบ้านจับได้ครั้งหนึ่ง ประจานทีหนึ่ง ก็หายไปสักพัก แต่ก็ยังไม่เข็ด ไม่เลิกราที่จะใช้วิธีโฆษณาในทำนองนี้
            ในต่างประเทศก็มีกรณี ‘หน้าม้า’ หรือ ‘ตีเนียนหลอก’ เช่นกัน และดูปัญหาจะหนักหนาสาหัสกว่าในบ้านเรา 
            เว็บไซต์ที่ต้องพึ่งการรีวิวจากลูกค้าเป็นหลักอย่าง amazon ต้องเผชิญกับรีวิวปลอมจากบรรดาหน้าม้า นับแสนๆ ครั้งในแต่ละวัน เพราะลูกค้าจำนวนมากใช้ข้อมูลจากการรีวิวเพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าเป็นสำคัญ เมื่อรีวิวมันปลอมได้ ความพอใจของลูกค้าก็ลดลงตามเพราะเหมือนถูกคำโฆษณาชักจูงให้จ่ายเงินไปอย่างผิดๆ หากลูกค้าผิดหวังบ่อยๆ ชื่อเสียงของ amazon ก็คงแปดเปื้อนกลายเป็นดินแดนแห่งการรีวิวมั่วๆ จนทำให้อยู่ไม่ได้ในที่สุด 
            amazon จึงจริงจังกับการปราบปรามรีวิวปลอม ด้วยการเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบอัตโนมัติ อัลกอริธึมจะดึงรีวิวที่ดูน่าสงสัยทิ้ง แล้วนำเฉพาะรีวิวที่ดูจริง ดูมีเครดิต มาคิดเฉลี่ยคะแนนของสินค้า
            ยิ่งไปกว่านั้น ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา amazon ยังยื่นฟ้องจำเลย 1,114 ราย ด้วยโทษฐานที่รีวิวสินค้าปลอมๆ บนเว็บไซต์ เพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินให้แก่ข้อมูลผิดๆ นักกฎหมายหลายคนจับตาคดีฟ้องร้องของ amazon ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดเพราะคิดว่านี่น่าจะเป็นการตั้งมาตรฐานใหม่สำหรับคดีแบบเดียวกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกมากมายไม่หยุดหย่อนในอนาคต
            ในไทยเอง เรามักใช้วิธีประจานหรือประณามมากกว่าที่จะเลือกใช้วิธีการทางกฎหมาย อาจเป็นเพราะว่ากฎหมายบ้านเรา ไม่ค่อยจะ ‘ทันเกม’ สักเท่าไหร่ ดูอย่างกรณีแจ้งจับดาราที่โพสต์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายยังงุนงง ไม่มั่นใจในการกำหนดนิยาม ‘พื้นที่ส่วนตัว’ และ ‘พื้นที่สาธารณะ’ เสียด้วยซ้ำ
            อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังท้าทายการนิยามแบบเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ มิติและพื้นที่ที่เคยชัดเจนถูกทำให้พร่าเลือนลง และอาจมีแต่ผู้ที่รู้เท่าทันเท่านั้นที่สามารถยืนหยัดได้บนโลกใหม่นี้