โลกกำลังคลั่งการรีวิว เป็นความคลั่งที่ผมได้ประโยชน์บ่อยครั้ง ครั้งไหนที่คิดไม่ตกว่าควรเลือกอะไร สิ่งที่ผมจะทำก็คือการไล่อ่านรีวิวสิ่งนั้นก่อนตัดสินใจ เพราะในปัจจุบันมีทั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อรีวิวร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ภาพยนตร์ หนังสือ เพลง คอร์สเรียน แก็ดเจ็ต เครื่องสำอาง หรือกระทั่งแอพฯ เพื่อรีวิวแอพฯ รีวิวก็ยังมี (จะซับซ้อนอินเซปชั่นไปไหน) เมื่อเห็นเทรนด์การรีวิวที่ไหลบ่ามาอย่างน้ำป่าแบบนี้ ผมก็คิดว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วันหนึ่งเราจะต้องมีแอพฯ เพื่อรีวิว ‘คน’
แล้วมันก็มา ใช่ แล้วมันก็มี!
อันที่จริงแล้ว การรีวิว ‘คน’ นั้นถูกฉาบอยู่บางๆ ในหลากหลายแอพฯ อยู่แล้ว เช่น การรีวิวเพื่อนใน Facebook การตอบรับหรือปฏิเสธคนในแอพฯ หาคู่ หรือการรับประกันพนักงานในบริการอย่าง LinkedIn แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีแอพพลิเคชั่นเพื่อ ‘การรีวิวคน’ อย่างตรงไปตรงมาเท่าครั้งนี้
แอพพลิเคชั่น ‘Peeple’ ได้รับการอธิบายว่าเป็น ‘Yelp, but for People.’ นั่นคือมีฟังก์ชั่นและฟีเจอร์เหมือนกับแอพฯ รีวิวร้านอาหารเป๊ะ แต่เปลี่ยนมารีวิวเพื่อนร่วมโลกแทน ข่าวบอกว่าเมื่อแอพฯ เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คุณจะสามารถ ‘ให้ดาว’ 1-5 ดวงกับคนที่คุณรู้จัก และเขียนอธิบายเหตุผลการให้ดาวเพื่อให้คนอื่นอ่านได้
เท่านี้ผมก็ว่า ‘โหด’ แล้วนะครับ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ คุณไม่อาจปิดกั้นไม่ให้คนอื่นรีวิวคุณได้ และไม่อาจเลือกลบคำด่า แล้วเก็บไว้เฉพาะคำชมได้ นอกจากกรณีที่ร้ายกาจจริงๆ จึงจะสามารถแจ้งผู้ดูแลเพื่อตรวจสอบได้อีกที
ผู้สร้าง Peeple บอกว่า พวกเธอผลิตแอพฯ นี้ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเฟ้นหาคนที่ไว้ใจได้ เช่น เพื่อนคนนี้ยืมเงินแล้วคืนไหม หรือคนนี้เป็นเพื่อนเที่ยวที่ดีหรือเปล่า แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่กลับเป็นไปในทางไม่เห็นด้วย หลายเสียงบอกว่ามันจะเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งชั้นดี และอาจทำให้ผู้คนที่ถูกรีวิวในทางลบตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า บางเว็บไซต์บอกว่า “ลองนึกถึงหน้าของคนที่เคยรังแกคุณตอนเรียนหนังสือสิ พวก Mean Girls ทั้งหลายนั่นแหละที่เติบโตขึ้นมาเป็นแอพฯ นี้’
นอกจากผลเสียจะตกอยู่กับ ‘ผู้ถูกรีวิว’ แล้ว ผมคิดว่าผลเสียบางส่วนจะตกอยู่กับ ‘ผู้เขียนรีวิว’ ด้วย
เมื่อเราพยายามประเมินค่าของสิ่งต่างๆ เป็นหนึ่งถึงห้าดาว และอาศัยอยู่ในโหมดวิธีการคิดแบบนี้ตลอดเวลาก็คล้ายกับว่าเรากำลังสวมแว่นสายตาสำหรับเสาะหาข้อเสียและข้อดีของทุกสิ่ง แยกออกมาวางไว้เป็นกองที่ไม่คละปะปนกัน
การอ่านรีวิวเปรียบเสมือนการหยิบยืมสายตาของคนอื่น ประสบการณ์ของคนแปลกหน้า เพื่อมาเป็นฐานในการตัดสินใจให้กับตนเอง เป็นการเรียนอดีตของเขาเพื่อมาตัดสินอนาคตของเรา แน่นอน วิธีคิดแบบนี้ทำให้การมองโลก ‘ชัดเจน’ ขึ้นในแง่ของการลงทุน การคำนวณความคุ้มค่า
แต่หากเราอยู่ในโหมดการคิดแบบนี้มากเกินไป หรือหากมันกลายเป็นวิธีการคิด ‘ปกติ’ เมื่อไหร่
ผมคิดว่าเมื่อนั้นเราก็อาจไม่ต่างอะไรกับเครื่องอ่านบาร์โค้ด ที่มีไว้อ่านป้ายราคาของสิ่งต่างๆ ที่ไหลมาตามรางคิดเงิน