การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เหยื่อรายต่อไปอาจเป็นคุณ!!



            หลังจากเหตุการณ์น่าสลดใจที่ปารีส ดูเหมือนว่าปริมาณความเกลียดชังของมนุษย์จะถูกโหมกระพือขึ้นอีกครั้ง เราเห็นคนโจมตีคนด้วยสาเหตุอย่างศาสนาและเชื้อชาติ เราเห็นการเหมารวมบ้าใบ้เข้าขั้นวิกฤติ เห็นความโหดร้ายทารุณในแบบที่ไม่อาจคาดคิด ทั้งทางร่างกาย ถ้อยคำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลเน็ตเวิร์ก—เหตุการณ์ครั้งนี้ มีชายคนหนึ่งถูกทำร้ายอย่างไร้เหตุผลด้วยเช่นกัน
             Veerender Jubbal เป็นชาวซิกข์ธรรมดาที่อาศัยอยู่ในโตรอนโต แคนาดา งานอดิเรกของเขาคือการเล่นเกมคอนโซล เขามีชื่อเสียงระดับกลางๆ ในทวิตเตอร์มีผู้ติดตามหมื่นกว่าคน ทวีตของเขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องทั่วไป อย่างเรื่องเกมที่เขาชอบเล่น เรื่องดารา หรือรายการทีวี 
แล้วในวันเกิดเหตุระเบิดในปารีส ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อมีคนนึกสนุก ตัดต่อภาพเขาให้เป็นผู้ก่อการร้าย
            ภาพต้นทางเป็นภาพเซลฟี่ในห้องน้ำที่เขายืนถือไอแพดยิ้มกว้าง ใส่เสื้อลายสกอตสีฟ้า ศีรษะโพกด้วยหมวกผ้าอย่างซิกข์ แต่มีคนตัดต่อให้ไอแพดของเขากลายเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน ตัดต่อชุดระเบิดพลีชีพมาสวมให้ แล้วแชร์ภาพนั้นลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก บอกว่านี่คือภาพของหนึ่งในผู้ก่อการร้าย
ภาพนั้นแพร่กระจายไปเหมือนโรคระบาด ในช่วงเวลาที่ชาวโลกกำลังตาบอดด้วยความเกลียดชัง สำนักข่าวหลายเจ้าหยิบรูปเขาไปเล่น ทั้งหนังสือพิมพ์ในสเปน หรือแม้แต่แชนแนลที่สนับสนุน ISIS ในแอพฯ Telegram ยังลงภาพของเขาแล้วบอกว่าเป็น ‘หนึ่งในพี่น้องของเราที่ทำภารกิจศักดิ์สิทธิ์’


ภาพเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่าภาพด้านซ้ายเป็นภาพตัดต่อ และภาพด้านขวาคือภาพจริง

            โชคดีที่ประชากรในอินเทอร์เน็ตหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่านั่นเป็นภาพตัดต่อ บางคนดูจากลักษณะของรูปลั๊กไฟว่ามันเป็นแบบอเมริกาเหนือ ไม่ใช่ยุโรป บางคนก็จำหมวกผ้าแบบซิกข์ได้ ว่าไม่ใช่แบบของอิสลาม เมื่อความสงสัยหลายจุดรวมกันมากเข้า คนที่มีสติจึงค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวและสรุปได้ว่า มันเป็นแค่การกลั่นแกล้งกัน โดยมีผู้สันนิษฐานว่า เพราะ Jubbal เคยโพสต์รีวิวติติงหลายเกมที่แสดงภาพชาวซิกข์หรือชาวเอเชียผิดๆ ครั้งนั้นทำให้เขาถูกโจมตีจากกลุ่มเกรียนเกมมาโดยตลอด 
            น่าแปลกที่ ‘ข่าวผิดๆ’ มักมีอัตราการแพร่กระจายสูงกว่า ‘การแก้ข่าวให้ถูก’ เสมอ Jubbal จึงยังคงได้รับข้อความด่าว่า ข้อความขู่ฆ่า เกลียดชังบนทวิตเตอร์อยู่ ถึงแม้จะมีคนให้กำลังใจเขามากไม่แพ้กันก็ตาม 
    ในทุกวันมีคนถูกกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่การกลั่นแกล้งออนไลน์นั้นอาจน่ากลัวกว่าตรงที่มันสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่า กรณีของ Jubbal ยังดีตรงที่มีคนจำนวนมากพอรู้จักสังเกต และพยายามช่วยกันควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม แต่ก็คงมีอีกหลายกรณีที่เราไม่รู้ ที่ผู้เสียหายควบคุมไม่ได้ ไฟจึงลามเลียไปเผาผลาญทุกสิ่ง จนมีสิ่งที่เหลือไว้เพียงเศษซากของชีวิตที่ถูกทำลายลงไปเท่านั้น


Islamophobia
สิ่งที่ทำให้การ prank ครั้งนี้ก้าวสู่จุดพีคก็คือ ‘Islamophobia’ หรืออาการแอนตี้มุสลิมอย่างเหมารวม ซึ่งส่งผลให้ใครก็ตามที่หน้าแขกและสวมผ้าโพกหัวถูกมองในแง่ลบ—ศัพท์นี้ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1997 แต่เพิ่งมาแพร่หลายก็เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 

จากคอลัมน์ Lab : giraffe Magazine 28—ELDER Issue โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล