ถกเรื่องราวในศิลปะภาพถ่ายผ่านเลนส์กล้อง เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

    วันนี้จะพูดถึงคลิปวิดีโอในโปรเจกต์ The LAB ของบริษัท Cannon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปที่เรารู้จักกันดี ในชื่องานว่า DECOY ผลงานนี้มีการเล่นสนุกกับการถ่ายภาพที่ผมว่าน่าสนใจเลยอยากนำมาเล่าต่อ...

     เล่าอย่างง่ายๆ คือทางทีมงานจะเชิญช่างภาพมา 6 คน เพื่อถ่ายภาพนิ่งของผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งช่างภาพแต่ละคนจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับชายคนนี้แตกต่างกันไป พูดให้ชัดคือโดนหลอกนั้นเอง รายละเอียดของชายคนนี้ก็มีทั้งเป็นเศรษฐี อดีตนักโทษ ฮีโร่ช่วยชีวิตคน ชาวประมง คนทรง และคนที่เข้าบำบัดอาการติดเหล้า ในการทำงานช่างภาพทั้งหกก็พยายามที่จะดึงความเป็นตัวตน (แบบหลอกๆ) ของชายคนนี้ออกมาอย่างเต็มที่ โดยได้ภาพออกมาแตกต่างกันไป แล้วทางทีมงานก็มาเฉลยในตอนสุดท้าย

    แม้จะฟังดูสนุก แต่คลิปนี้ได้รับคำคอมเมนต์แบบต่อว่ามากกว่าชื่มชม เช่น 'เป็นธรรมดาที่เราจะถ่ายภาพคนออกมาไม่เหมือนกัน', 'ช่างภาพนะ ไม่ใช่นักอ่านใจ จะไปรู้ได้ไง' ซึ่งก็น่าจะโดนด่าอยู่หรอก เพราะในความเป็นจริงคงไม่มีลูกค้าคนไหนมาบรีฟช่างภาพแบบหลอกๆ หรือทำให้เราสับสนเล่นแบบนี้


  แม้คลิปนี้จะโดนต่อว่า แต่ทีน่าสนใจคือ 'เรื่องการรับรู้' ในการทำงานออกแบบ เมื่อเรารับรู้ข้อมูลบางอย่าง ดูเหมือนสิ่งที่เรารับรู้มานั้นจะมีอิทธิพลและควบคุมผลงานของเรามากพอดู เราพยายามจะหาวิธีมากมายเพื่อสร้างผลงานเพื่อตอบสนองสิ่งที่เรารับรู้นี้ แต่น้อยครั้งที่เราจะกลับไปถามคำถามกับสิ่งที่เรารู้ว่า มันถูกต้องแค่ไหน


    การตั้งคำถามในที่นี้ ไม่ได้ให้เราลบล้างสิ่งเดิมที่เรารู้ทิ้งไป เพียงแค่เราสามารถเพิ่มความเป็นไปได้และขยายมุมมองในการทำงานและการออกแบบให้กว้างขึ้นจากการทบทวนในสิ่งที่เราเคยรู้ ผมยกขอตัวอย่างผลงานอย่าง Border Table จาก Nendo Studio ประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงในงาน Tokyo Designers Week 2015 เขามีคอนเซปต์ว่า จะทำโต๊ะที่มีขนาดพอดีกับห้องขนาดไหนก็ได้ (บ้าแล้ว) จึงออกมาเป็นโต๊ะที่ไม่มีขา ไม่มีแผ่นท็อปด้านบนไว้วางของ มีแค่โครงเส้นแนวตั้งและแนวนอนที่สามารถปรับรูปแบบของเส้นไปตามมุมต่างๆ ของห้องได้และเสริมด้วยที่วางคล้ายจานกลมๆ เล็กๆ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า หลุดจากโต๊ะในจินตนาการของเราไปเลย สิ่งสำคัญในการออกแบบเจ้า Border Table น่าจะมาจากคำถามที่ว่า เฟอร์นิเจอร์จะถูกวางอยู่ในห้องอย่างไร, ห้องหนึ่งห้องมีส่วนประกอบอะไร จนมาเป็นแนวคิดว่าห้องหรือที่ว่างจะเกิดได้เมื่อมีขอบเขต จึงนำโต๊ะมารวมเข้ากับเส้นขอบเขตของห้อง (บ้าแล้ว) แม้จะฟังดูเพี้ยนๆ แต่มีงานออกแบบระดับโลกหลายชิ้นที่เกิดจากการตั้งคำถามแบบนี้ การตั้งคำถามกับสิ่งเดิมที่เราน่าจะรู้อยู่แล้วให้ลึกซึ้งขึ้น


    ไม่ผิดเลยครับ ที่เราจะเชื่อหรือทำในสิ่งที่เรารู้ แต่ความรู้ก็เหมือนทุกอย่างในโลกนี้แหละครับ มันมีวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งอาจจะมีคนมาบิดเบือนมันอย่างในคลิปวิดีโอที่ผมกล่าวมาข้างต้น ในหลายกรณีที่เรานึกอะไรใหม่ๆ ไม่ออก หรือเริ่มคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเริ่มซ้ำซากน่าเบื่อ ผมอยากแนะนำให้ลองหยุดสักพักและกลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เรารู้



จากคอลัมน์ Artboard : giraffe Magazine 27—Star Wars Issue โดย pie Maker