ไขความลับในขวดน้ำหอม เหตุใด Marilyn Monroe และหญิงทั่วโลกจึงหลงรักหนักหนา

“What do I wear in bed? Why, Chanel No.5, of course” คือประโยคแสนเซ็กซี่ของ Marilyn Monroe ที่กล่าวเอาไว้เมื่อปี 1960  

    ฟังแล้วอาจมีคนหมั่นไส้ รู้สึกได้ว่าน้ำหอมคือสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างแท้จริง แต่เรากลับเห็นว่าในนั้นก็มีความรุ่มรวยที่จับต้องได้ หลายคนคงเคยอ่านนิยายหรือดูหนังเรื่อง Perfume ที่เล่าเรื่องราวในฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 18 ทำให้เห็นถึงพลังอำนาจของน้ำหอมว่าส่งผลต่อจิตใจคนมากแค่ไหน และไม่เพียงแต่ในช่วงเวลานั้น—น้ำหอมเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนร่วม 4 พันปีมาแล้ว 



    หลักฐานแรกเกี่ยวกับน้ำหอมปรากฏอยู่ในบันทึกคูนิฟอร์มจากยุคเมโสโปเตเมีย กล่าวว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งนาม Tapputi ได้กลั่นน้ำมัน ดอกไม้ และหัวว่าน สำหรับใช้ในพิธีกรรม แต่ในปี 2005 เพิ่งค้นพบหลักฐานใหม่ว่ามีน้ำหอมที่เก่าแก่กว่านั้นที่ประเทศไซปรัส โดยสูตรของฝั่งนั้นใช้สมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น อัลมอนด์ ผักชี ใบเมอร์เทิล หรือส้มซิตรัส
    ตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้ เราน่าจะมีน้ำหอมนับหมื่นแสนล้านสูตรในระดับความเข้มข้นแตกต่าง เรียงมากไปน้อยตั้งแต่ perfume, toilette จนถึง cologne เรามีต้นกำเนิดกลิ่นมากมายให้เลือกใช้ ผสมผสานแตกแขนงเป็นน้ำหอมสำหรับหญิง-ชาย กลางวัน-กลางคืน ไปจนถึงสำหรับฤดูกาลและอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ อีกมากมาย แล้วการเลือกสักกลิ่นให้เป็นของเราไม่ใช่เรื่องสนุกหรอกหรือ? 



    เราเชื่อในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งว่าน้ำหอมช่วยเพิ่มความเป็นปัจเจกให้เราได้ เพราะเมื่อน้ำหอมผสมกับฟีโรโมนในตัวเราแต่ละคนก็จะได้กลิ่นที่แตกต่างออกไปอีก ยิ่งหากลิ่นที่ยูนีคได้ยิ่งรู้สึกสนุก เหมือนเราได้ครอบครองกลิ่นหอมพิเศษที่เป็นของเราเท่านั้น และมันยังทำให้คนจดจำเราได้มากพอๆ กับสไตล์การแต่งตัว ใบหน้า และทรงผม



    ในข้อนี้มีคำยืนยันจากหนังสือ Odor Sensation and Memory โดย Trygg Engen ศาสตราจารย์แห่ง Brown University ที่พบว่าในระยะยาว ความสามารถในการจดจำกลิ่นของคนเรามีมากกว่าการจำภาพที่เห็นถึง 10% และจะเชื่อมโยงกับความทรงจำขณะได้กลิ่นนั้นๆ ด้วย เพราะประสาทส่วนที่รับกลิ่นของคนเราจะถูกควบคุมโดย Limbic System ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมความรู้สึก การตอบสนองทางเพศ รวมถึงศิลปะและสิ่งอื่นใดในทางดรามาติก โดยระบบประสาทส่วนนี้จะเก็บรวบรวมความรู้สึกต่างๆ ที่เราประสบเอาไว้ใน memory bank นั่นทำให้เมื่อเราเดินผ่านกลิ่นหอมที่เคยคุ้น ก็พานจะนึกถึงคนรักเก่าขึ้นมาได้



    ยังมีผลวิจัยอีกว่ากลิ่นส่งผลต่อคุณภาพของการนอนหลับ โดยกลิ่นที่ชื่นชอบในปริมาณพอเหมาะจะทำให้ผู้ทดสอบตื่นขึ้นมาอย่างกระปรี้กระเปร่ามากกว่าการที่ไม่ได้กลิ่นอะไรเลยหรือได้กลิ่นที่ฉุนเกินเหตุ จึงไม่แน่ว่า Monroe เลือกพรม Chanel No.5 เพื่อช่วยให้เธอหลับสบายขึ้นมากกว่าจะเพื่อเย้ายวนใคร ...หรือไม่เธออาจได้ค่าจ้างอย่างงามสำหรับบทสัมภาษณ์ใน advertorial ที่สร้างโควตทรงพลังขึ้นมาได้
ไม่ว่าเหตุผลของเธอจะเป็นข้อไหน สุดท้ายนี้เราอยากกล่าวถึงอีกสักโควตหนึ่ง — “เธอจากไปนานแล้ว แต่กลิ่นน้ำหอมของเธอยังอยู่” อาจฟังดูโรแมนติก แต่แท้จริงขณะอยู่ด้วยกัน ใครอีกคนอาจเวียนหัวเพราะกลิ่นน้ำหอมที่ฉุนเกินก็ได้ นี่ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ของบรรดาผู้ใช้น้ำหอม ดังนั้นจงฉีดพรมแต่พอดีเถิด 

เพราะกลิ่นหอมของเราอาจไม่ได้หอมสำหรับทุกคน


จากคอลัมน์ Anyway โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์—giraffe Magazine 38 Travel Issue