ไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวย 'แฟชั่น' นั้นสร้างตัวตนได้ด้วยเหมือนกัน

Afrofuturism เป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งที่ต้องการสื่อสารเรื่องความแข็งแกร่งของชาติพันธุ์ผ่านภาพของหญิงชายผิวดำในรูปลักษณ์ล้ำยุคและเหนือธรรมชาติ เป็นส่วนผสมของศิลปะ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความเชื่อทางจิตวิญญาณ เพื่อแสดงภาพของคนผิวสีที่ไม่ได้ผูกติดกับความเป็นทาสอีกต่อไป


    แนวคิดนี้มีทั้งในภาพวาด ดนตรี วรรณกรรม และภาพยนตร์ แต่ในศิลปะเหล่านั้น มี ‘เสื้อผ้า’ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้คาแรคเตอร์ของ Afrofuturism ชัดเจนที่สุด
    มันมีจุดเริ่มต้นในยุค 50s โดย Sun Ra นักดนตรีอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ที่หยิบเอาความเชื่ออียิปต์โบราณมาโยงกับนิยายไซไฟในคอสตูมบนปกอัลบั้ม รวมถึงชุดบนเวทีคอนเสิร์ต ที่ทำให้เขาดูเหมือนเทพเจ้าราห์ ที่มาจากโลกอนาคต นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้คนได้เห็นภาพคนผิวสีที่ต่างไปจากสเตอริโอไทป์แบบเดิมๆ  
    อีกครั้งที่แนวคิด Afrofuturism โดดเด่นขึ้นมา ก็เมื่อศิลปินกลุ่ม AfriCOBRA ชื่อ Jae Jarrell ได้ออกแบบ Revolutionary Suit ในปี 1970 เป็นชุดสูททูพีซที่ตกแต่งขอบเสื้อด้วยกระสุนปืน ก่อนที่ Wedsworth Jarrell สามีของเธอ จะนำชุดนี้ไปเป็นเครื่องแต่งกายในภาพวาดของเขาด้วย 


    ท่ามกลางวัฒนธรรมฮิปปี้ที่เฟื่องฟูในหมู่คนขาว และฮิปฮอปที่เฟื่องฟูในหมู่คนดำ AfriCOBRA ได้พยายามฉีกแนวออกไปทางอื่น เพื่อเป็นการ “ค้นพบตัวเองเสียใหม่” แม้ฮิปฮอปจะให้ภาพคนดำที่กล้าแกร่งไม่แคร์ใคร แต่พวก Afrofuturist ต้องการภาพที่ไปไกลกว่านั้น
    พวกเขาเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกอนาคตที่ทุกคนกำลังมุ่งเข้าไปหา คล้ายว่าวางเผ่าพันธุ์ตัวเองให้เป็นจุดหมายปลายทางของมนุษย์โลก พร้อมกับบอกว่ามีรากฐานมาจากวัฒนธรรมโบราณเนิ่นนานแล้วอีกด้วย 


    
    ปัจจุบันเราพบว่ามีคนสร้างสรรค์งานแนวนี้อยู่เนืองๆ แต่ที่เตะตาชาวโลกที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นภาพถ่ายของ Fabrice Monteiro ในชื่อชุด The Prophecy ที่เพิ่งถูกนำไปจัดแสดงใน Louisiana Museum of Modern Art ในช่วงปลายปี 2015 เป็นภาพถ่ายแฟชั่นโอต์กูตูร์ซึ่งทำจากเศษขยะในประเทศเซเนกัล เพื่อสะท้อนภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ เมื่อมองแวบแรกแล้วแฟชั่นชุดนี้คือ Afrofuturism ของแท้ แต่หากมองดูดีๆ ภายใต้ความงดงามน่าเกรงขามนั้นมันไม่ได้เปรียบว่าคนดำคือมหันตภัยหรือหายนะหรอกหรือ?


  
  ถึงอย่างนั้น Monteiro ก็ได้ให้ความหมายว่าหญิงสาวเหล่านี้เป็นตัวแทนของบุตรสาวแห่งไกอา—มารดาผู้ให้กำเนิดโลก พวกเธอปรากฎกายเพื่อเตือนภัยมนุษย์โลกมากกว่าจะทำตัวเป็นหายนะเสียเอง 

    ที่แน่นอนคือ ภาพชุดนี้อาจประสบความสำเร็จในแง่ของการรณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับกรณีของ Afrofuturism นั้น เราเองก็ยังไม่แน่ใจ


จากคอลัมน์ Anywear : giraffe Magazine 27—Star Wars Issue โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์