ปาร์ตี้ไม่ได้มีแต่เรื่องเมาๆ เพราะนักจัดปาร์ตี้อย่าง zaap คอนเฟิร์มว่ามันมีดีกว่านั้น!

ใครบอกว่าปาร์ตี้มีแต่ความฉาบฉวยตื้นเขิน แต่พวกเขาเหล่านัดจัดปาร์ตี้เหล่านี้กลับส่ายหน้าบอกว่าไม่ใช่! เพราะปาร์ตี้มีรายละเอียดน่าสนใจมากกว่านั้




        ย้อนกลับไปราวสามปีก่อน
หลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วยเวลาแห่งความโกลาหลของชาวธรรมศาสตร์ แต่ในอีกมุม ความอลม่านดังกล่าวกลับกลายเป็นแรงเหวี่ยงให้นักศึกษากิจกรรมจำนวนหลักสิบหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมมือซ่อมแซมกำลังใจที่ขาดหายหลัaงอุทกภัยครั้งใหญ่ นั่นคือที่มาของคอนเสิร์ตการกุศล Zaap Sharity Concert งานดนตรีระดมทุนเยียวยาผู้ประสบภัยที่ต่อมาแตกแขนงกลายเป็นอีกหลายงาน ไม่ว่าจะเป็น Zaap on sale หรือ Zaap on เสื่อ อย่างที่หลายคนคงคุ้นหูกันมาบ้าง
บาส—เทพวรรณ คณิณวรพันธุ์ เด็กหนุ่มวัยเพียง 24 ปี คือต้นเสียงของคำว่า zaap ในวลีข้างต้นที่หลายคนคงขมวดคิ้วสงสัยในความหมาย ซึ่งบาสอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะว่า คำๆ นี้เกิดขึ้นจากความพอใจล้วนๆ ไม่มีความหมายหรือเหตุผลทางการตลาดมาเกี่ยวอย่างที่ใครคาด
ความมั่นใจแบบคนรุ่นใหม่นี้เองที่คล้ายเป็นคำอธิบายตัวตนและงานปาร์ตี้ในกำกับของพวกเขาได้อย่างชัดเจน “การจัดปาร์ตี้ก็เหมือนการสร้างงานศิลปะ” บาสบอกแบบนั้นเมื่อเราลองให้เขาเปรียบปาร์ตี้กับอะไรสักอย่างในแบบของตัวเอง ก่อนเสริมว่าในมุมเด็กศิลปกรรมอย่างเขา การจัดปาร์ตี้สักงานก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น


The beginning of Zaap 
หลัง Zaap Sharity Concert ปิดม่านลงพร้อมตัวเลขติดลบในบัญชี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ดีกรีความไฟแรงของพ่องานอย่างบาสลดลงเลยสักนิด เพราะเขายืนยันว่าเมื่อเจอทางที่ชอบ ความเฟลก็ไม่ใช่เหตุผลให้ก้มหน้ายอมแพ้ “ยอมรับว่าหลังคอนเสิร์ตการกุศลขาดทุนเราก็เฟลเหมือนกัน เพราะสไตล์งานมันไม่ใช่สิ่งที่พวกเราถนัด เราเลยลองเปลี่ยนมาจัดงานปาร์ตี้เต็มรูปแบบไปเลย ซึ่งสุดท้ายมันก็เวิร์ค” นั่นคือจุดเริ่มต้นของปาร์ตี้เอาใจวัยแสบครั้งแรกในชื่อ ‘เป็นโสดทำไม’ ที่ดึงวัยรุ่นรอบรั้วมหา’ลัยมาร่วมงานได้ถึง 4 พันคน บาสเล่าถึงบรรยากาศงานที่ยังตรึงในภาพจำของเขาราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ก่อนจังหวะต่อมา ยูริ—ซายูริ ฮากิฮาร่า เพื่อนผู้ร่วมทีมก่อตั้งจะพยักหน้าเห็นพ้องและเสริมว่าช่วงแรกพวกเขาถึงกับต้องลงแรงวาดฉากและเดินตั๋วด้วยตัวเอง เป็นบรรยากาศการทำงานแบบเพื่อนช่วยเพื่อนมากกว่าคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน 
“การเติบโตของ zaap เกิดจากจังหวะและโอกาสมากกว่า เพราะตอนแรกเราไม่ได้คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ด้วยซ้ำ เราแค่อยากจัดปาร์ตี้ในแบบที่เราชอบ” คำว่าไกลของเธออาจก้าวใหญ่กว่าที่ใครคิด เพราะหลังปาร์ตี้แรกจบลงไม่นาน Zaap ก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำเมายักษ์ใหญ่ให้ร่วมเดินหน้าจัดปาร์ตี้เอาใจวัยรุ่นทั่วประเทศกันไปยาวๆ


        Work on details
“การจัดปาร์ตี้ไม่ใช่แค่การเปิดเพลงให้คนมาเต้นกัน ดีเทลมันเยอะกว่านั้น”
บาสบอก ก่อนเราจะเร้าให้เขาขยายความเพิ่มสักหน่อย “อาจเพราะเราเรียนจบด้านศิลปะ พอเริ่มจับงานปาร์ตี้เราเลยหยิบเอากระบวนการสร้างงานศิลปะมาใช้โดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าจะจัดปาร์ตี้ที่เชียงใหม่ เราก็ต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายก่อนว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร จากนั้นค่อยวางคอนเซ็ปต์ เลือกมู้ดแอนด์โทน แล้วถึงลงรายละเอียดปลีกย่อยว่าภายในงานควรมีกิจกรรมอะไรบ้าง” เขาเล่ายิ้มๆ ก่อนแอบบอกว่ากลุ่มเป้าหมายของ Zaap คือวัยรุ่นหลากสไตล์ ไม่ว่าจะแมสหรืออินดี้ก็เป็นโจทย์ชั้นดีที่พวกเขาต้องร่วมกันตีให้แตก 

“กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือเจนวายก็จริง แต่ในกลุ่มเจนวายก็มีหลายรสนิยมถูกไหม ทำให้เราต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนจัดปาร์ตี้แต่ละครั้ง เพราะแค่วัยรุ่นอยู่คนละจังหวัดเขาก็ฟังเพลงแนวต่างกันแล้ว” ยูริยิ้มรับเห็นด้วย ก่อนยกตัวอย่างเสริมว่า หากอยากเรียกเสียงกรี๊ดชาวเชียงใหม่ก็ต้องเลือกวง Greasy cafe ไปเล่นสด แต่ถ้าอยากเอาใจวัยรุ่นฝั่งอีสาน เพลย์ลิสต์วันงานก็ต้องสายแมสอย่าง Bodyslam 
        “วิธีสำรวจตลาดของเรามีหลายแบบ อย่างการไปนั่งกินเหล้ากับเด็กปีหนึ่งเพื่อสังเกตว่าเขาฟังเพลงแบบไหน หรือเขาคุยเรื่องอะไรกันในวงเหล้าก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราทำบ่อย (หัวเราะ) ซึ่งข้อมูลพวกนี้ทำให้เราเข้าใจความต้องการของเด็กรุ่นใหม่อยู่เสมอ และความเข้าใจวัยรุ่นนี่แหละคือจุดแข็งที่ทำให้ zaap party ประสบความสำเร็จ”

        Let’s move on

หลังลิ้มรสความสำเร็จได้สักพักก็ถึงเวลาชักใบเรือเดินหน้าต่อ ด้วยการขยายกิจการผ่านตลาดนัดมัดใจวัยรุ่นอย่าง Zaap on sale ที่แม่งานอย่างยูริโอดว่า การจัดอีเวนท์นั้นต่างจากการจัดปาร์ตี้ชนิดคนละขั้ว 

“หลังจากรับจัดปาร์ตี้ได้สักพัก เราก็กลับมาคุยกันว่าเด็กเจนวายเขาชอบอะไรอีกบ้าง ซึ่งสุดท้ายเราเห็นตรงกันว่าคงเป็นเรื่องปาร์ตี้ ดนตรี และแฟชั่น เลยคิดว่างานแฟร์น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ทาเก็ตได้มากที่สุด แต่พอลงมือทำจริงๆ กลับพบว่างานแฟร์กับงานปาร์ตี้มีกระบวนการไม่เหมือนกันเลย ทำให้เราต้องเรียนรู้การทำงานใหม่หมด” ถึงจะยากแต่เธอก็ผ่านมันมาได้ ไม่ว่าจะรายละเอียดยิบย่อยก่อนวันงาน หรือเวลาเข้างานที่สวนทางกับการจัดปาร์ตี้ ก็เป็นเหมือนแบบฝึกหัดให้พวกเธอขยับความสามารถจากนักจัดงานปาร์ตี้เป็นออแกไนเซอร์มือดีได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“บอกตรงๆ ว่า zaap on sale ครั้งแรกขาดทุนยับเลย (หัวเราะ) แต่พอครั้งที่สองระบบงานก็เริ่มดีขึ้น เลยพอมีกำไรบ้าง” ยูริบอกแบบนั้น ก่อนบาสจะเสริมว่า การเป็นออแกไนเซอร์ไม่ต่างอะไรจากการสร้างโรงงาน ที่ต้องวางแผนต่อยอดธุรกิจในระยะยาว การเจ๊งในครั้งแรกแต่ทำให้มีคนรู้จักเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 



        Trouble is a friend
บางคนอาจสติหลุดในงานปาร์ตี้ แต่ในมุมคนจัดปาร์ตี้ การมีสติทุกวินาทีคือสิ่งจำเป็น 
“ข้อเสียของงานออแกไนเซอร์คือเราจะเจอปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา ทั้งควบคุมได้และไม่ได้ เช่น วันงานฝนตกจะทำยังไง? หรือทีมงานความเห็นสวนทางกันจะจัดการยังไง? ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยสติในการแก้ปัญหาสูงมาก ยิ่งเราทำงานกับเพื่อนปัญหาเรื่องปากเสียงมันมีอยู่แล้ว ที่เราทำได้คือต้องมีสติเพื่อทำให้ปัญหามันจบในห้องประชุม” บาสย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมคือสิ่งสำคัญ เพราะถ้าทีมงานไม่สนุก การจะปลุกให้คนลุกมาเต้นก็เห็นจะเป็นเรื่องยาก 
“ทีมเราจะไม่มีการแบ่งตำแหน่งว่าใครเป็นนาย หรือใครเป็นลูกน้อง ซึ่งมันดีนะในแง่ของความสบายใจ แต่ระบบแบบนี้ก็ทำให้เราไม่สามารถสั่งให้ใครทำอะไรได้ กลายเป็นว่าเราต้องรอบคอบกับการใช้คำพูดสื่อสารกับคนในทีม แล้วก็ต้องใจเย็นให้มากๆ” ยูริเพิ่มเติมถึงวิธีรับมือกับปัญหาที่ต้องเผชิญ และคำว่า ‘เพื่อน’ คือสิ่งเตือนให้เธอเดินต่อแม้ในวันที่ท้อจนอยากถอย



 
        We run the world 
เมื่อปาร์ตี้ในแบบของ zaap ประกอบด้วยดนตรี กิจกรรมสร้างความบันเทิงภายในงาน และแอลกอฮอล์ แล้วถ้าปาร์ตี้ไม่มีแอลกอฮอล์ล่ะ จะยังเป็นปาร์ตี้อยู่หรือเปล่า? คือสิ่งที่เราสงสัย “ในมุมมองของเรา คำว่าปาร์ตี้มันคือความสุด แล้วถ้าถามต่อว่าในความสุดมันควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือดนตรี แล้วอะไรล่ะจะทำให้เรารู้สึกต่างจากการฟังดนตรีปกติ? มันเลยเป็นเหตุผลที่ต้องมีเหล้าเข้ามาเสริม แต่ถามว่าไม่มีเหล้าเรียกปาร์ตี้ได้ไหม ก็เรียกได้ อย่างปาร์ตี้บาบีคิวหรือปาร์ตี้น้ำชาก็มีให้เห็นเยอะแยะ”
        บาสอธิบายความคิดตัวเอง ก่อนเสริมว่าสุดท้ายแล้วความสุดก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ถ้ากินแล้วไม่ได้ไปทำร้ายทำลายใครการดื่มแฮลกอฮอลล์ก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีเลยทีเดียว  
เมื่อกลุ่มเป้าหมายของ Zaap เป็นเหล่านักศึกษาเสียส่วนใหญ่ แล้วแบบนี้พวกเขาคิดยังไงกับการควบคุมร้านเหล้าหรือปาร์ตี้มอมเมารอบสถานศึกษา “เรามองว่ารอบๆ มหาลัยมีร้านเหล้าได้ และควรมีด้วย เพราะมันเป็นสิทธิ์ของนักศึกษาที่จะตัดสินใจกินหรือไม่กินเหล้า รัฐก็แค่ต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบ เช่น ปิดตามเวลา หรือจำกัดอายุก็ว่ากันไป เพราะถ้าทุกคนอยู่ในกรอบเดียวกันมันก็แฟร์สำหรับทั้งคนทำธุรกิจ นักศึกษา และมหาลัยด้วย” บาสย้ำแบบนั้น ก่อนยูริจะเสริมว่าวงเหล้าหรืองานปาร์ตี้มีดีกว่าที่คิด เพราะนอกจากเป็นการกระจายรายได้ให้หมุนไปสู่หลายอาชีพ ปาร์ตี้ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ 
“อย่างที่รู้กันว่ารายได้จากการขายเหล้ามันเยอะมากนะ ภาษีจากเหล้าอีกตั้งเท่าไหร่ ในมุมหนึ่งงานปาร์ตี้สังสรรค์มันก็มีข้อดีทางเศรษฐกิจตรงมันช่วยสร้างอาชีพ เช่น ร้านข้าวต้ม หรือคนขับแท็กซี่กะดึกเขาก็ได้ลูกค้าจากร้านเหล้าหรือปาร์ตี้นี่แหละ แถมกิจกรรมในปาร์ตี้อย่างการเล่นเกมหรือดื่มเหล้ายังช่วยให้สนิทกับเพื่อนมากขึ้นด้วย” 
เพราะโลกต้องอาศัยหลายแรงเหวี่ยงในการเคลื่อนไปข้างหน้า  
และนั่นอาจคือเหตุผลว่าทำไมเสียงเพลงยังคงบรรเลงอยู่ทุกค่ำคืน