เม้าท์มอยกับ Trasher, Bangkok กลุ่มปาร์ตี้ตัวแม่ที่ 'ป๊อป' ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

            หลายปีที่ผ่านมาปาร์ตี้ในเมืองไทยเริ่มผุดขึ้นมาให้เห็นจนนับนิ้วไม่หมด ความบันเทิงทำนองนี้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตยามค่ำคืนและสร้างวัฒนธรรมย่อยใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ไหนๆ ก็ใกล้จะปลายปีวันหยุดถี่ อีเวนต์แน่น จนทำให้เรามีโอกาสปาร์ตี้กันหนักกว่าช่วงใดๆ เราจึงขอรวมพลคนจัดงานมาคุยให้หายข้องใจว่าปาร์ตี้ในเมืองไทยกำลังจะไปไหนต่อ
             

Trasher, Bangkok - กลุ่มปาร์ตี้ตัวแม่ที่ไม่แคร์ความชิคแต่มั่นใจได้ว่าพีคทุกคอนเซ็ปต์ 
มาพร้อมกับเพลงติดหูที่คนกรี๊ดสนั่นตั้งท่าเตรียมเต้นกันตั้งแต่ขึ้นอินโทร 
พวกเขาหยิบยกวัฒนธรรมป๊อปทั้งไทยและเทศมายำรวมกันอย่างออกรส
กลายเป็นสีสันใหม่ที่หลายคนตั้งตารอกันทุกเดือน 

You’re invited!

            นอกจากในห้องนอน จะมีสถานที่ไหนอีกบ้าง ที่เราจะเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง ปลดปล่อยสเต็ปไปตามจังหวะของเพลงป๊อปที่เราชอบแต่ไม่กล้าแชร์ในเฟซบุ๊ก (เพราะต้องคีปลุคและคีปคูล) แต่งตัวจัดเต็มได้แบบไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่น นั่นอาจเป็นคำถามค้างคาใจของบรรดาเด็กกิจกรรมกลุ่มหนึ่งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากพวกเขาร้อง เต้น เล่นเอ็มวีล้อเลียนเล่นๆ อยู่หน้าตึกคณะกันเป็นกิจวัตร จนถึงวันหนึ่งตัวตั้งตัวตีของกลุ่มอย่าง โจโจ้—ทิชากร ภูเขาทอง ก็ตัดสินใจว่าเขาจะชวนคนออกมาเต้นเพลงป๊อปติดหูกันอย่างจริงจัง
            อาจเป็นเพราะปาร์ตี้กว่า 20 แห่งในปี 2550 แทบทุกที่ล้วนเปิดแต่เพลงร็อก ซึ่งกำลังรุ่งเรืองสุดขีดในยุคนั้น หรือไม่ก็เพราะนิยามคำว่า ‘ปาร์ตี้’ ดูคล้ายกับจะสงวนไว้สำหรับคนคูลๆ
            โจโจ้และเพื่อนๆ ว้าเหว่ทางความบันเทิงอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งได้มีโอกาสไปร่วมงานปาร์ตี้ของ Dudesweet และได้เห็นซีนแปลกตาต่างจากปาร์ตี้อื่นๆ ที่เคยไป จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาตัดสินใจสร้างซีนใหม่ๆ ในแบบของตัวเองขึ้นมา
            “เราอยากทำปาร์ตี้ที่เปิดเพลงยุค 90 เยอะๆ เพราะมันเป็นเพลงที่ไม่ได้เปิดในผับ แต่เป็นเพลงที่เราโตมาด้วยกัน ทำให้ใครๆ ก็ร้องตามได้เต้นตามได้ทั้งนั้น"

Guilty Pleasures

             และแล้วทุกอย่างก็ขยับเปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย...
            จากปาร์ตี้ครั้งแรกที่ Café De Moc ย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ ซึ่งมีคนมาร่วมงานแค่ครึ่งร้อยในปี 2007 ผ่านประสบการณ์กว่า 8 ฝน 8 หนาว ก็ได้ทำให้พวกเขามีสายตาที่สามารถมองเห็นพัฒนาการของปาร์ตี้ซึ่งเปลี่ยนไปตามชาร์จเพลงป๊อป หรือตัวเลขอายุผู้เข้าร่วมงานที่น้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถวิเคราะห์ออกมาได้อย่างเห็นภาพชัด
            “แต่ก่อนเพลง Wannabe ของ Spice Girls จะเป็นเพลง ‘ซ่องแตก’ ที่เปิดเมื่อไหร่คนจะเฮลั่นกันเมื่อนั้นใช่ไหม แต่ตอนนี้เลเวลจะลดลงมาเหลือแค่ 50-70% มันเป็นเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราเข้าใจดีว่า มันก็เป็นไปตามวิถีของเพลงป๊อปนั่นแหละที่มันจะมีคลื่นลูกใหม่มาแทนที่เสมอ”
            กระนั้น แม้คาร์แรกเตอร์ของปาร์ตี้ของ Trasher จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แต่ด้วยจิตวิญญาณโดยรวม พวกเขาก็ยืนยันว่าจะยังคงความเป็น 90s ไว้เสมอ เพราะ Trasher เกิดขึ้นมาจากความรักที่มีต่อเสียงเพลงในยุคนั้น คลี่คลายมาจากความหลงใหลในป๊อปสตาร์แห่งทศวรรษอย่าง Britney Spear และรับอิทธิพลมาจากนิตยสาร POP ที่ทำให้คนไทยในยุคหนึ่งได้ทำความรู้จักและหลงรักมนต์เสน่ห์เพลงสากล
            "วัยรุ่นทุกคนอยากเท่ อยากคูล ตัวเราเองก็เคยเป็นนะ เราอยากให้เพื่อนยอมรับเรา แต่พอโตขึ้นเราก็จะเหนื่อยกับการพยายามเป็นคนอื่น แล้วก็จะยอมรับได้เองว่าเราโตมากับวัฒนธรรมป๊อป ถูกหล่อหลอมมาด้วยวัฒนธรรมป๊อป จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ อย่าปฏิเสธมันเลย ยังไงมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณอยู่ดี
            คอนเซ็ปต์หลักตั้งแต่แรกเริ่มของเราคือเพลง เราอยากให้คนมาปาร์ตี้ได้ฟังเพลงที่เขาคุ้นหู ร้องตามได้ เมื่อคนรักเพลงป๊อปสดใสแบบนี้มาอยู่ด้วยกันก็ทำให้ทุกคนอิน ทุกคนอยากแต่งตัว อยากให้เราเปิดเพลงบ้าๆ บอๆ แล้วเต้นไปด้วยกัน” โจโจ้อธิบายถึงส่วนผสมแบบ Trasher ที่ไม่เหมือนที่ไหน
            “ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะไม่มีใครทำเหมือนเรานี่แหละ”

 LGBT
            ชื่อ ‘Trasher’ นั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อสื่อความหมายถึง คนนอก คนชายขอบของสังคม แต่ปาร์ตี้นี้ก็ยินดีอ้าแขนรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน เจนนี่—วัชระ สุขชุม มาสคอตหน้าม่านผู้รับบทเป็นนางเอกทุกมิวสิกวิดีโอของ Trasher และเป็นตัวชูโรงทุกปาร์ตี้ เล่าว่าคนที่มามีทุกเพศ ทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ทนาย ผู้พิพากษา เจ้าของบริษัทใหญ่โตก็กล้า ‘เป็นตัวเอง’ ในพื้นที่แห่งนี้

     

            “คนที่มาปาร์ตี้หลักๆ มักเป็นกลุ่ม LGBT และเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราจึงเน้นประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก” โจโจ้เล่าถึงความตั้งใจของเขาที่ต้องการสนับสนุนสิทธิ์และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองไทยให้มีที่ยืนเป็นของตัวเอง ด้วยวิดีโอแนะนำความรู้คู่ความฮา ช่วยเยียวยาทั้งปัญหาสุขภาพกายและใจของผู้ชมทุกหมู่เหล่า

            “เราต้องไม่ทำให้กะเทยเป็นตัวตลกเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะนำเสนอความตลกและความรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้คนดูรู้สึกยอมรับทั้งในแง่ความมีอารมณ์ขันและความสามารถ แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นการให้เกียรติว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพไม่ต่างกัน"

            ทุกวันนี้มันยังเป็นการยอมรับแค่หน้าฉาก แต่เมื่อพูดถึงเรื่องจริงจังอย่างการจดทะเบียนสมรส รับลูกบุญธรรม สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล การรับมรดก ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันอีกไกล แต่เราเชื่อในพลังของอารมณ์ขัน การจะพูดเรื่องอะไรแบบนี้ได้กับคนไทยจะต้องใส่อารมณ์ขันเข้าไปด้วย อย่าพูดด้วยท่าทีจริงจังเกินไปแต่ก็อย่าบ้าบอเกินเหตุด้วย

            หากมองให้ดี ปาร์ตี้ของ Trasher เองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ช่องว่างชื่อความแตกต่างระหว่างเพศถูกย่นย่อให้แคบลง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน เพศอะไร ทุกคนก็ยืนเต้นเพลงซ่องแตกข้างๆ กันได้

 


Communi(Par)ty
            “เราดีใจที่คนไทยเริ่มเก็ตวัฒนธรรมปาร์ตี้มากขึ้น”  ออม - ศิริพรรณ แสงจันทร์ Marketing Director ผู้เปรียบเหมือนโปรดิวเซอร์ของ Trasher ตั้งข้อสังเกตว่าปีหน้าเมืองไทยจะมีอีเวนต์เก๋ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

            “ตอนนี้คนไม่ได้มองว่าปาร์ตี้หมายถึงการเข้าผับอีกต่อไปแล้ว คนจะเริ่มพยายามหาไลฟ์สไตล์ที่นิชมากขึ้น เพราะต้องการแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น เราคิดว่าปีหน้าจะมีทีมคลื่นลูกใหม่เข้ามาอีกเยอะมาก เพราะปาร์ตี้ไม่ได้เริ่มจากการใช้เงิน มันเริ่มจากการใช้ความคิด ว่าแต่ละคนคิดอะไรแล้วบริหารมันออกมาได้ดีกว่ากัน”

            โจโจ้เล่าว่า ปาร์ตี้ Trasher แต่ละครั้งเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ไม่ต่างจากงานครั้งแรก นั่นคือเริ่มจากความอยากทำล้วนๆ—เดือนไหนอยากเต้นเพลงฮิปฮอปก็จัดปาร์ตี้ฮิปฮอป บางเดือนอยากเป็นนางแบบก็จัด Model Night หรือปีก่อนที่โจโจ้อกหักก็จัดปาร์ตี้เปิดเพลงเศร้าชวนคนช้ำรักมาร้องไห้ไปด้วยกัน
            “เสน่ห์ของเราคือความไม่เป็นระเบียบ (หัวเราะ) เราไม่ต้องการความเนี้ยบ ความคูลใดๆ ทั้งสิ้น จริงๆ เราก็พยายามคูลแล้วแหละแต่ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นคนแบบนี้” เขาเปรียบเทียบปาร์ตี้ที่ตัวเองจัดว่าเหมือนกับการไปเที่ยวบ้านเพื่อน ต่อให้กำลังเต้นๆ อยู่แล้วไฟกระตุก หรือเปิดเพลงผิดก็ไม่มีใครโกรธกัน ทุกครั้งที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน คนก็จะเฮไปด้วย หรือต่อให้เพลงดับไปก็ช่วยกันร้องเพลงต่อได้จนจบ
            “กลายเป็นว่าปัญหาของเราแทบไม่มีเลย มีแค่ช่วงพีคๆ กะเทยจะเปิดนม ชะนีปีนขึ้นที่สูง ผู้ชายจะแก้ผ้า ทางร้านที่เราไปใช้พื้นที่จัดงานก็มักกลัวว่าภาพจะออกไปไม่ดี แต่เราก็แอบปล่อยบ้างเหมือนกัน เพราะนี่คือเสน่ห์ เป็นความสนุกในแบบของ Trasher ในเมื่อเพลงที่ใช่กับคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ติดขัดในปาร์ตี้เราคนจะสนุกกันต่อไปได้ นี่แหละคือความเป็นคอมมูนิตี้”
            และคอมมูนิตี้ที่โจโจ้ว่า นั่นก็คือ “แหล่งรวมทั้งแฟชั่น เพลง ไลฟ์สไตล์ เป็นแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ทุกอย่าง ผ่านการปลดปล่อยความเป็นตัวเอง ที่จะทำให้เกิดอะไรดีๆ ตามมาอีกมากมาย”
            การเป็นตัวของตัวเองสำหรับชาว Trasher จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดบริเวณอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไป เพราะเรามีเพื่อนที่ยอมรับความแปลกของเราได้และรู้ว่าเราต่างก็แตกต่างเหมือนกัน