ประท้วงแบบไม่สูญเสีย 'ทำหนังยาวสุดเพี้ยน'ให้กองเซนเซอร์ต้องทนดู

นึกถึงการประท้วงนึกถึงอะไร ? เวทีชุมนุม รถติด การล้อมรั้วลวดหนาม หรือ สถานที่ราชการถูกปิด ? วันนี้มินิมอร์จะมาลบภาพความทรงจำเกี่ยวกับการประท้วงแบบเดิม ๆ ในหัวชาวไทยไปให้หมด! เพราะที่อังกฤษ หนุ่มลอนดอนเขาประท้วงกองเซนเซอร์หนังที่เก็บค่าธรรมเนียมแพง แถมดูถูกวิจารณญานคนดูหนังด้วยการระดมทุนผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อสร้างหนังที่น่าเบื่อ(แถมยาว)ที่สุดในโลกให้กองเซนเซอร์ดู (เออ เอากับเขาสิ)


gifsec.com

ไม่ใช่แค่ที่ไทยหรอกที่มีกองเซนเซอร์หนัง ในบางประเทศเขาก็มีกองเซนเซอร์แต่เอาไว้จัดระดับอายุคนดูเท่านั้น แต่ BBFC หรือ  British Board of Film Certification เป็นองค์กรเซนเซอร์หนังในอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1912 ซึ่งพี่ ๆ ในองค์กรนี้ก็จะทำหน้าที่ในการดูหนังทั่วราชอาณาจักร ดูไปเซนเซอร์ไป เรื่องไหนไม่โอเคก็แบน เช่น หนังที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านการเมืองความมั่นคง ฉากที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ


twitter : @sencor

แต่ก็ใช่ว่าพี่ ๆ เขาจะเซนเซอรให้ฟรี ๆ นะ เขาคิดค่าเสียเวลาดูตามจริงเป็นนาทีเลยทีเดียว (ได้ดูหนังก่อนใครแล้วยังต้องเก็บเงินจากคนทำหนังอีกหรอเนี่ย) อัตรานาทีละ 7.09 ปอนด์ หรือตกนาทีละ 358 บาท (รับสมัครคนเพิ่มมั้ยจ๊ะ) หนังหนึ่งเรื่องก็ตกประมาณ 1,000 ปอนด์ (ก็แค่ 51,207 บาทเท่านั้นเอ๊ง)(สังเกตเสียงสูงนะ)

ค่าธรรมเนียมเท่านี้ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ระดับแฮร์รี่ พอตเตอร์ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่จินตนาการถึงหนังอินดี้ หนังสั้นทุนต่ำ แต่คุณภาพสูงและคนทำหนังที่ใจรักทั้งหลายสิ 1,000 ปอนด์นี่ก็แทบจะเป็นครึ่งหนึ่งของทุนทำหนังกันเลยทีเดียว


scaryoldfilms.com

Charlie Lyne คนทำหนังและนักวิจารณ์หนัง เขาเลยคิดแคมเปญระดมทุนสุดแสบเพื่อประท้วง BBFC ขึ้นมา โดยเขาระดมทุนผ่าน kickstarter.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้ใครหรือองค์กรใดก็ได้ที่อยากจะสร้างสรรค์โปรเจคเจ๋ง ๆ แต่ขาดแคลนเงินทุนเข้ามาระดมทุนกับชาวเน็ตทั่วโลกกัน

ความดีงามของ kickstarter คือเรานำไอเดียของเราไปเสนอไว้บนหน้าเว็บไซต์ของเขาว่าโปรเจคเรามันน่าสนใจจนคนต้องสนับสนุนยังไง ตัวอย่างโปรเจคที่เพิ่งสำเร็จและได้รับความสนใจไปอย่างล้นหลามเร็ว ๆ นี้ก็คงหนีไม่พ้น  กลุ่มครีเอทีฟญี่ปุนสร้างต้นไม้ลอยได้ (ถ้าโปรเจคเราโดนใจจริงคนก็จะมาสนับสนุนแน่ ๆ ไม่ต้องห่วง)



Charlie Lyne เลยคิดโปรเจคขึ้นมา โดยเขาจะทำหนังสุดตื่นเต้นเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องว่าด้วยคนที่ทาสีบนกำแพงอิฐแล้วรอมันแห้ง (อ่านทวนใหม่อีกรอบเถอะ อ่านไม่ผิดแน่ ๆ ) หนังที่เกี่ยวกับการดูว่าเมื่อไหร่สีบนกำแพงจะแห้ง (ดูไปหลับไปแน่ ๆ) ยิ่งมีคนสมทบทุนในโปรเจคนี้มากเท่าไหร่ กองเซนเซอร์ก็จะต้องทนดูสีแห้งบนกำแพงนานขึ้นเท่านั้น (อูยย แค่คิดก็ทรมานแล้ว) ช่างเป็นวิธีประท้วงกึ่งแก้แค้นที่เจ็บแสบจริง ๆ

อย่าดูถูกความคิดสุดแสบนี้เชียว เพราะโปรเจคนี้ได้เงินไปมากถึง 5,963 ปอนด์ (หรือประมาณ  305,349 บาท)  ทำให้กองเซนเซอร์อังกฤษต้องดูหนังที่ว่าด้วยการแห้งของสีกันไปเบา ๆ 607 นาที (ก็แค่ 10 ชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้นเอ๊ง)

parentsociety.com

โปรเจคหนังสีแห้งสะเทือนวงการเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นเลยว่าการประท้วงไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบการใช้ความรุนแรง ความสูญเสีย หรือสร้างผลกระทบทางกายภาพให้กับสาธารณชนเลย แต่การประท้วง หรือการตรวจสอบระบบที่เราสงสัยสามารถมาในรูปแบบอารมณ์ขัน การสร้างสรรค์ แถมอินเตอร์เน็ตรวมถึงเว็บไซต์ระดมทุนต่าง ๆ ก็กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลยิ่งกว่าเวทีชุมนุมซะอีกนะเนี่ย ไม่น่าเชื่อเลย


ที่มา : boingboing.net ,  kickstarter.com