ภาพยนตร์เกี่ยวกับอาณานิคมหรือการล่าอาณานิคมนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ชุดการเล่าเรื่องที่เราคุ้นชินในหนังกระแสหลักคือเรื่องราวทำนองคนขาวที่คอยช่วยเหลือคนผิวสีหรือชาวพื้นเมือง ลองนึกถึงตัวละครแสนดีของ Brad Pitt ในเรื่อง 12 Years a Slave (2013) หรือหนังประเภท Dances with Wolves (1990), The Last Samurai (2003) หรือ Avatar (2009) เป็นตัวอย่าง
แต่ Embrace of the Serpent เลือกเล่าในมุมมองที่กลับกัน มันเล่าผ่านผู้ถูกล่าอาณานิคม ผู้ถูกกดทับ ผู้ถูกทำลายล้างวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยตัวเอกของเรื่องคือ Karamakate ชนเผ่าในป่าแอมะซอนที่เลือกจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อไม่ให้ถูกกลืนกินโดยเหล่าคนขาว
แค่พล็อตเรื่องก็ฟังดูเอ็กโซติกแล้ว หนังเพิ่มความเก๋ไก๋เข้าไปอีกขั้นด้วยการแบ่งเนื้อเรื่องเป็นสองเส้นและเล่าสลับกันไปมา นั่นคือ Karamakate วัยหนุ่มกับชรา ทั้งสองช่วงชีวิตของเขาได้รับการติดต่อจากชาวตะวันตกด้วยจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือการพาไปหา Yakruna ต้นไม้ที่ลือกันว่ารักษาโรคได้ทุกชนิด
ตลอดเรื่อง Karamakate พร่ำด่าถึงความเลวร้ายป่าเถื่อนของพวกเจ้าอาณานิคม แต่หนังกลับไม่ถ่ายทอดไม่ให้เห็นตรงๆ (แม้แต่ฉากชาวโคลอมเบียบุกโจมตีคนพื้นเมือง หนังก็ไม่ถ่ายให้เห็นฝ่ายแรก) ทว่ามีฉากแสนเจ็บแสบเมื่อ Karamakate วัยหนุ่มไปเจอเกาะที่บาทหลวงผิวขาวบังคับเด็กพื้นเมืองให้นับถือคริสต์ เวลาผ่านไปหลายสิบปี ตาเฒ่า Karamakate ไปเยือนเกาะนั้นอีกครั้ง และพบว่ามันกลับกลายเป็นลัทธิบูชาพระเจ้าหลุดโลกไปแล้ว
อย่างไรก็ดี
วิกฤตของ Karamakate ไม่ได้เกิดจากภายนอกเท่านั้น
แต่มันเป็นวิกฤตภายในด้วย เมื่อแก่ชรา Karamakate ร่ำไห้ว่าเขาได้หลงลืมวิชาความรู้ต่างๆ
ไปหมด ด้วยความอยู่ตัวคนเดียวไม่มีใครสืบสานต่อองค์ความรู้
และยังไม่ทันจะคลี่คลายปมตรงนี้ หนังก็พาไปสู่บทสรุปสุดเหวอ
นั่นคือการนำพาเราไปหาพระเจ้า พากลับสู่จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง (สัญลักษณ์สำคัญของหนังคือเพลง The Creation ของ Haydn)
ต้องขอย้ำว่า Embrace
of the Serpent ไม่ใช่หนังดูยากแต่ประการใด เอาเข้าจริงแล้วมันคือ Indiana
Jones เวอร์ชั่นลุยป่าแอมะซอนนี่เอง
ถือเป็นรสชาติภาพยนตร์ที่แปลกใหม่ ท้าทายให้ลิ้มลอง
ตัวอย่างภาพยนตร์ Embrace of the Serpent
Embrace of the Serpent เข้าฉายแล้วในบางโรงภาพยนตร์ ติดตามรายละเอียดรอบการฉายได้ที่ facebook.com/HALfilm