ตัวเลขล่าสุดของปริมาณสารเคมีตกค้างในเลือดของคนไทยที่สูงถึง 36% น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจการกินอาหารที่ปลอดภัยมากกว่าเดิม สังเกตได้จากสินค้าและไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ที่มักต่อท้ายด้วยคำว่าเพื่อสุขภาพ แล้วอะไรที่ทำให้บริการส่งอาหารออร์แกนิกเจ้านี้โดดเด่นกว่าใคร ในยุคที่อาหารสุขภาพกำลังครองเมือง
สองทศวรรษที่ผ่านมา
อัตราการเติบโตของตลาดอาหารออร์แกนิกที่พุ่งสูงทะลุเพดานถึง 3,400% น่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการที่ผู้คนพยายามก้าวไปสู่สังคมสุขภาพ
เลิกเพิกเฉยต่อการมีอยู่ของอาหารปนเปื้อนสารเคมีที่ยึดครองพื้นที่ทั้งตลาดมาช้านานแล้วย้อนกลับไปสู่การเลือกกินอาหารที่มาจากผู้ผลิตรายย่อยแทน
เอ—กฤตยา สัณฑมาศ หนึ่งในเจ็ดผู้ร่วมก่อตั้งบริการส่งอาหารปิ่นโตออร์แกนิก Thank God It’s Organic เล่าว่าไม่นานมานี้ คนใกล้ตัวเริ่มเป็นโรคร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รู้ว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะอาหารที่เรากินเข้าไปทุกวัน แทบทุกอย่างปนเปื้อนด้วยสารเคมีตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง ทำให้เธอและเพื่อนๆ มารวมตัวกันหาวิธีที่จะได้กินอาหารที่สะอาดปลอดภัย และไหนๆ ก็ทำแล้วจึงขยับขยายไซส์หม้อข้าวหม้อแกงให้ใหญ่ขึ้นเป็นธุรกิจจริงจัง เพื่อแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้คนอื่นๆ ได้กินด้วยกัน
กฤษณ์ กันทะวงศ์
และ ปิ่น—สุนทรียา ปรียวนิตย์ เล่าว่า
พ่อครัวแม่ครัวที่นี่ต้องระดมสมองปรับวัตถุดิบในมือกันเป็นประจำ
เพราะพวกเขารับซื้อส่วนผสมและเครื่องปรุงทุกอย่างแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์เพื่อความสดใหม่
ไร้สารกันเสีย แม้จะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก
แต่กลับเป็นจุดสร้างความเซอร์ไพรส์ให้คนกินได้ทุกมื้อ
แถมยังช่วยลดต้นทุนการสต็อกวัตถุดิบได้เป็นอย่างดีจึงทำให้แทบไม่มีของเหลือทิ้ง
ในเมื่อทั้งกระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
ทุกคนจึงลงความเห็นว่า ควรเลือกใช้จักรยานนำปิ่นโตไปส่งตามบ้านทั่วกรุงเทพฯ
ก่อนเวลาอาหารกลางวัน และรับปิ่นโตสแตนเลสที่ใช้ซ้ำได้นาน ทนทาน
และเก็บความร้อนได้ดี
ส่วนของดีไซเนอร์อย่าง ต้อย—ฐมาพร วงศ์เอกชูตระกูล ก็พยายามหาหนทางนำปิ่นโตเหล่านี้เข้าไปหาไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ด้วยการทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจมีความร่วมสมัยเต็มไปด้วยกิมมิกน่าสนุกที่กวักมือเชิญชวนวัยรุ่นให้หันมาสนใจเรื่องอาหารการกินที่จะส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขาต่อไปในวันข้างหน้า
หลังจากตระเวนส่งปิ่นโตได้ราวสามเดือน
ผู้บริโภคได้ลองกินอาหารออร์แกนิกแท้ๆ
แล้วต่างตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ป่วยที่พิถีพิถันเรื่องอาหารมากกว่าคนทั่วไป
และคนที่ติดใจในรสชาติส่วนผสมที่สดใหม่
ทำให้เกิดเป็นบริการขายข้าวออร์แกนิกแบบส่งถึงบ้านด้วย
ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายต่อมื้อนั้น ต่าย—โรมสรัชญ์ ไล้สุวรรณ ยอมรับว่าราคาค่อนข้างสูงกว่าอาหารทั่วไปในท้องตลาด
แต่เมื่อเทียบกับความตั้งใจและคุณภาพที่ตรวจสอบได้แล้ว
ทุกคนก็มองว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล
เพราะไม่ว่าเราจะตักอะไรใส่ปากก็ล้วนแต่ต้องจ่ายอะไรบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยน
“ไม่ว่าเราจะเลือกอะไร ก็ต้องจ่ายเสมอ อาหารคุณภาพดีอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงขึ้น แต่อาหารราคาถูกก็อาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพของเรา”
พวกเขาย้ำว่า
ไม่ได้มุ่งหวังจะเป็นบริการส่งอาหารออร์แกนิกเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องการจะเป็นจุดรวมตัวคนรักสุขภาพที่ใส่ใจเรื่องของอาหารการกิน โดยวางแผนจัดกิจกรรมให้ความรู้
จัดทริปชวนคนเมืองไปรู้จักที่มาของอาหารและอีกหลายโครงการ
เพื่อให้เกิดวงจรที่เข้มแข็งของอาหารออร์แกนิกในประเทศไทยต่อไป
อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe